คืบหน้าถึงไหน 7 เรื่องจับโกง VS ทุจริตกระทรวงศึกษาธิการ
"กระทรวงของเราถือเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็ก เราต้องเป็นตัวแทนของความโปร่งใส ที่ผ่านมาเป็นปีที่เราจับทุจริตได้มากที่สุด และผมกล้ายืนยันว่าไม่มีการโกง มีแต่การจับโกง ซึ่งข้าราชการทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันเต็มที่ เรื่องนี้สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้"
2 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 126 ปี ของกระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันหนักแน่นในงานแถลงข่าวมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ตราบใดที่ผู้บริหารชุดนี้ยังอยู่ กระทรวงศึกษาธิการต้องสะอาดขึ้นอย่างแน่นอน
"กระทรวงของเราถือเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องไปสอนเด็ก เราต้องเป็นตัวแทนของความโปร่งใส ที่ผ่านมาเป็นปีที่เราจับทุจริตได้มากที่สุด และผมกล้ายืนยันว่าไม่มีการโกง มีแต่การจับโกง ซึ่งข้าราชการทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันเต็มที่ เรื่องนี้สามารถให้ความมั่นใจกับประชาชนได้"
สำหรับการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ ในส่วนของ ศธ. พบว่า มีเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งหมด 7 เรื่อง และแต่ละเรื่องคืบหน้าไปถึงไหนแล้วบ้าง
1.ทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต
นายอรรถพล ตรึกตรอง ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คาดว่า จะสามารถให้ข้อสรุปเบื้องต้นได้ก่อนช่วงสงกรานต์นี้ เพื่อนำไปสู่การสอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจาก คสช.กำหนดระยะเวลาไว้ไม่ให้เกิน 1 เดือน
ส่วนประเด็นคำถามจากสังคม นอกจากนางรจนา สินที ที่ถูกลงโทษทางวินัยไปแล้ว ยังมีใครเกี่ยวข้องอีกบ้าง ขณะนี้การสอบสวนยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยง แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ยังคงทำงาน คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้หากพบว่ามีมูลความผิดจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจจะต้องถูกย้ายออกจากตำแหน่งก่อน
และในวันที่ 5 เมษายนนี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องที่พ้นจากราชการแล้วเข้ามาให้ข้อมูล รวมถึงนางรจนาฯ ด้วย ส่วนผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องนั้น ให้ทำการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 4 เมษายนนี้
นอกจากนี้ มีประเด็นใหม่เพิ่มเติมคือ พบว่าปี 2547 มีความผิดปกติในการโอนเงิน 1 รายการ และปี 2548 พบความผิดปกติที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการโอนเงินเข้าบัญชีของนางรจนา สินที โอนเงินเข้าบัญชีผู้ที่มียศร้อยตำรวจตรี โอนเงินเข้าบัญชีวัด รวมถึงโอนเงินเข้าบัญชีผู้ที่มีคำนำหน้าว่านาง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ได้รับเงินจากกองทุนฯ โดยยอดรวมการทุจริตในปี 2548 อย่างไม่เป็นทางการ มีจำนวน 2,915,000 บาท ส่วนยอดรวมการทุจริตตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2561 มีทั้งสิ้น 110,343,227 บาท
2.โครงการ MOENet
ข้อสรุปกรณีโครงการ MOENet นพ.ธีระเกียรติ ขีดเส้นให้เสร็จสิ้นภายในวันพุธที่ 4 เม.ย.2561 จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ข้อสรุปไม่เกินสิ้นเดือนเมษายนนี้
3. โครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา
พบความผิดปกติใหญ่ ๆ 2 อย่างคือ
1) โครงการเริ่มต้นในปี 2550 และควรจะเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่มาเสร็จในปี 2557 โดยมีการต่อสัญญามาเรื่อย ๆ และมีการแก้ไขสัญญาอีก 6 ครั้ง รวมถึง 2) มีการเบิกเงินล่วงหน้า
คณะกรรมการสืบสวนฯ ยืนยันว่า ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงจะเสร็จสิ้นภายสัปดาห์นี้ จากนั้นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะดำเนินการต่อ ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม
สำหรับโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หลังจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น หากพบว่ามีมูลความผิดที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดำเนินการให้ออกจากราชการไว้ก่อน
4. ผอ.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเรียกรับสินบน
ความคืบหน้าขณะนี้ ประธานกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแจ้งให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ รับทราบแล้ว ผลการสอบเบื้องต้นพบว่าผิดวินัยร้ายแรงจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างเขียนผลสอบฯ อยู่ โดยเรื่องยังไม่ถึงคณะกรรมการศึกษาธิการกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ ของ คสช.กำหนดว่า หากมีมูลความผิดวินัยร้ายแรงจริง และเมื่อนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ รับทราบอย่างเป็นทางการแล้ว สามารถสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้ทันที เนื่องจากเป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยคณะกรรมการศึกษาธิการกรุงเทพมหานครจะมีการพิจารณาลงโทษวินัยร้ายแรงต่อไป
ขณะนี้มีกรณีทุจริตหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเงินอีกหลายเรื่อง ซึ่งในส่วนกลางมีการกรรมการสอบวินัยร้ายแรงไปแล้ว 41 ราย และมีกลุ่มที่ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรง 9 ราย คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะสรุปได้ว่าใครจะถูกให้ย้ายออกจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา สัปดาห์นี้จะมีการดำเนินการทั้งหมดและรายงานให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องทราบ และใช้อำนาจหน้าที่ของ ผอ.เขตฯ ดำเนินการตามมาตรการของ คสช.ต่อไป
5. การก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ หรือโดม 11 โรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะนี้มีการสอบสวนฯ บุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และได้ถูกย้ายออกไปจากพื้นที่แล้ว โดยคณะกรรมการที่เข้าไปสืบสวนฯ และสอบข้อเท็จจริงยืนยันตรงกันว่า จะทำตามมาตรการของ คสช.อย่างเคร่งครัด
6. โครงการกล้องวงจรปิดโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย
7. สกสค. ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเทด กรุ๊ป จำกัด
เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ฝ่ายเอกชนถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานร่วมกันใช้ตั๋วเงินปลอม ให้จำคุกคนละ 10 ปีและริบของกลางแล้ว เรื่องคดีอาญาจบหมดทุกเรื่องแล้ว ส่วนการลงโทษทางวินัยมีการไล่ออกไปหมดแล้วเช่นกัน
ด้านคดีแพ่งขณะนี้ สกสค. ได้ขอให้อัยการสูงสุดฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายอยู่ ตลอดจนมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซึ่งเมื่อสอบสวนฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการชี้มูลความผิดกรรมการทุกคน แต่ยังไม่ได้ระบุสัดส่วนที่ต้องชดใช้มา ทำให้ผลการสอบละเมิดยังไม่สมบูรณ์
ฉะนั้น ถือว่ากรณีบริษัท บิลเลี่ยนฯ จบสิ้นกระบวนการทุกอย่างแล้ว
ที่มาของข้อมูลhttp://www.moe.go.th