คป.ตร.ออกแถลงการณ์1ปีปฏิรูปยังเหลว ไร้ตรวจสอบ ไม่แก้ปัญหาปชช.
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจออกแถลงการณ์ 1 ปีปฏิรูปยังเหลว ค้านข้อเสนอคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจฯ ยังไม่ตอบโจทย์ประชาชน ยันทำตามข้อเสนอแนวทาง 8 ข้อที่ยื่นให้นายกฯ
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) หรือ Police Watch ออกแถลงการณ์ "ผลการตรวจการบ้าน 1 ปี ปฏิรูปตำรวจ เพิ่มอำนาจตำรวจ ไร้การตรวจสอบ ไม่แก้ปัญหาประชาชน" โดยมีข้อความดังนี้
ตามที่คณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ตามรัฐธรรมนูญที่มีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ ได้สรุปแนวทางปฏิรูปชี้แจงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันพุธที่ 28 มี.ค. 2561 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และได้สรุปรายงานการดำเนินการจำนวน 18 หน้า เสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการแล้วนั้น ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจและองค์กรแนวร่วม เห็นว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ยังไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชน เพราะเป็นเพียงการเพิ่มอำนาจตำรวจ ลดอำนาจประชาชน ยังขาดการปรับปรุงแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง การรวบอำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง ไม่กระจายอำนาจและบุคลากรไปยังระดับจังหวัด ท้องถิ่น และระดับสถานี ทั้งยัง “รวมศูนย์” ไม่ลดทอนสายการบังคับบัญชาจนเกิดความเทอะทะขององค์กร ขาดความเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ยึดหลักการการเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่มีกลไกการตรวจสอบที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังขาดความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน และความเสมอภาค ถือเป็นข้อเสนอการปฏิรูปที่ผิวเผิน มิได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนได้ประโยชน์แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันดังนี้
1. ด้านบริหารงานบุคคล วิธีแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่ตัดอำนาจ ก.ตช. โดยให้ ผบ.ตร. เสนอชื่อให้ ก.ตร.พิจารณาคัดเลือกนั้น เป็นการลดทอนอำนาจของประชาชนซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้ง ส่วนหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจระดับต่างๆ แม้จะมีบางส่วนที่ถือว่าก้าวหน้าขึ้น เช่น ให้คำนึงถึงอาวุโส แต่ก็เป็นเรื่องภายในที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรมต่อตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปอะไร
การปฏิรูประบบบริหารงานที่แท้จริงคือการกระจายอำนาจสู่จังหวัด หรือ การปรับโครงสร้างเป็นตำรวจจังหวัด ตามดำริของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกด้านในจังหวัดต้องมีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับการลงไปในจังหวัดได้เมื่อผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการจังหวัดหรือคณะกรรมการกิจการตำรวจจังหวัด ลดสายการบังคับบัญชาจากส่วนกลางที่ห่างไกลต่อสถานการณ์ปัญหา และเป็นภาระต่อตำรวจผู้ปฏิบัติในปัจจุบัน คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 รวมทั้งฝ่ายอำนวยการต่างๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณเฉพาะในส่วนนี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท และมีกำลังพลอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คนไปปฏิบัติหน้าที่ตามสถานีตำรวจ1,480แห่งทั่วประเทศ
ส่วนคณะกรรมการอิสระเพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) ยังมีจุดอ่อนที่หน่วยปฏิบัติและผู้ปฏิบัติยังคงเป็นข้าราชการสำนักงานจเรตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีความเป็นอิสระจากตำรวจในการที่จะสรุปหรือวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนให้เป็นไปตามพยานหลักฐานให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและตำรวจอย่างแท้จริง
2. ด้านอำนาจหน้าที่และภารกิจตำรวจ ยังไม่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในการให้โอนตำรวจ 11 หน่วยทั้งอำนาจหน้าที่ บุคลากร และงบประมาณ รวมทั้งอุปกรณ์ ในการปฏิบัติภารกิจนั้นๆไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเองทั้งหมด เพื่อทำให้งานรักษากฎหมายและการสอบสวนความผิดทางอาญาเฉพาะด้านมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มิใช่เป็นการโอนเฉพาะแต่ภารกิจเช่นที่งานตำรวจน้ำให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม แต่ไม่โอนเรือให้ และอ้างว่ากระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมนั้น เป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบ เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องแก้ปัญหาและข้อขัดข้องรัดสนับสนุนให้เกิดความพร้อมโดยเร็ว ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ 2547 ซึ่งผ่านมา 14 ปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
3. ด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มีแนวทางเพียงให้มีสายงานสอบสวนเช่นเดิมก่อนที่จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 7/ 2559 ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั้งหมดซึ่งทำให้เกิดความโกลาหลอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีการกำหนดหลักประกันความเป็นอิสระในการหน้าที่ตามกฎหมายโดยไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ เนื่องจากยังคงให้หัวหน้าสถานีตำรวจผู้ไม่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับงานสอบสวน รวมทั้งบางส่วนมาจากการซื้อตำแหน่งและมีพฤติกรรมทุจริตรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมและสั่งการ ทำให้สามารถใช้อำนาจบริหารเข้าแทรกแซงหรือแม้กระทั่งการ “สั่งด้วยวาจา” ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อหาประชาชนโดยปราศจากพยานหลักฐานหรือเกินจริง รวมทั้งการสอบสวนทำลายพยานหลักฐานเพื่อล้มคดีได้เช่นเดิม โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมโดยพนักงานอัยการตามหลักสากล เช่น กรณีปัญหาการสอบสวนคดีหวย 30 ล้าน และคดีอื่นๆ อีกที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับประชาชนอีกมากมาย
โดยสรุปแล้วไม่ได้แยกงานสอบสวนเป็นอิสระตามเสียงเรียกร้องของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ การอ้างว่าการแยกงานสืบสวนและสอบสวนออกจากกันส่งผลกระทบต่อพยานหลักฐานนั้นเป็นความเท็จ มีเจตนาสร้างความสับสนให้ประชาชน เพราะงานสืบสวนก่อนเกิดเหตุยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ส่วนการสืบสวนหลังเกิดเหตุนั้น ปัจจุบันพนักงานสอบสวนก็ทำหน้าที่สืบสวนด้วยตนเองได้อยู่แล้ว และหากแยกงานสอบสวนเป็นอิสระก็สามารถให้มีฝ่ายสืบสวนเสริมการปฏิบัติหน้าที่งานสอบสวนให้มีประสิทธิภาพได้ โดยให้หัวหน้างานสอบสวนหรือผู้กำกับการ(สอบสวน)มาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน จึงจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ เห็นว่าข้อสรุปรายงานการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่เสนอนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้เป็นการปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหาประชาชนแต่อย่างใด เป็นเพียงการปรับปรุงองค์กรภายในตามปกติเท่านั้น
ทั้งนี้ การปฏิรูปตำรวจถือเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องดำเนินการเพื่อเป็นการแก้ปัญหาร้ายแรงเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความสุจริตยุติธรรม การไม่รับคำร้องทุกข์จากประชาชนออกเลขคดีอาญาเข้าสาระบบราชการ การทุจริตประพฤติมิชอบรับส่วยสินบนจากอาชญากร รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างองค์กรตำรวจและงานสอบสวนให้สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชนเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ อย่างแท้จริง
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจยังคงยืนยันแนวทางการปฏิรูป 8 ข้อที่เครือข่ายประชาชน 102 องค์กร เคยยื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรี เมือวันที่ 5 ตุลาคม 2560 และเร่งดำเนินการให้เกิดความชัดเจนดังนี้
1. ยุบกองบัญชาการตำรวจภาค 1-9 เพื่อลดสายการบังคับบัญชาที่ซ้ำซ้อนสร้างปัญหาให้สถานีตำรวจ สามารถนำกำลังพลและงบประมาณไปจัดสรรให้สถานีตำรวจได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะทำให้การปฏิบัติงานตำรวจมีประสิทธิภาพคล่องตัวยิ่งขึ้น
2. โอนสำนักงานจเรตำรวจไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติไม่อยู่ในระบบยศเช่นเดียวกับทหาร มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในเรื่องร้องเรียนต่างๆ ด้วยความยุติธรรมอย่างแท้จริง
3. แยกงานนิติวิทยาศาสตร์และงานพิสูจน์หลักฐานและงานสอบสวนออกจากตำรวจ ให้เป็นสายงานเฉพาะ กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งให้ชัดเจน เช่น หัวหน้าหน่วยพิสูจน์หลักฐานต้องมีคุณวุฒิวิทยาศาสตร์บัณฑิต ส่วนพนักงานสอบสวนและหัวหน้าพนักงานสอบสวนทุกตำแหน่งต้องมีคุณวุฒินิติศาสตร์บัณฑิต
4. ให้อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีที่มีโทษจำคุกเกินห้าปี คดีสำคัญหรือคดีที่มีการร้องเรียนทุกคดี
5. การสอบสวนต้องกระทำในห้องที่จัดเฉพาะ มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลเรียกตรวจสอบได้เมื่อจำเป็นทุกคดี
6. ยกเลิกเงินรางวัลนำจับคดีจราจร และการสั่งปรับต้องกระทำโดยศาลเพื่อความยุติธรรมเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) หรือ Police Watch
1 เมษายน 2561