ผลโพลชี้คนไทย 41.01% ไม่รู้จักประชานิยมยั่งยืน มองไม่ต่างประชานิยม
'นิด้าโพล' เผยประชาชน 41.01% ไม่รู้จักไทยนิยมยั่งยืน 48.96% ระบุไม่แตกต่างจากประชานิยม ช่วยเหลือแค่เฉพาะหน้าไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ หวังรัฐใช้นโยบายพัฒนาความเป็นอยู่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ไทยนิยม ยั่งยืน VS ประชานิยม” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 – 29 มี.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และ ประชานิยม
การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling)เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.04 ระบุว่า ไม่เคยได้ยิน/ไม่รู้จัก รองลงมาร้อยละ 32.24 ระบุว่า รู้จักโครงการไทยนิยม ยั่งยืน และร้อยละ 26.72 ระบุว่า เคยได้ยินชื่อโครงการ แต่ไม่รู้ว่าทำเกี่ยวกับอะไร
ด้านความคาดหวังของประชาชนต่อสิ่งที่จะได้รับจากโครงการไทยนิยม ยั่งยืน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.08 ระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงอย่างยั่งยืน รองลงมา ร้อยละ 33.44 ระบุว่า ไม่คาดหวังอะไรกับโครงการนี้ ร้อยละ 11.44 ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียมตามความต้องการของประชาชนร้อยละ 9.20 ระบุว่า ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากปัญหาความยากจนได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.16 ระบุว่า สามารถแก้ไขได้ เพราะ เชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลว่าจะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และจะนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้ รองลงมา ร้อยละ 42.16 ระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุด แก้ได้เฉพาะคนกลุ่มน้อย ไม่สามารถแก้ไขในระยะยาวได้ อีกทั้งงบประมาณที่ได้ไม่ถึงประชาชนมีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้จริง ไม่เห็นเป็นรูปธรรม และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง 'โครงการไทยนิยม ยั่งยืน' กับ 'นโยบายประชานิยม' พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.96 ระบุว่า ไม่แตกต่าง เพราะ เป็นโครงการที่มีลักษณะและวิธีการแก้ไขปัญหาคล้ายคลึงกันคือทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเปลี่ยนจากนโยบายเป็นโครงการเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้าทั้ง 2 โครงการและไม่สามารถช่วยเหลือในระยะยาวได้จริง รองลงมา ร้อยละ 43.44 ระบุว่า แตกต่าง เพราะการบริหารงานและรายละเอียดของโครงการแตกต่างกัน โดยนโยบายประชานิยมเป็นการให้ความหวังกับประชาชนดูฉาบฉวยและเกิดประโยชน์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่โครงการไทยนิยม ยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนชนได้จริง เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และร้อยละ 7.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงพื้นที่พบปะประชาชนของนายก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ปี 2562 หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.48 ระบุว่า เป็นการหาเสียง เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายการหาเสียงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีการลงพื้นที่บ่อยเป็นการพบปะประชาชนช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อหวังคะแนนนิยมจากประชาชน และลงพื้นที่บ่อยเกินไป รองลงมา ร้อยละ 42.32 ระบุว่าไม่เป็นการหาเสียง เพราะ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว โดยมองว่ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนจริงๆ