คุกไทยมีไว้ขังคนจน VS กักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป
“ทำอย่างไรให้ผู้ต้องโทษปรับทุกคนต้องทราบสิทธิ์ ในกฎหมายอาญามาตรา 30/1 หากไม่มีเงินจ่าย ไม่จำเป็นต้องถูกขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 บอกว่า หากจำเลยไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องนำไปขัง ซึ่งต้องให้เขารู้ว่า มีมาตรา 30/1 ด้วย สามารถร้องขอต่อศาลได้”
คำกล่าวที่ว่า คุกไทยมีไว้ขังคนจน เรื่องจริงที่สังคมไทยมักได้ยิน ได้เห็น และเกิดขึ้นซ้ำรอยกันอยู่บ่อยๆ
เรื่องจริงอย่างกรณีขายซีดีถึงขั้นติดเข้าคุก โดยศาลฎีกาพิพากษาสั่งปรับ นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา ลูกจ้างชั่วคราวเก็บขยะประจำเขตสะพานสูง เป็นเงินจำนวน 133,400 บาท จากกรณีนำแผ่นซีดีหนังและเพลงเก่ามาเก่ามาขายโดยไม่มีใบอนุญาต ซึ่งต่อมาปรากฏว่า นายสุรัตน์ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ตามจำนวน จึงต้องกักขังแทนค่าปรับเป็นเวลาถึง 1 ปี แม้ต่อมาจะมีผู้ประสงค์ไม่ออกนามช่วยเหลือชำระค่าปรับให้ จึงทำให้ นายสุรัตน์ ได้รับการปล่อยตัวในที่สุด
ประเทศไทยไม่ควรเอาใครมาขังคุก เพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ แต่ทราบหรือไม่ว่า ตัวเลข ณ วันที่ 27 มีนาคม 2560 ของกรมราชทัณฑ์ มีจำนวนผู้ต้องกักขัง (ศาลสั่งลงโทษกักขัง และกักขังแทนค่าปรับ) รวมทั้งหมด 1,824 คน แบ่งเป็นชาย 1,681 คน หญิง 143 คน
ประเด็นนี้ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลไว้ในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ร่วมหาแนวทางส่งเสริมให้การบริการสาธารณะแทนการจ่ายค่าปรับมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม" ณ ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การที่คนจนไม่มีเงินประกันตัว ทำให้คนจนกว่า 66,000 คนต่อปี ต้องติดคุกก่อนศาลพิพากษา
ด้วยระบบกฎหมายไทย หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ก็ต้องกักขังแทนนั้น กรณีซีดีเถื่อนซึ่งมีโทษปรับสูงมาก ผศ.ดร.ปริญญา ให้มุมมองด้านนิติศาสตร์ว่า คุกเป็นเรื่องชั่วคราว ขอให้คิดว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งคนเหล่านี้ก็ต้องออกมา หลักจึงเป็นเรื่องชั่วคราว
"คุณแยกพวกเขาออกจากสังคมได้ช่วงเวลาเดียว และเขาควรกลับมาเป็นพลเมืองดี ดังนั้นการเอาคนไปขังคุก ก็ควรทำเท่าที่จำเป็น"
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญาแต่เดิมนั้น ถ้าผู้ต้องโทษปรับตามคำพิพากษาไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าปรับได้ เนื่องจากจำนวนเงินค่าปรับสูงเกินกว่ากำลังทรัพย์ เช่น หลายหมื่นบาท หลายแสนบาท ผู้ต้องโทษปรับคนนั้น ก็ต้องถูกกักขังแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 วรรค 1 ให้ถือ อัตราวันละ 500 บาท
นั่นหมายความว่า หากค่าปรับสูงเป็นแสนบาท อาจถูกกักขัง 1-2 ปี
อย่างไรก็ตาม ปี 2559 ก็ได้มีการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา โดยให้มีมาตรา 30/1 ให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องต่อศาล ขอทำงานบริการสังคม หรือบริการสาธารณะได้ แทนการจ่ายค่าปรับ
“ทำอย่างไรให้ผู้ต้องโทษปรับทุกคนต้องทราบสิทธิ์ ในกฎหมายอาญามาตรา 30/1 หากไม่มีเงินจ่าย ไม่จำเป็นต้องถูกขังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 บอกว่า หากจำเลยไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องนำไปขัง ซึ่งต้องให้เขารู้ว่า มีมาตรา 30/1 ด้วย ร้องขอต่อศาล”ผศ.ดร.ปริญญา ระบุ และว่า ด้วยศาลไม่ได้มีหน้าที่ต้องบอก ผู้ต้องโทษปรับเองต้องมีหน้าที่ขอ
หรือไม่อีกหนทางหนึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา เสนอว่า อาจมีการยกเลิกมาตรา 29 ไปเลย เปลี่ยนเป็นหากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ไปบริการสาธารณะ บริการสังคมแทนไป
เสนอโทษที่ 6 ป.อาญา
ส่วนในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 กำหนด โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน
ผศ.ดร.ปริญญา เสนอต่ออีกว่า ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 เพิ่มข้อ 6 บริการสังคม หรือบริการสาธารณะประโยชน์
"เราจะเห็นว่า หากเพิ่มข้อ 6 ไม่ได้ช่วยคนจนอย่างเดียวแล้ว คนรวย ซึ่งทำผิดไม่กลัวค่าปรับ ก็จะได้รับการดำเนินการอย่างเหมาะสมไปด้วย ฉะนั้น ผมเห็นว่า โทษอื่นต้องมี ไม่ควรมีแต่โทษจำคุก ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังกว่า 3 แสนคน คนล้นคุก มีสภาพแออัดทำให้บทบาทเรือนจำซึ่งควรทำหน้าที่เยียวยา กล่อมเกลาคนเหล่านั้น กลับทำได้น้อยลง เพราะจำนวนนักโทษล้น อีกทั้งการนำเอาคนติดคุกมาขังไว้มาก กลายเป็นสถานที่เรียนรู้พลเมืองร้าย เป็นที่แลกเปลี่ยนวิชาการ กลายเป็นอาชญากร นี่คือสภาพปัญหาปัจจุบัน”
ด้านนายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ มีมุมมองต่อคนที่ทำผิดกติกา ทำผิดกรอบ ประเพณี กฎหมาย ไม่ว่าคนจนหรือคนรวย แต่คนรวยมีออฟชั่นที่ดีกว่า
“คนที่ถูกศาลตัดสินปรับ ถือว่าเป็นโทษที่เบาที่สุด แต่ก็ยังพบปัญหาความเหลื่อมล้ำ คนรวยเล่นไพ่มีเงินจ่ายค่าปรับไม่ติดคุก คนจนเล่นไพ่ติดคุก ดังนั้นจึงมีกฎหมายอาญามาตรา 30/1 ขึ้นมา ไม่จำกัดวงเงินค่าปรับ ถือว่า เป็นการปลดล็อก”
ส่วนสาเหตุที่ยังมีผู้ต้องกักขังอยู่เยอะเต็มไปหมดนั้น รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ คาดว่า มาจากการไม่ทราบกฎหมาย
ขณะเดียวกัน การกักขังแทนค่าปรับจะหมดไปได้นั้น เขาเห็นว่า จำเป็นต้องแก้ทั้งองคาพยพ ขนาดแก้กฎหมายอาญามาตรา 30/1 ยังไม่เวิร์คเลย ต่อให้แก้อีกร้อยครั้งก็ไม่เวิร์ค เช่นเดียวกับคดีเมาแล้วขับ แก้กฎหมายให้แรงยังไงก็ไม่สามารถให้เมาแล้วขับหมดไปจากประเทศไทยได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึก
นายพยนต์ ชี้ว่า การทำบริการสาธารณะ บริการสังคม ก็เพื่อต้องการให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนจิตวิญญาณ ทำให้มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองเคยทำผิด ซึ่งในต่างประเทศ อย่างกรณีเอริค คันโตนา ตำนานกองหน้าแมนฯยูฯ กระโดดถีบแฟนบอล ที่อังกฤษบริการสังคมถือเป็นโทษประเภทหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อศาลสั่งให้เอริค คันโตนา บริการสังคม 200 ชั่วโมง หลังจากนั้นเอริค คันโตนา เปลี่ยนเป็นคนละคนเลย
“บริการสังคมมีอานิสงส์รุนแรง ไม่ใช่คนจนเท่านั้นที่ไม่ต้องติดคุก” นายพยนต์ แสดงความเห็น พร้อมกับยืนยันว่า ทุกประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ใช้บริการสังคม เป็นโทษชนิดหนึ่ง ก็เพื่อต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แทนจากการกักขัง
ก่อนเปรียบเทียบสรุปทิ้งท้ายถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยว่า ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่คือ ยาคีโม สำหรับพวกฮาร์ดคอร์ ซึ่งหากคนไข้แค่ปวดหัวตัวร้อน ใช้ยาพาราฯ (ชุมชน ตำรวจ) ก็พอ ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นศาล แต่ตอนนี้เราใช้คีโมเกือบทุกกรณี เล่นหวยก็คีโมขับรถประมาทก็คีโม ฆ่าคนตายก็คีโม (ตำรวจ อัยการ ศาล) กระบวนการยุติธรรมบ้านเราจึงสิ้นเปลืองมหาศาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ดร.ปริญญา ออกแคมเปญรณรงค์ รวมพลัง 2 หมื่นรายชื่อ หนุนให้ 'การกักขังแทนค่าปรับต้องหมดไป'
ที่มาภาพ:ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน