"สมชัย" ทำนายกกต.เดินตามก้นคสช.วันเลือกตั้ง ก่อนเจอคนแพ้ร้องต้องเป็นแพะรับบาป
อดีตกกต. เปิดคำทำนายที่ 7 เชื่อกกต.ต้องเดินตามก้นคสช.ปมกำหนดวันเลือกตั้ง ทั้งที่ตามรธน.กำหนดเป็นอำนาจของตัวเอง ขณะที่ปัญหารธน.ม268 จัดเลือกตั้งเสร็จ150วัน เชื่อทุกฝ่ายตีความหมายถึงแค่หย่อนบัตร หวังมี เวลาเตรียมตัวมากสุด แต่เสี่ยงถูกคนแพ้ร้องล้มเลือกตั้ง หวั่นสุดท้ายกกต.เป็นแพะรับทั้งแพ่ง-อาญาคนเดียว
วันนี้ (25มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. เปิดคำทำนายที่ 7 เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้หลังถูกคำสั่งคสช.ให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่กกต.นายสมชัยได้ระบุถึง6คำทำนายในอดีตขณะปฎิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งที่ทุกคำทำนายเกิดขึ้นจริง โดยนายสมชัย กล่าวว่า การจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 102 และ มาตรา 103ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้ประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส่วน กกต.เป็นคนกำหนดวันเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45 วัน หรือ 60 วัน โดย กกต.ต้องดำเนินการประกาศวันเลือกตั้งภายใน 5 วันหลังจากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง
มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ภายใน 150 วัน หลังจาก กม.ลูกสำคัญ 4 ฉบับ คือ พรป.ส.ส. พรป.ส.ว. พรป.พรรคการเมือง และ พรป.กกต. มีผลบังคับใช้ และ
ข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้ ครม. หารือ กกต. กรธ. ประธานสนช. และอาจเชิญพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเข้ารือกัน เพื่อให้มีข้อสรุปแจ้ง คสช.ให้แก้ไข คำสั่ง คสช.ทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้ง และ กำหนดแผนขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ซึ่งจากการอ้าง รัฐธรรมนูญและคำสั่ง คสช. ดังกล่าว ทำให้เห็นว่า มีประเด็นที่อาจเป็นปัญหาในอนาคตอย่างน้อยสองประการคือ 1ใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้ง และ 2.วันเลือกตั้งควรใช้เต็มกรอบ 150 วัน หรือ จะเผื่อการประกาศผล เนื่องจากไม่ชัดเจนในคำว่า “การจัดการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จ” คืออะไร
นายสมชัย กล่าวอีกว่า ในประเด็นใครเป็นผู้ประกาศวันเลือกตั้งเชื่อว่าในทางนิตินัย ครม.และ คสช.คงยอมถอย ให้ กกต.เป็นผู้ประกาศตาม กม. เพราะรัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าคำสั่ง คสช. แต่ในทางพฤตินัย คสช.คงใช้อำนาจเพื่อให้ กกต.ประกาศตามที่ตนต้องการ โดยอาศัยฉันทามติของการประชุมปรึกษาหารือตามข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560
" แต่การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วันเลือกตั้งวันใด แม้ในทางพฤตินัยมาจากความเห็นชอบร่วมทุกฝ่าย แต่ในทางนิตินัย หากเกิดความผิดพลาดจนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.จะเป็นผู้รับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้"
ส่วนปัญหาการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายถึงประกาศผลด้วยหรือไม่นั้น ในกรณีนี้ พรรคการเมืองที่มีความพร้อมน้อยกว่า ต้องการเวลาในการเตรียมพรรคและการหาเสียง สนง.กกต.ที่ต้องการเวลาที่มากที่สุดในการเตรียมการทางธุรการ รวมทั้งเจตนาในการเลือกตั้งของ ครม. คสช. และ สนช. ย่อมเป็นแรงผลักดันให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้กรอบเวลา 150วัน เพื่อการลงบัตรอย่างเดียว ไม่หมายรวมถึงการประกาศผลด้วย แต่หาก กกต.ต้องการความปลอดภัยในผลการตัดสินใจ กกต.อาจกำหนดวันเลือกตั้งใน เวลาประมาณ 90-100 วัน และเหลือเวลา 50-60 วันไว้เพื่อประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด
"คนแพ้ ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคนแพ้ที่แท้คือ กกต.หากกำหนดเลือกตั้งยืดตามกรอบ 150 วันเต็ม คนชนะเลือกตั้งคงไม่ทำอะไร แต่หากเป็นแพ้เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพล ฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลบอกไม่ผิดก็แล้วไป แต่หากศาลพิจารณาว่า การเลือกตั้งให้แล้วเสร็จคือต้องรวมประกาศผล การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นโมฆะ เงินจัดการเลือกตั้งเกือบ 5,000ล้านบาทต้องสูญเปล่า กกต.คงไม่อาจอ้างผลการปรึกษาหารือกับใครได้ เพราะการตัดสินประกาศวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ ทางอาญา คือ การตัดสินใจโดยประมาท ปราศจากความรอบคอบ ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ทางแพ่ง คือ ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง เกือบ ,5000 ล้านที่ กกต. 4 หรือ 7คนที่ร่วมกันชดใช้คำทำนายนี้ โปรดใช้วิจารณญาณในการรับฟัง ไม่ได้ขอให้ใครเชื่อครับ"
ที่มาข่าว:https://mgronline.com/politics/detail/9610000029554