พลังงานสะอาด ดูโมเดล ‘โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกของไทย’
นวัตกรรมด้านพลังงานทดแทนที่กำลังถูกลงเรื่อยๆ กับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในระดับนโยบายของชาติ ไปจนถึงภาคเอกชนในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับการกระแสโลกที่เปลี่ยนไป เอสซีจีคือหนึ่งในตัวอย่างของผู้เล่นหลักที่มองเห็นปละกระโจนลงสู่สนามในฐาน “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกของไทย”
หนึ่งใน Disruptive Technology หรือ เทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในวงการพลังงาน อย่างการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ถึงตอนนี้เราต้องยอมรับว่าโลกกำลังโบกมือลาการดึงเอาฟอสซิลใต้ดินที่สร้างมลพิษขึ้นมาใช้ แล้วหันไปดึงเอาพลังงงานที่ธรรมชาติจัดสรรให้ฟรีจากแสงอาทิตย์มากขึ้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เทรนด์เท่านั้น เพราะนี่คือแนวนโยบายหลักที่หลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียกำลังเปลี่ยนไป อย่างที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง ที่ประกาศไว้ในที่ประชุม อีโคโนมิค ฟอรั่ม เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าฝรั่งเศสจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนเต็มกำลัง
ขณะที่เมืองไทยเองการพูดคุยถึงเรื่องนี้ก็เป็นหัวข้อหลักใหญ่ๆ ทั้งในระดับเล็กๆ ระดับหน่วยงาน ไปจนถึงนโยบายระดับชาติ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้เคยพูดถึงทิศทางพลังงานของไทยว่า ขณะนี้กำลังถูกนวัตกรรม(Innovation) ยุคใหม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลายองค์กรสามารถปรับตัวได้แล้ว แต่ยังมีหลายองค์กรรัฐวิสาหกิจที่ยังไม่สามารถค้นพบทิศทางการบริหารงานใหม่ภายใต้กระแสนวัตกรรมที่กำลังมาแรงในขณะนี้ แน่นอนว่า หากปัจจุบันองค์กรใดไม่พัฒนาใช้นวัตกรรม จะทำให้ยึดติดกับพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น จนไม่สามารถทราบตัวตนที่แท้จริงขององค์กรและทิศทางการให้บริการในอนาคตได้
รวมถึงอัตราการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2560 ที่ผ่านมา พีคไฟฟ้าต่ำกว่าที่พยากรณ์ไว้ราว 2,000 เมกะวัตต์ และต่ำสุดในรอบ 7 ปีโดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อให้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ คือกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่เติบโตขึ้น
ปัจจุบันพบว่า การผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม IPS อยู่ที่ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
ถ้าจะให้พูดถึงการปรับตัว และสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวินาที องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง เอสซีจี คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นว่ าจะปรับนวัตกรรมที่จะ Disrupt ให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร
“เอสซีจี ต้องมองไปอนาคต ปัจจุบันโลกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือโลกกายภาพและ โลกดิจิทัล” นี่คือสิ่งที่ ชลณัฐญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวในวันที่บริษัทกำลังเดินไปสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
“จะเห็นได้ว่า ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปมาก จากแรงขับเคลื่อนดิจิทัล เรามองเห็นว่าพลังงานจากดวงอาทิตย์จะเป็นพลังงานในอนาคต การผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเป็นสิ่งที่ทุกคนมุ่งไปสู่”
กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ได้นำการวิจัยและพัฒนา (R&D) เป็นตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVA (High Value Added Products and Services) โดยการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง และการร่วมมือกับลูกค้าในเชิงลึกเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Eco-Innovation) ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันชั้นนำระดับโลก
บอสใหญ่เอสซีจี เคมิคอลส์ พูดถึงวิสัยทัศน์ในวันที่มิติหลายอย่างในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป แรงขับเคลื่อนของเอสซีจีเคมิคอลส์ นอกจากงาน ตัวหนึ่งคือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ่านนวัตกรรม ที่ทุ่มแรงใส่ไปในทุกปี ทั้งเงิน กำลังสมอง และเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2018 นี้ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ตั้งงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก โดยเรามีการวิจัยและพัฒนาที่หลากหลายทั้งนวัตกรรมพลาสติก และ Non-Petrochemicals เช่น การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรือ Floating Solar Farm ในรูปแบบโซลูชั่นครบวงจร เป็นรายแรกของประเทศไทย
แนวคิดนี้เริ่มจากการเล็งเห็นว่า พื้นที่ผิวน้ำในประเทศไทยมีประมาณ 14,600 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3 ของพื้นที่ประเทศ หากนำพื้นที่เหล่านี้มาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งโซลาร์ฟาร์มแบบลอยน้ำให้ประสิทธิภาพสูงกว่าการติดตั้งบนพื้นดิน และบนหลังคา เนื่องจากอาศัยธรรมชาติของน้ำในการระบายความร้อน (cooling effect)
การพัฒนาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ เป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยการนำเม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีนเกรดพิเศษมาออกแบบและพัฒนาเป็นทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ ซึ่งติดตั้งง่าย รวดเร็ว และ ประหยัดพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำชนิดอื่น ๆ
“คิดว่าเป็นไอเดียที่แปลกกว่าคนอื่น เราจะเห็นได้ว่า แผงโซลาร์ส่วนมากติดตั้งบนดินหรือไม่ก็บนหลังคา เราพยายามหาที่ว่า มาใช้ ซึ่งผิวน้ำ ก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่า ในการคิดค้นโปรเจ็คนี้ เป็นการรวมกับกันนวัตกรรมที่เรามี โดยแบ่งเป็นตัวแผงโซลาร์ที่หาซื้อได้ง่ายแล้ว ตัวที่เราเป็นเจ้าของภูมิปัญญา คือตัวโครงสร้าง ตัวทุ่น ใช้พลาสติกเกรดพิเศษ แน่นอนว่า เราเชี่ยวชาญอยู่เเล้ว โดยตัวทุ่นจะมีอายุ 25 ปี ขณะเดียวกันตัวแผงโซลาร์ก็มีอายุใช้งาน 25-30 ปี เรียกว่ามีอายุใกล้เคียงกัน ในการพัฒนาไม่ใช่อายุทุ่นหมดก่อนแผงไม่งั้นจะเสี่ยงต่อต้นทุน” ชลณัฐ อธิบายถึงแนวคิด
ในการพัฒนาตัวทุ่น ชลณัฐ เล่าว่าเป็นการพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์สภาพการใช้งานบนผิวน้ำที่หลากหลาย และต่อยอดไปสู่ธุรกิจโซลูชั่นแบบครบวงจรเป็นรายแรกในประเทศไทย โดยสามารถให้บริการตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิตทุ่น การติดตั้งและระบบยึดโยงตัวทุ่น ไปจนถึงการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรน้ำจากการระเหย และช่วยเพิ่มพื้นที่ผลิตพลังงานทดแทนให้กับประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ตัวทุนยังสามารถรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้อีก
วิวัฒนาการของแผงโซลาร์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ราคาลดมาเกือบ 100 เท่า จาก26 เหรียญสหรัฐฯต่อวัตต์ ตอนนี้เหลือ 37 เซนต์สหรัฐฯต่อวัตต์ สะท้อนให้ว่าเทคโนโลยีในช่วงเพียง 20 ปีพัฒนาไปมา ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลดลงอย่างมาก
แน่นอนว่า เอสซีจี ก็มองเห็นในจุดนี้
ชลณัฐ อธิบายต่อถึงต้นทุนการผลิตไฟจากโซลาร์ถูกว่าซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)แน่นอน ปกติซื้อไฟ 3.50 บาท แต่ผลิตเองจากโซลาร์ฟาร์มต้นทุนที่ 2.50 บาท ประหยัดค่าไฟฟ้า ที่ถูกลง 1 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ขณะเดียวกันไม่มีค่า FT เพราะตราบใดที่แสดงอาทิตย์ไม่ขึ้นราคา เราก็สามารถผลิตได้ยาวในราคาเท่าเดิม ทำให้เกิดการคุ้มทุนในระยะยาว
วันนี้ที่เราเห็นในอ่างน้ำของเอสซีจี ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นฟาร์มโซลาร์ลอยน้ำตัวทดลองขนาด 1 เมกกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับเพียง 1ส่วนต่อ200 เมกกะวัตต์กำลังไฟฟ้าที่เอสซีจี เคมิคอลส์ใช้ในพื้นที่โรงงาน ในส่วนงบลงทุนในพื้นที่ 1 เมกกะวัตต์อยู่ที่ 40 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะคืนทุนภายใน 8 ปี
ในส่วนการบำรุงรักษาที่ทางเอสซีจี ภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างมากโดยการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับความปลอดภัยในการทำงานโดยใช้ “โดรน” (Drone) บินสำรวจและตรวจสอบค่าความร้อนโดยสามารถบันทึกภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการทำงานของแผงโซลาร์ได้
นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ดำน้ำ (Underwater Visualizer Robot) เพื่อตรวจสอบทุ่นและโครงสร้างที่อยู่ใต้น้ำ
อย่างไรก็ตามความท้าทายที่ ชลณัฐ มองในเชิงนโยบายของรัฐ อันดับแรกเป็นเรื่องของ นวัตกรรม ที่รัฐบาลควรสนับสนุนนวัตกรรมคนไทย รวมถึงเรื่องส่งเสริมการลงทุน
ซึ่งบอสใหญ่เอสซีจี เผยว่าวันนี้เอสซีจีพร้อมแล้วที่พัฒนาก้าวไปสู่เชิงพาณิชย์