เด็กๆ ชายแดนใต้โชว์ทักษะ"โกอินเตอร์"
บรรยากาศการเรียนการสอนที่คึกคักสุดขีด รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่มาแบบจัดเต็ม แม้จะเป็นการเรียนต่อหน้าจอทีวีขนาดใหญ่ สลับกับเสียงแนะนำตัวและแนะนำหลักสูตรโดยใช้ภาษาอังกฤษของน้องๆ นักเรียนชั้นประถมศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ หลายคนได้ฟังแล้วนึกว่าเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ
เพราะ speak english กันปร๋อ และเต็มไปด้วยความมั่นใจ...
แต่จริงๆ แล้ว น้องๆ หนูๆ เหล่านี้กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร เป็น 1 ใน 9 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือเรียนกับ "เจ้าของภาษาตัวจริง" ผ่านทางออนไลน์
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 57 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับบริษัทเบรนคลาวด์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์ให้เด็กๆ ได้เรียน "ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน" กับคุณครูเจ้าของภาษาตัวจริง ที่เรียกว่า Native Speaker โดยเลือกโรงเรียนนำร่องจาก 9 เขตพื้นที่การศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขตฯละ 1 โรงเรียน รวม 9 โรงเรียน เน้นโรงเรียนที่ขาดแคลนบุคลากร เพื่อให้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย
1.โรงเรียนวัดราษฏร์สโมสร (ไพโรจน์วิทยา) อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส 2.โรงเรียนวัดหัวคลอง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 3.โรงเรียนอนุบาลระแงะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 4.โรงเรียนบ้านบางปลาหมอ อ.เมือง จ.ปัตตานี 5.โรงเรียนบ้านนาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี 6.โรงเรียนบ้านมะนังยง อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี 7.โรงเรียนบ้านท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา 8.โรงเรียนบ้านตะบิงติงงี อ.บันนังสตา จ.ยะลา และ 9.โรงเรียนบ้านใหม่ (วันครู 2503) อ.เบตง จ.ยะลา
รูปแบบการเรียนการสอน จะสอน 4 ชั่วโมงสัปดาห์ โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 4 กลุ่ม เรียนวันละ 4 ฐาน เวียนจนครบสัปดาห์ โดยแบ่งฐานตาม 4 ทักษะ คือ Listening (เรียนกับครูเจ้าของภาษาทางออนไลน์) Speaking (เรียนกับ tablets) Reading (เรียนกับ tablets) และ Writing (เรียนกับ tablets)
คุณครูนิอามีนา กอเสม ครูจ้างสอนโรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ทำให้เด็กๆ ตั้งใจเรียนและอยากมาโรงเรียน เพราะชอบเรียนวิชาภาษาอังกฤษ กล้าที่จะสื่อสาร กล้าแสดงออก และยังสนุกตื่นเต้นกับสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย รวมทั้งเทคนิคการสอนที่หลากหลายจากครูเจ้าของภาษาตัวจริง
คุณครูนิอามีนา บอกด้วยว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ มีมากขึ้น นักเรียนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น มีความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นยังทำให้นักเรียนแห่ย้ายเข้ามาเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนของรัฐเป็นจำนวนมาก จากเดิมที่พ่อแม่ผู้ปกครองนิยมให้เด็กออกไปเรียนโรงเรียนเอกชน เพราะเชื่อว่าสอนดีกว่า อย่างโรงเรียนบ้านหัวคลอง อ.ตากใบ เดิมมีนักเรียนแค่ 3 ห้องเรียน วันนี้ขยายเพิ่มเป็น 5 ห้องเรียน เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีเด็กนักเรียนในโครงการคว้ารางวัลเหรียญทองจากการแข่งขัน Story Telling ด้วย ทำให้ผู้ปกครองยิ่งมีความมั่นใจ และเชื่อว่าคะแนนสอบ "โอเน็ต" วิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนในโครงการจะพุ่งสูงแน่นอน
นี่คือความสำเร็จของโครงการดีๆ และความสามารถของน้องๆ ที่ชายแดนใต้ โดยทุกคนรวมทั้งคุณครูกำลังลุ้นให้มีโครงการนี้ต่อไป เพราะโครงการกำลังจะหมดสัญญาภายในปีนี้แล้ว...
ศักยภาพของคนและทรัพยากรในดินแดนแห่งนี้ยังมีอยู่เปี่ยมล้น ขึ้นอยู่กับว่าจะได้รับการผลักดัน สนับสนุน และพัฒนาอย่างถูกต้องถูกทาง จริงจัง และจริงใจแค่ไหน...เท่านั้นเอง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแนวใหม่ในโรงเรียนนำร่อง 9 แห่งที่ชายแดนใต้