ชุมชนบ้านมดตะนอย จ.ตรัง : ฝ่าฤดูมรสุม พลิกชีวิตประมงด้วย ‘บ้านปลาซิเมนต์’
“ช่วงหน้ามรสุม ชาวประมงไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิต หากจะออกไปหาปลาก็เป็นไปได้ยาก เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตเสียมากกว่า จนมีบ้านปลาปูนซิเมนต์เข้ามาวางใต้ทะเลให้ปลาได้อยู่อาศัย ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 200 – 300 บาทต่อท่อ ถือว่าช่วยให้ชาวประมงมีทางออก”
ชุมชนปลายน้ำบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ประสบปัญหาฤดูมรสุมช่วงเดือน พ.ค. ถึง พ.ย. ที่กินเวลายาวนานกว่า 7 เดือนต่อปี นำพาการขาดรายได้ในการดำรงชีวิตมายังชาวประมงริมลุ่มน้ำคลองลัดเจ้าไหม การออกหาปลาซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่ก่อให้เกิดรายได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวบ้านจึงต้องสานต่อการสร้างบ้านปลาอย่างมีประสิทธิภาพโดยนำนวัตกรรมปูนทนต่อการกัดกร่อนจากสารคลอไรด์และซัลเฟตมาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศริมชายฝั่ง
หากจะกล่าวถึงบ้านปลาปูนซีเมนต์หลายคนคงนึกไม่ออกว่ารูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร แต่ทางเอสซีจี ร่วมกับชาวบ้านพร้อมทีมสถานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หารือจนได้รูปแบบตามที่ต้องการและไม่กระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ นั่นคือรูปแบบท่อทรงกลม ขนาด 40 X 80 เซนติเมตร เซนติเมตร (ดูภาพประกอบ) เจาะรูด้านข้างเพื่อให้ปลาที่มีขนาดต่างๆ วิ่งเข้าออกไปมาเพื่อความเพลิดเพลิน ต้นทุนของแบบที่ใช้ในการหล่อบ้านปลาตกประมาณ 300 บาท น้ำหนัก 70 กว่ากิโลกรัม มีอายุยืนกว่ากว่า 20 – 30 ปี
“พลิกปูนซิเมนต์ สู่บ้านปะการัง”
นายวิทยา เทพทอง ผู้จัดการและบริการกระบี่ บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เล่าว่า การทำบ้านปูนซิเมนต์ให้ปลานั้นไม่ยาก ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆสามารถนำสูตรดังกล่าวไปใช้สร้างด้วยตนเองได้ โดยมีส่วนผสมของ ปูนมารีน 25 ก.ก.(ครึ่งถุง) หิน 75 ก.ก.(5 บุ้งกี๋) ทราย 75 ก.ก.(5 บุ้งกี๋) น้ำ 25 ลิตร(3 กระป๋อง) ส่วนขั้นตอนผสมคอนกรีตตามสัดส่วนที่กำหนดลงในกระบะพลาสติก เทคอนกรีตตามแบบหล่อ จากนั้นใช้เหล็กกระทุ้งพร้อมทั้งใช้ค้อนยางเคาะทั้งด้านในและด้านนอกโดยรอบ หลังจากหล่อคอนกรีตแล้ว 24 ชม.จึงทำการถอดแบบออก เพียงเท่านี้ก็จะได้บ้านปลาพร้อมปล่อยลงทะเล
นอกจากรูปแบบบ้านปลาท่อทรงกลม ยังมีการออกแบบด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ตามต้องการอีกด้วย
“ผ่านไปสามเดือน เกิดชุมชนปลาใหม่”
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังจากนำท่อไปปล่อยใต้คลองลัดเจ้าไหมสามเดือนแรก หลังจากทดลองวางบ้านปลาปูนซิเมนต์จำนวน 20 หลัง ลงไปเมื่อ ธ.ค. 2560 ชาวประมงพบเจอปลาเก๋าเป็นส่วนใหญ่ ปลาที่สามารถนำมาขายก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนบ้านมดตะนอย นอกเหนือจากนั้นเป็นปลาสิงโตและปลาแดง อาศัยอยู่ตามบ้านปลาปูนซิเมนต์เนื่องจากมีพวกเพลี้ย สาหร่ายทะเล และหอย ที่เป็นแหล่งอาหารมาเกาะจึงดึงดูดบรรดาปลาต่างๆ ได้ดี
ชาวบ้านจำนวนกว่า 300 ครัวเรือนต่างหันมาทำบ้านปลาปูนซีเมนต์ เพราะเชื่อว่าหากสร้างบ้านให้สัตว์ทะเลอยู่อาศัย สิ่งเหล่านั้นจะตอบแทนกลับมาในอนาคต ระบบนิเวศจะสมบูรณ์ เกิดช่องทำทำมาหากินและไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เนื่องจากเกิดการหมุนเวียนทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ปลาที่หายไปก็กลับมาให้เห็น ออกลูกออกหลานเป็นกลุ่มก้อน
“ช่วงหน้ามรสุม ชาวประมงไม่มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิต หากจะออกไปหาปลาก็เป็นไปได้ยาก เสี่ยงเป็นอันตรายต่อชีวิตเสียมากกว่า จนมีบ้านปลาปูนซีเมนต์เข้ามาวางใต้ทะเลให้ปลาได้อยู่อาศัย ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 200 – 300 บาทต่อท่อ ถือว่าช่วยให้ชาวประมงมีทางออก” นายปรีชา ชายทุย ชาวบ้านชุนชนบ้านมดตะนอย บอกเล่าให้ฟัง
ซึ่งภายในปี 2561 ทางเอสซีจี และชาวบ้านชุมชนบ้านมดตะนอยวางแผนจะสร้างบ้านปลา 400 หลังในครบตามเป้าหมาย เพื่อให้เป็นแหล่งอนุบาลและพักพิงของสัตว์น้ำนานาชนิด
นอกจากเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำแล้ว การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติริมชายฝั่งก็เป็นเรื่องที่ชาวชุมชนบ้านมดตะนอยให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จัดให้มีการเพาะพันธุ์ไม้ป่าชายเลนเพื่อปลูกทดแทนของเดิม ปลูกหญ้าทะเลเพื่อเป็นแหล่งอาหารของพะยูน และส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วม
โดยนำเศษถุงขนมของเด็กนักเรียน ใส่อัดรวมกันเข้าไปในขวดน้ำขนาด 1 ลิตร จนแน่น ใช้เสริมคอนกรีตเสริมอาคารได้เป็นอย่างดี
อีกหนึ่งสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ คือการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยการคัดแยะขยะในแต่ละประเภท ขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อ และขยะอันตราย และจะเห็นได้ว่าชาวบ้านนำอวนเหลือใช้ชำรุดจากการจับปลามาทำเป็น ‘อวนคัดแยกขยะ’
ทั้งหมดนี้เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนตั้งแต่ชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ องค์กรเอกชนเอสซีจี และภาคีอื่นๆ ร่วมกันพัฒนาชายฝั่งให้ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนชั่วลูกชั่วหลาน ตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 “จากภูผา สู่มหานที” ให้คงอยู่สืบไป