อ่านเกม "มารา ปาตานี" แถลงการณ์นี้เพื่ออะไร?
ปัญหาไฟใต้ดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ แม้จะมี "โต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข" ต่อเนื่องกันมา 2 รัฐบาลแล้วก็ตาม
เพราะล่าสุด "มารา ปาตานี" ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ได้ออกแถลงการณ์ที่อ้างว่าเพื่อความชัดเจนและป้องกันความสับสนเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุย โดยย้ำว่าข้อตกลงต่างๆ ที่หารือกันไว้กับคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยนั้น ยังไม่ได้เป็นข้อตกลงสุดท้าย เพราะยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะพูดคุยชุดใหญ่ และยังแสดงท่าทีคัดค้านนโยบายสำคัญของแม่ทัพภาคที่ 4 ทั้งโครงการพาคนกลับบ้าน และพื้นที่ปลอดภัย 14 อำเภอด้วย
แถลงการณ์ของ "มารา ปาตานี" เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มี.ค.61 และมีการนัดสื่อมวลชนไทยบางแขนงไปรายงานข่าว รวมทั้งสัมภาษณ์พิเศษ คาดว่าเป็นที่ประเทศมาเลเซีย
นายสุกรี ฮารี ตัวเเทนกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ร่วมในคณะพูดคุย และเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายมาราปาตานี ได้อ่านเเถลงการณ์ท่าทีของ "มารา ปาตานี" ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข สรุปเป็นประเด็นๆ ได้ว่า
1.ความก้าวหน้าและสิ่งที่จะดำเนินการอันสืบเนื่องจากกระบวนการพูดคุยนั้น ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะเป็นเพียงการพูดคุยในระดับ “คณะทำงานเทคนิค” ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะพูดคุยชุดใหญ่ของไทย
2.มารา ปาตานี พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่เกี่ยวกับ "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Right to Self Determination (RSD)
3.มารา ปาตานี เชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยคณะพูดคุยที่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะพัฒนาเป็น "วาระแห่งชาติ" แต่รู้สึกกังวลกับการทำงานของกองทัพภาคที่ 4 ที่ส่งผลต่อบรรยากาศและสวนทางกับการทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯทั้งสองฝ่าย
4.มารา ปาตานี เน้นว่า โครงการพาคนกลับบ้าน และการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย 14 อำเภอของแม่ทัพภาคที่ 4 ไม่เกี่ยวข้องกับการตกลงของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
ความหมายระหว่างบรรทัด...
นี่คือสาระสำคัญ 4 ข้อของแถลงการณ์ ซึ่งน่าจะสรุปและตีความได้ว่า เรื่อง "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก" ซึ่งฝ่ายไทยอ้างว่าบรรลุข้อตกลงกันแล้วนั้น ยังไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงขั้นเป็นข้อตกลงอันเป็นข้อยุติของคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย แต่การหารือยังอยู่เพียงขั้น "คณะทำงานเทคนิค" และยังไม่เห็นด้วยกับการทำงานของแม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน คือ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช ซึ่งชูโครงการ “พาคนกลับบ้าน” เป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ และปัจจุบัน พล.ท.ปิยวัฒน์ ก็ยังอยู่ในตำแหน่งแม่ทัพ ไม่ได้ถูกย้ายในวาระการแต่งตั้งนายทหารกลางปีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Right to Self Determination (RSD) นั้น หมายถึงการให้สิทธิ์แก่ "ดินแดนอาณานิคม" ในการกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเอง โดยสิทธิ์นี้ระบุอยู่ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธ.ค.1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" ซึ่งที่ผ่านมามีดินแดนอาณานิคมหลายแห่งขอทำประชามติเพื่อแยกตัวจากเจ้าอาณานิคมเป็นเอกราช เหตุนี้เองกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่พูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย จึงพยายามเรียกตัวเองว่า "ดินแดนอาณานิคม" และเรียกไทยว่า "เจ้าอาณานิคม" (เหมือนที่เคยใช้ว่า "นักล่าอาณานิคมสยาม") เพื่อหวังให้สอดคล้องกับ "สิทธิ์ RSD" นี้
ยื้อ-ลอยตัว-ชิงความได้เปรียบ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง วิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ของ "มารา ปาตานี" ต้องการให้กองทัพภาคที่ 4 ยุติโครงการ "พาคนกลับบ้าน" เพราะฝ่ายผู้เห็นต่างฯ หรือขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอาจกำลังเสียประโยชน์ หรือกระทบกับความแข็งแกร่งของขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐไทย
ส่วนการประกาศไม่ยอมรับ "พื้นที่ปลอดภัย 14 อำเภอ" ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพภาคที่ 4 เช่นกัน รวมทั้งพยายามเน้นว่าข้อตกลงที่มาจากโต๊ะพูดคุย ยังไม่ใช่ข้อยุตินั้น เหตุผลน่าจะเป็นเพราะ "มารา ปาตานี" จะไม่ยอมรับผิดชอบหากยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นใน "พื้นที่ปลอดภัยนำร่องอำเภอแรก" และอาจกำลังระแวงว่าคนของมาราฯ ที่จะส่งเข้ามาปฏิบัติงานใน "ศูนย์ประสานงาน" หรือ "เซฟเฮาส์" ที่กำลังจัดตั้งขึ้น เพื่อเดินหน้าทำงานเรื่อง "พื้นที่ปลอดัย" นั้น อาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองที่ดีพอ หรือยังมีความเสี่ยงอยู่ ขณะที่คณะพูดคุยฝ่ายไทยเองก็อาจไม่ยอมรับข้อเรียกร้องบางอย่างในประเด็นนี้ จึงทำให้ฝ่ายมารา ปาตานี แสดงท่าทียื้อการพูดคุย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ยังตั้งข้อสังเกตว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ออกมาหลังจากที่ พล.อ.อักษรา หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เพิ่งออกแถลงการณ์ซึ่งมีข้อความช่วงหนึ่งเขียนให้ตีความได้ว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยต่อสายพูดคุยและสนับสนุนทางลับกับผู้เห็นต่างจากรัฐที่นิยมความรุนแรง จนทำให้สถานการณ์บานปลาย ซึ่งข้อความนี้ หลายคนตีความว่าหมายถึงกองทัพภาคที่ 4 และจุดนี้เองที่ "มารา ปาตานี" อาจมองเห็นว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยกำลังขัดแย้งกัน และอยากให้มีการเปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
สำหรับท่าทีเปิดรับฟังเรื่อง "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" ที่ระบุในข้อ 2 ของแถลงการณ์นั้น ฝ่ายความมั่นคงมองว่า มารา ปาตานี ต้องการดึงภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ให้เข้ามามีบทบาท เพราะมีภาคประชาสังคมที่ "ผู้เห็นต่างฯ" จัดตั้งไว้แล้วหลายกลุ่ม ขณะที่ฝ่ายรัฐแทบไม่มีภาคประชาสังคมเลย หากมีเวทีเรื่อง "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" หรือเรื่องอื่นๆ ในบริบทใกล้เคียงกันขึ้นมา บทบาทของฝ่ายรัฐจะเสียเปรียบทันที (เหมือนกับเมื่อเร็วๆ นี้มีการเปิดเวทีเรื่องสิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง ที่ ม.อ.ปัตตานี)
สวนมาราฯ...เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า แถลงการณ์ของมารา ปาตานี น่าจะมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะบทบาทของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีหน้าที่สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อกับการทำงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ โดยมีกรอบงาน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1.สร้างความเข้าใจ ด้วยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนทั้ง 12 กลุ่ม เพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุข
2.รักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นการทำภารกิจปกติที่จะทำให้พื้นที่ปลอดภัย โดย กอ.รมน.ภาค 4 สน.รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลา รวมทั้งหมด 37 อำเภอ ก็ต้องทำพื้นที่ให้ปลอดภัย ที่ผ่านมาก็ทำได้ในระดับหนึ่ง มีหลายอำเภอที่ไม่เกิดเหตุ
"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคณะพูดคุยสันติสุข ในส่วนของโครงการพาคนกลับบ้านเราก็ทำมาตลอด ตั้งแต่ปี 55 นำคนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐเข้ามาร่วมพัฒนาชาติ สร้างพื้นที่ให้สงบ ส่วนคณะพูดคุยฯก็ทำไป เราก็ทำภารกิจปกติ" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
จากแถลงการณ์ของ "มารา ปาตานี" และท่าทีของหน่วยงานฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแถลงการณ์ของ พล.อ.อักษรา และบทบาทกับคำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ดูเหมือนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะเป็นได้เพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำให้สังคมไทยและสังคมโลกได้ตั้งความหวังเท่านั้น แต่ส่วนที่อยู่ใต้น้ำยังอิรุงตุงนังกันเละเลย
------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพการแถลงข่าวของมารา ปาตานี เป็นแฟ้มภาพของศูนย์ข่าวอิศรา
อ่านประกอบ :
ประชามติแยกดินแดน...จุดจบไฟใต้หรือฝันไกลที่ไปไม่ถึง?