กลุ่มต้านโกงผวา! ศอ.บต.ปัดฝุ่นโครงการสร้างสนามฟุตซอลฉาว
หลายคนคงยังจำกันได้กับประเด็นที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยรายงานเอาไว้ นั่นก็คือโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในชื่อโครงการ "1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล" ในความรับผิดชอบของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
โครงการนี้เป็น 1 ใน 4 โครงการของ ศอ.บต.ที่ถูกรัฐบาลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มี นายจิรชัย มูลทองโร่ย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและผลสัมฤทธิ์ของโครงการพัฒนาที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยคณะกรรมการตรวจสอบฯ แต่งตั้งโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)
ต่อมาคณะกรรมการฯ สรุปผลการตรวจสอบออกมาว่า โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล มีปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง กีฬาฟุตซอลเป็นกีฬาในร่ม แต่กลับไปก่อสร้างกลางแจ้ง ทำให้พื้นสนามพังหลายสิบแห่ง และไม่มีประชาชนเข้าไปเล่นกีฬา จึงเสนอให้ ศอ.บต.ไปแก้ไขเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป
คณะกรรมการตรวจสอบฯ ยังเสนอรองนายกรัฐมนตรีให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเชิงลึก เพื่อหาหลักฐานความไม่โปร่งใสในโครงการ โดยเฉพาะการกำหนดสเปคและจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากฟุตซอลเป็นกีฬาในร่ม แต่กลับไปก่อสร้างในสถานที่เปิดโล่งแทบทุกแห่ง อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้าตามมาแต่อย่างใด
คณะกรรมการตรวจสอบฯ เพิ่งสรุปผลรายงานรองนายกรัฐมนตรีไปเมื่อเดือน ก.ย.60 แต่ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน ผู้บริหาร ศอ.บต.ได้เตรียมปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาดำเนินการต่ออีกแล้ว
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ของ ศอ.บต.เอง อ้างถึงการประชุมของผู้บริหาร ศอ.บต.ท่านหนึ่งเมื่อวันที่ 9 ก.พ.61 เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยผู้บริหาร ศอ.บต.ระบุว่า โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับทางจังหวัดและในส่วนของท้องถิ่น เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาหลายปี ปีนี้ได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 5 โดยเป้าหมายคือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งได้มีการจัดการสร้างสนามกีฬาเพื่อให้เยาวชนได้มีพื้นที่ในการเล่นกีฬาฟุตซอล รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำ โดยการนำยางพารามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างสนามฟุตซอล
ในปีงบประมาณ 2561 ศอ.บต. มีแนวทางที่จะสร้างสนามฟุตซอลให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยการทำหลังคาเพื่อกันแดดกันฝน มีรั้วเพื่อป้องกันการใช้งานผิดประเภท และจะต้องมีไฟส่องสว่างเพื่อเพิ่มเวลาในการใช้งานให้เกิดความคุ้มค่า
นี่คือนโยบายของ ศอ.บต.ที่จะเดินหน้าโครงการในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป
สำหรับโครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอลของ ศอ.บต. เท่าที่ "ทีมข่าวอิศรา" เคยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ 3 ปีงบประมาณ ใช้ไปทั้งสิ้น 179 ล้านบาท สร้างไปราวๆ 150 สนาม แต่ถูกร้องเรียนจากชาวบ้านว่า หลายสนามไปแอบสร้างอยู่ในป่า ไม่มีคนไปใช้ กลายเป็นที่นอนของวัว พื้นสนามหลายแห่งก็พัง ชำรุดเสียหาย ใช้งานไม่ได้ หลายแห่งสร้างกลางแจ้ง ทั้งๆ ที่เป็นกีฬาในร่ม ฝนตกน้ำก็ท่วมสนาม ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่คนในพื้นที่วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
หลังจากข่าว ศอ.บต.เตรียมปัดฝุ่นเดินหน้าก่อสร้างสนามฟุตซอลถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่า ประธานศูนย์เบตงต้านโกง นายอัครเดช ยี่ตระกุล ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับการปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาดำเนินการใหม่ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต.เคยใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสนามฟุตซอล แต่ก็พังเสียหาย ใช้การไม่ได้ ยังไม่รวมงบโครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ จำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ไฟติดๆ ดับๆ ใช้งานไม่ได้เช่นกัน ซึ่งโครงการเหล่านี้ถือว่าไม่โปร่งใส แต่ ศอ.บต.ก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบใดๆ กับประชาชน
ฉะนั้นทาง "ศูนย์เบตงต้านโกง" จึงขอให้ ศอ.บต.ส่งเอกสารรายละเอียดการจัดทำโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในปีงบประมาณ 2561 ให้กับทางศูนย์ฯด้วย จะได้นำไปตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และ ศอ.บต.เองก็เคยประกาศนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น มีการแปรอักษร "ศอ.บต.โปร่งใส" ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลที่ จ.ยะลา จึงควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการ
"ทีมข่าวอิศรา" ได้ต่อสายพูดคุยกับ นายอัครเดช ประธานศูนย์เบตงต้านโกง ได้ความว่า ทางศูนย์ฯจะร่วมกับ ป.ป.ช.จังหวัดยะลา เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเฉพาะสถานที่ที่จะก่อสร้างสนามฟุตซอลว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และงบประมาณที่จะใช้ มีจำนวนเท่าใด คุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า เพราะการเลือกพื้นที่ก่อสร้างถือว่ามีความสำคัญ และส่งผลต่องบประมาณ เช่นไปก่อสร้างในพื้นที่ลุ่ม ก็ต้องเสียเงินค่าถมดินอีก เหล่านี้เป็นต้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สภาพสนามฟุตซอลในโครงการเดิมที่เคยชำรุดเสียหาย ใช้งานไม่ได้
2-3 หนังสือของศูนย์เบตงต้านโกงที่ทำถึงเลขาธิการ ศอ.บต.
อ่านประกอบ :
สรุปสอบ 4 โครงการฉาว ศอ.บต. "บกพร่อง-ไม่คุ้มภาษี" ยังไม่พบปมทุจริต
3 ปี 179 ล้าน...โครงการ 1 ตำบล 1 สนามฟุตซอล "พัง-ร้าง" อื้อ!
ฟุตซอลโคกโพธิ์ ปัตตานี...สนาม (ร้าง) 1 ล้าน หลังคา 3 ล้าน!
ศอ.บต.แจงสนามฟุตซอลชำรุด 20 แห่ง เหตุกีฬาในร่มแต่สร้างกลางแจ้ง!