จากกรณีเปิดโปงทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่ง สู่มาตรการปกป้องพยาน สร้างพลเมืองตื่นรู้ สู้โกง
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดสนทนา ชวนสังคมร่วมปกป้อง พลเมือง ตื่นรู้ สู้โกง เลขาธิการ ป.ป.ท. ย้ำสามมาตรการ ปราบปราม ป้องกัน คุ้มครอง ด้านอธิการบดีม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจพบคนไทยไม่ทนกับการโกงมากขึ้น ขณะที่เลขาฯ ACT มองสังคมต้องช่วยกันดูแลอุ้มชูคนเปิดโปง ส่วนผอ.สถาบันอิศรา แนะสร้างกลไกเข้าถึงข้อมูลเบิกจ่ายของรัฐได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนตื่นตัว ตรวจสอบทุจริต
จากกรณีการเปิดทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ผู้ยากไร้และผู้ป่วยเอดส์ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่นของเด็กสาวสองคน ที่เสมือนเป็นชนวนให้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบกองทุนดังกล่าวในพื้นที่อื่นๆ ที่ต่อมาพบลักษณะการทุจริตดังกล่าวลุกลามไปกว่า 49 จังหวัดทั่วประเทศนั้น
ถ้าพูดถึงชื่อ "ปณิดา ยศปัญญา หรือ แบม" นักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ณัฐกานต์ หมื่นพลหรือ เกมส์ อดีตลูกจ้างชั่วคราวศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จักพวกเธอ เพราะพวกเธอคือเด็กสาวสองคนที่ลุกขึ้นมาจุดชนวนดังกล่าว
ถึงวันนี้หลังจากที่ทั้งสองคนไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า ชีวิตของพวกเธอเป็นอย่างไร หลังจากออกมาเปิดเผยการทุจริตคอร์รัปชัน สวัสดิการการคุ้มครองได้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยในเวทีที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในห้วข้อ “ชวนสังคมร่วมปกป้อง พลเมืองตื่นรู้ สู้โกง” รวมไปถึงการพูดคุยกันในประเด็น “ร่วมปกป้องพลเมืองตื่นตัวรู้สู้โกง” ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลาย ภาคส่วน ได้แก่ พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
"ปณิดา ยศปัญญา หรือ แบม" เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาก่อนจะเดินทางไปร้องเรียนในเรื่องการทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยผู้ยากไร้นั้น พ่อแม่ ครอบครัวรู้มาตลอด ช่วงนั้นฝึกงานอยู่ก็มีการปรึกษาว่า ทำไมต้องทำให้เอกสารแบบนี้ ญาติถามว่า ได้ในเอกสารเซ็นต์ไปหรือไม่ ซึ่งครอบครัว มองว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สุดท้ายเมื่อบอกกับพ่อแม่ว่าจะไปร้องเรียน และทางบ้านก็เห็นด้วย เพราะดีกว่าให้ลูกติดคุก
“ถ้าเห็นสิ่งไม่ถูกต้องเราไม่ควรเพิกเฉย ไม่ว่าจะเป็นการโกงระดับสูง หรือเรื่องเล็กๆ น้อย เพราะอย่างไรก็ตาม ก็คือการโกงเหมือนกัน อยากให้ผู้ใหญ่ มองในเรื่องของการทุจริต เป็นเรื่องที่ไม่ดี เพราะเป็นตัวสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมาก และการที่เยาวชนรุ่นใหม่จะกล้า เมื่อร้องเรียนแล้ว ต้องมีการปกปิดชื่อคนร้องเรียน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ด้วย” นางสาวปณิดา แสดงความคิดเห็น
ขณะที่ทางด้าน ณัฐกานต์ หมื่นพล หรือเกมส์ หนึ่งในผู้ร้องเรียนเรื่องทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงขั้นตอนที่โดนสั่งให้ทำการลอกลายเซ็นต์และเขียนข้อมูลในแบบฟอร์ม ว่า เรื่องเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2560 ตอนนั้นเธอเป็นลูกจ้างชั่วคราว และด้วยความที่ไม่รู้ว่าเอกสารที่เขาให้ทำคืออะไร ก็ทำตามคำสั่งไป จนเริ่มคิดเมื่อเห็นว่า เอกสารที่ได้มาเป็นเอกสารเปล่าๆ ไม่มีข้อมูลอะไร โดยสั่งให้เธอกรอกเองทั้งหมด
“บางครั้งต้องนึกว่า ชาวบ้านอายุเท่านี้ ต้องมีลายเซ็นต์แบบไหน ต้องเขียนอธิบายไปเช่น ค่าดำรงชีพ เป็นโรคอะไร เป็นต้น ทั้งหมดกรอกเอง นึกเอง พร้อมเซ็นต์กับใบรับเงิน เซ็นต์สำเนาถูกต้อง วิธีการคือต้องส่องไฟ ใต้โต๊ะแก้วเพื่อคัดลอกลาย เอาเอกสารที่มีลายเซ็นมาส่องให้ขึ้นลายแล้วเซ็นต์ตาม” เกมส์อธิบายขั้นตอนในการปลอมแปลงเอกสารบนเวที
“ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าคือการโกง แต่ไม่โอเคกับสิ่งที่ทำ โดยในแต่ละครั้งจะต้องกรอกเอกสารพวกนี้ราวๆ 60-70 คน จนเลือกที่จะปฏิเสธ ว่าจะไม่ทำแล้ว ปรากฏว่าหลังจากปฏิเสธไป กลายเป็นว่า โดนแกล้งสารพัด ใส่ร้ายต่างๆ นานา”
ณัฐกานต์ เล่าอีกว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมถึงทำ เพราะที่อยู่ได้ก็เพราะผู้ใช้บริการ คนไร้ที่พึงเหล่านี้ ตอนโดนไล่ออก ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่า ไม่มีงบประมาณ สภาพจิตใจตอนที่ตกงาน ค่อนข้างวิตกกังวล สำหรับบางคนอาจเสียใจ แต่หากส่วนตัวคิดว่าถ้าสาเหตุที่เราทำ เป็นผลที่ต้องโดนไล่ออกจริง เราอาจเดือดร้อนคนเดียว แต่ถ้าการร้องเรียน เปิดโปงของเราสามารถช่วยชาวบ้านได้ 2,000 คนได้ เราก็ไม่ควรเดือดร้อนกับมัน
“ตอนแรกที่บ้านไม่รู้ ไม่อยากกวน เพราะที่บ้านมีภาระมาก และหลังจากรู้แล้ว เขาก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย ปัจจุบันมีคนดูแลตลอด ซึ่งก็เหมือนดาบสองคม สำหรับคนที่อยากเป็นแบบเรานั้นไม่ยาก แต่ต้องตั้งคำถามว่า เกิดมาทำเพื่อใคร อยู่เพื่อใคร และต้องการให้เป็นไปในทิศทางแบบไหน ถ้าเรามีคำตอบให้ตัวเอง มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ทำ” นางสาวณัฐกานต์ ถ่ายทอดให้เห็นมุมคิด
ทางด้าน พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวขอบคุณผู้ออกมาเปิดโปงเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ทำให้ ป.ป.ท. มีมิติในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเมื่อได้รับเรื่องกลางเดือน ตุลาคม 2560 รับจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทบ.ขอนแก่น ก็เริ่มส่งมีเจ้าหน้าที่ไปคุยกับเยาวชนทั้งสองคนที่บ้าน ขณะนั้นทำกันแบบเงียบๆ จนมาถึงกุมภาพันธ์ 2561 เราก็ตัดสินใจเปิดตัวเพราะตอนนั้นเริ่มออกสื่อบางแล้ว สั่งลุยทันที ตอนลุยคือข้อมูลพร้อมแล้ว มิติเมื่อมีการร้องเรียนแล้ว ต้องรวบรวมข้อมูลให้พร้อมแล้ว เราเอาคนเข้าสู่ระบบใต่สวนได้เร็วขึ้น
พันโทกรทิพย์ เล่าต่อถึงขั้นตอนเรื่องนี้ เริ่มแรกเป็นเรื่องเล็กๆ ทุจริตไม่กี่พันบาทต่อคน แต่เมื่อได้รับแล้ว ป.ป.ท.มองว่าน่าจะมีพฤติการณ์ทั่วประเทศ เป็นวงกว้างเลยขยาย 37 ศูนย์ทั่วประเทศ มิติในการปราบเร็วขึ้น เริ่มแรงขึ้น เอาคนเข้าสู่ระบบเร็ว ให้เกิดผลกระทบ เราตั้งเป้าถ้าดำเนินการตรวจสอบทั้ง 76 จังหวัด เรื่องนี้จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ต้องหาวิธีในการป้องกันการโกง ซึ่งต้องร่วมทำงาน ทั้งภาคราชการและเอกชน
“ในส่วนการคุ้มครองพยานปกติ พยานอยู่กับที่ แต่แบมต้องไปเรียนต่อที่มหาสารคาม เราต้องตามไปคุ้มครอง ไปพบปะผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ ทหาร คุยกับรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพื่อปกป้องผู้ร้องเรียน เป็นกลไก ปราบปราม ปกป้อง คุ้มครอง นายกรัฐมนตรีสั่งการกำชับให้ดูแลอย่างดี ถ้า 2 คนนั้นเป็นอะไร ราชการจะเสียหายเป็นอย่างมาก แต่มิติที่ยิ่งใหญ่คือการตื่นรู้ของประชาชน การลงพื้นที่ของป.ป.ท. พี่น้องเอาข้อมูลมาให้มากขึ้น อย่างที่ นครพนม ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไม่ยอม หลังจากโดนสั่งให้บอกว่า ได้รับเงินครบ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เป็นสิ่งที่น่ายินดี เราถามเขาว่า กลัวไหม ทำไมถึงกล้าทำ เขาบอกว่าสิ่งที่กลัวมากกว่าคือจะถูกข้อหาร่วมโกง ” พันโทกรทิพย์ ระบุ
ขณะที่ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจเรื่องคอร์รัปชัน ที่พบว่า 87% คนผู้ตอบแบบสอบถาม ยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน ขณะที่13% ไม่กล้า และ2% ยินดีแต่กลัว
นอกจากนี้ยังมีคำถามเชิงว่า ถ้ารัฐบาลมีผลงานโกงนิดหน่อยรับได้ไหม ถ้าดูในการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2553 พบว่า 53% รับได้ แต่ตอนนี้กลับมีเพียง 1% เท่านั้นที่รับได้
ซึ่งดัชนีในเรื่องนี้ รศ.ดร.เสาวณีย์ ยืนยันว่า ต้องทำให้เหลือศูนย์ให้ได้!! เพราะ “จิตสำนึกเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี”
รศ.ดร.เสาวณีย์ มองว่า ปัจจุบันมีคนกล้ามากขึ้น แต่เดิมคนไม่ได้รู้สึก เพราะคอร์รัปชันเป็นเรื่องไกลตัว ดังนั้นความพยายามในการเปิดโปง การปลูกจิตสำนึก จึงจำเป็นต้องเอาเรื่องค่าเสียหายที่จากการโกงมาเสนอ ทำให้เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเป็นเงินภาษี งบประมาณหมื่นล้านแสนล้าน ถ้าไม่โกง เราจะมีโรงเรียนที่ดีมากกว่านี้ ถนนจะดีมากกว่านี้
“การเชื่อมโยงว่าการโกงเป็นปัญหาของทุกคนในประเทศไทย เพื่อสร้างสำนึกในการต่อต้านคอร์รัปชัน และถ้าเราทำให้คนเชื่อมั่นว่ามีกลไกการปกป้องคนที่ออกมาเปิดโปง หมดความเป็นห่วง ต้องมีที่ยืนให้เขา เราต้องช่วยคุ้มครอง กรณีณัฐกานต์ ถ้าราชการสั่งให้ออกจากงานเพราะไม่มีงบจ้าง มหาวิทยาลัยหอการค้ายินดีที่จะรับเข้าทำงาน”
ส่วนการสร้างจิตสำนึก ไม่ใช่แค่ในระบบการศึกษา แต่ต้องมาจากครอบครัว พ่อแม่โกงหรือไม่ จ่ายส่วยตำรวจหรือไม่ วิ่งเต้นเเป๊ะเจี้ยะเข้าโรงเรียนหรือเปล่า รศ.ดร.เสาวณีย์ ชี้ว่า เรื่องแบบนี้ครอบครัวต้องบ่มมา กว่าจะมาถึงมหาวิทยาลัยก็ง่าย การทำปลูกจิตสำนึก ถ้าอยู่ข้างในแล้ว ยังไงก็ไม่หาย
ด้าน ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ผู้ซึ่งทำงานในฐานะสื่อมวลชนในการเปิดโปงการทุจริตของภาครัฐมาอย่างยาวนาน มองว่า ระบบการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ การคอร์รัปชัน
“การทำให้ชาวบ้านตื่นรู้สู้โกง ถามว่าชาวบ้านจะตื่นได้อย่างไร ถ้าไม่มีข้อมูล จิตสำนึกไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เราต้องรู้จักที่จะรักษาสิทธิของเราก่อน ถ้าเราไม่มีทางรู้ตรงนี้ ไม่ว่าสิทธิของเราคืออะไร เช่น เงินอุดหนุนคนยากไร้ ถ้าไม่รู้ว่าเราต้องได้เงิน เท่าไหร่ ก็ไม่เกิดการตรวจสอบ ดังนั้นวันนี้ถ้าเรายังทำกันแค่นี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากการไล่จับขโมย”
ผอ.สถาบันอิศรา เน้นย้ำถึงกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว ในเมื่อมีข้อมูลในระบบ ทำไมไม่เปิดเผยข้อมูล เบิกจ่ายแบบเรียลไทม์ ให้ทุกส่วนราชการจะต้องเปิดเผยข้อมูลการเงินบนเว็บไซต์ และรวมศูนย์ข้อมูลที่กรมบัญชีกลางอีกที เพื่อให้รู้ว่ากรมนี้เบิกเท่าไหร่ จ่ายเท่าไหร่
"ถ้านายกรัฐมนตรีจริงใจสั่งการเลย ประเทศไทยเรามีคนเก่งมหาศาลที่เขียนโปรแกรมได้ ทำให้เป็นรูปธรรม ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายก็ช่วยให้การตรวจสอบเกิดขึ้นได้ง่าย ป.ป.ท.ก็ทำงานง่ายขึ้น ไม่ต้องไปไล่จับขโมย ในพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ที่กำลังมีการปรับแก้ จะต้องระบุไปเลยว่า สิ่งที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนคือ กระบวนการเบิกจ่าย ต้องเปิดเผยสาธารณะ ให้ประชาชนตรวจสอบได้ ต้องเพิ่มข้อนี้” นายประสงค์ เสนอไว้บนเวที
ขณะเดียวกัน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ให้มุมมองต่อสถานการณ์คอร์รัปชัน ณ ปัจจุบัน คนตกใจว่าทำไมขุดไป เจอเต็มไปหมด จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ การมีข่าวตอนนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการทุจริตในระบบราชการเป็นมาทุกยุค ทุกสมัย ทุกกระทรวง เพียงแต่ที่ผ่านมาผู้หลักผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเปิดโปงเรื่องเหล่านี้ แต่พอมายุคนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลง คนไทยไม่ยอมแล้ว อีกอย่างคือมีเครื่องมือในมือ พบอะไรไม่ชอบมาพากลพูดเลย แชร์เลย
“เวลาคนพูดเรื่องมาแล้ว กฎหมายบ้านเราในการปกป้องประชาชนพอมี แต่ไม่ค่อยได้ใช้ ในเรื่องการปกป้อง คนที่เปิดโปงต้องได้รับ การดูแลมากขึ้น ต้องจัดให้ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ คนเหล่านี้เมื่อเปิดโปงคอร์รัปชันแล้ว จะเป็นอะไรไปไม่ได้ ไม่เช่นนั้น ราชการจะเดือดร้อน เหมือนอย่างที่ เลขาป.ป.ท.กล่าวไว้ เหนือสิ่งอื่นใด คนที่พร้อมจะเป็นปากเสียงให้ประชาชนมีจำนวนมาก ทำอย่างไรให้ทุกๆ คน ที่เปิดโปง ได้อยู่ในสายตาของประชาชนในการช่วยกันปกป้อง เขาทำให้สิ่งที่ถูกต้อง มหาวิทยาลัยต้องช่วยดูแล สังคมต้องช่วยกันจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ที่ประชาชนจะช่วยดูแลอุ้มชูประชาชน” ดร.มานะ กล่าวทิ้งท้าย.