วอนบิ๊กตู่ช่วยด้วย! ฉบับเต็มภาคีต้านคอร์รัปชัน ชำแหละอบจ.โคราชถลุงเงินสะสมทำถนนยาง440ล.
"...เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 วาระสำคัญคือ ขอจ่ายขาดเงินสะสม 440 ล้านบาท ใน 240 โครงการ ในการจัดทำถนน โดยอ้างนโยบายของรัฐบาลและต้องทำอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2561 เจตนาเพื่อจะได้มิต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทั้งที่หนังสือซักซ้อมกรมส่งเสริมการปกกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว2305 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 ก็ระบุชัดเจนว่าหลังพ้นวันที่ 20 เมษายน 2561 ก็ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นรายละเอียดในหนังสือภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นจังหวัดนครราชสีมา ฉบับเต็ม ที่ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สั่งการตรวจสอบกรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา อาศัยข้ออ้างนโยบายของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถนำเงินสะสมของอปท.ออกมาใช้จ่ายในกรณีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้ โดยเฉพาะการทำถนนที่กำหนดให้ใช้ส่วนผสมของยางพาราด้วย ในลักษณะเร่งรีบทำเรื่องขออนุมัติจ่ายเงินสะสมจำนวนกว่า 440 ล้านบาท หรือคิดเป็น100% ของเงินสะสมที่มีอยู่ทั้งหมด มาทำโครงการถนนยางพารา จำนวน 240 โครงการ พร้อมกันทันที
โดยมีการกำหนดมูลค่างานในโครงการให้มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาทจำนวนมาก เพื่อให้สามารถใช้วิธีการสอบราคาผู้รับเหมาได้ และเร่งรัดการดำเนินการจัดซื้อจ้างให้แล้ว เสร็จภายในวันที่ 20 เม.ย.2561 ทั้งที่ ตามนโยบายของกรมส่งเสริมฯ กำหนดว่าในช่วงหลังพ้นวันที่ 20 เม.ย.2561 ยังคงสามารถดำเนินการตามนโยบายเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างปกติที่กำหนดไว้ในระเบียบราชการ (อ่านประกอบ : อบจ.โคราช สบช่อง สถ. ปล่อยผีใช้เงินสะสมเกลี้ยงคลังซอยงบทำถนนยาง440ล.-จี้บิ๊กตู่สอบด่วน)
----------------
กราบเรียน พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นจังหวัดนครราชสีมา มีความห่วงใยต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งขณะนี้มีผลกระทบขยายวงกว้างลงไปสู่ชุมชนและคนยากไร้ หน่วยงานหนึ่งที่ถูกมองว่ามีการทุจริตมากที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
ขณะนี้มีการนำเงินสะสมของ อปท. ออกมาใช้โดยอ้างเป็นนโยบายของรัฐบาล และ คสช. เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง เงินสะสมเหล่านี้เป็นงบประมาณแผ่นดิน เงินภาษีของพี่น้องประชาชน เพื่อใช้ในการพัฒนาบ้านเมือง หากเงินเหล่านี้นำไปใช้อย่างคุ้มค่า ก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลและ คสช. คาดหวังไว้
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ อปท. ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร สาระสำคัญให้ อปท. นำเงินสะสมออกมาใช้ ในกรณีการทำโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนนให้ใช้ส่วนผสมของยางพารา โดยสามารถขอใช้มาตรฐานของกรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบทได้
กระทรวงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีหนังสือ ที่ นม 0023.3/6479 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2561 ถึงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ตามที่ร้องขอ จำนวน 240 โครงการ งบประมาณ 469,023,000 บาท ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าห่วงใย
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ได้มีการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 1 วาระสำคัญคือ ขอจ่ายขาดเงินสะสม 440 ล้านบาท ใน 240 โครงการ ในการจัดทำถนน โดยอ้างนโยบายของรัฐบาลและต้องทำอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2561 เจตนาเพื่อจะได้มิต้องดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทั้งที่ หนังสือซักซ้อมกรมส่งเสริมการปกกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว2305 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 ก็ระบุชัดเจนว่าหลังพ้นวันที่ 20 เมษายน 2561 ก็ยังสามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพาราได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. 2560
สภามีมติเอกฉันท์เห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมวงเงิน 440 ล้าน (เกือบ 100% ของเงินสะสม) ในจำนวน 240 โครงการ เป็นกรณีเร่งรีบอาจจะมีปัญหาในการสำรวจออกแบบข้อเท็จจริงในพื้นที่และความคุ้มค่าของโครงการ โดยมีการแบ่งโครงการเป็น 4 ขนาด ดังนี้
1) ขนาดวงเงินก่อสร้างถนนอัลฟาติกส์ 10 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ ประมาณ 1% ของโครงการ
2) ขนาดวงเงินก่อสร้างถนนอัลฟาติกส์ 2 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 15 โครงการ ประมาณ 6% ของโครงการ
3) ขนาดวงเงินก่อสร้างถนนอัลฟาติกส์ 5 แสนบาทขึ้นไป จำนวน 153 โครงการ ประมาณ 65% ของโครงการ
4) ขนาดวงเงินก่อสร้างถนนอัลฟาติกส์ ต่ำกว่า 5 แสนบาทลงมา จำนวน 70 โครงการ ประมาณ 28% ของโครงการ
รวม 440 ล้านบาท คิดเป็น 240 โครงการ
ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตจังหวัดนครราชสีมา มีความกังวลและห่วงใยการใช้งบประมาณดังกล่าวขององค์การบริหารส่วนจังหหวัดนครราชสีมา เนื่องจากเมื่อปี 2559 มีกรณีทุจริตขุดคลอง 11 โครงการ ที่ดำเนินการเบิกจ่ายโดยที่มิได้ทำงาน และตัวโครงการอื่น ๆ มีความซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจนโดยไม่ระบุพิกัด GPS และไม่มีคุณภาพในการดำเนินโครงการ
จึงขอตั้งข้อสังเกตเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบดังนี้
1) การอ้างนโยบายรัฐบาลเรื่องยางพารา เร่งรีบการจัดทำโครงการก่อสร้างถนนถึง 240 โครงการ ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบจากพื้นที่จริงหรือไม่ โดยเฉพาะพิกัด GPS เป็นถนนในความรับผิดชอบของ อบจ. หรือไม่อย่างใด จำนวนเท่าใด เป็นการแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนได้จริงหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะถนนที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
2) เหตุใดต้องเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2561 โดยเฉพาะโครงการที่มีวงเงิน 500,000 ถึง 2,000,000 มีจำนวนถึง 223 โครงการมูลค่าเกือบ 400 ล้านบาท หรือมีเจตนาหลีกเลี่ยงการดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พ.ศ. 2560 (e-building)
3) มีการนำหนังสือซักซ้อมการใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อแก้ไขปัญหายางพารา ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/ว 2305 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 มาใช้อย่างไม่ครบถ้วน มีเจตนาแบ่งซื้อแบ่งจ้างเพื่อใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคา ทำให้รัฐเสียหาย ถนนไม่มีคุณภาพและเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระหว่างตำบลต่อตำบลได้
4) การขอจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 440 ล้านบาท เกือบเป็น 100% ของเงินสะสมหากมีกรณีภัยพิบัติด้านอื่น ๆ อย่างรุนแรง จะแก้ปัญหาเช่นใด
5) ประการสุดท้าย การดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการพิจารณาจัดทำรูปแบบรายการรายละเอียดโครงการและนำเสนอสภาอนุมัติใช้เวลาดำเนินการประมาณ 7 วัน นับจากผู้ว่าฯ อนุมัติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 เข้าสภาวันที่ 16 มีนาคม 2561 จำนวน 240 โครงการจะมีคุณภาพหรือประสิทธิภาพตอบสนองนโยบายรัฐบาลและแก้ปัญหาพี่น้องประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นการเร่งรีบเพื่อเลี่ยงระเบียบต่อรองผลประโยชน์ หรือผลทางการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งเร็ว ๆ นี้
ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตจังหวัดนครราชสีมา ขอเรียกร้อง นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
1) ขอให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ ป.ป.ช. เข้าตรวจสอบกระบวนการจัดทำแผนรวมทั้งรูปแบบรายการ เหตุผลและความจำเป็นของการจัดทำโครงการ 240 โครงการโดยเร็วที่สุด เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นการป้องกันระยะที่ 1 ของการเริ่มต้นโครงการที่มีวงเงินสูงถึง 440 ล้านบาท
2) หากมีโครงการใดที่เป็นประโยชน์มีคุณลักษณะถูกต้องตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลขอให้ อบจ. จัดทำเอกสารเผยแพร่การดำเนินงานที่ตั้งโครงการที่ชัดเจนระบุพิกัด (GPS) ให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อร่วมกันตรวจสอบโครงการและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน
3) จัดทำป้ายที่คงทนถาวรระบุความรับผิดชอบของบริษัทและผู้คุมงานระยะเวลาการประกันและควรมีการเชิญหน่วยงานภายนอก เช่น มทส / มทร / หอการค้า หรือตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือผู้สนใจร่วมตรวจสอบโครงการดังกล่าวด้วย
ภาคีเครือข่ายต่อต้านทุจริตจังหวัดนครราชสีมา ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยจะติดตามการทำงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบว่า ดำเนินกการคุ้มค่าต่อภาษีของพี่น้องประชาชน หรือไม่ ต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
-----------------
ขณะที่ ในช่วงสายวันที่ 20 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร อบจ.โคราช ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
หากได้รับคำชี้แจงเป็นทางการ จะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป