ปริศนาเงินว่าจ้างงวดแรก125ล.ไปไหน? เบื้องลึกอควาเรียม1.4 พันล. สร้างสิบปีไม่เสร็จ(2)
"...ในการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับเหมางานโครงการนี้ มีกำหนดการจ่ายเงินว่าจ้างให้เอกชน ตามวงเงินงวดงาน โดยในช่วงงวดแรกกำหนดจ่ายเงินให้ประมาณ 15% แต่ปรากฎว่าหลังจากที่มีการจ่ายเงินให้ไปแล้ว งานก่อสร้างกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ไม่รู้ว่าเงินว่าจ้างถูกนำไปใช้จ่ายเรื่องอะไรกันแน่..."
ทำไมโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา (อควาเรียม) ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา ถึงใช้เวลาก่อสร้างยาวนานนับสิบปี ใช้งบประมาณไปกว่า 1.4 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันงานไม่เสร็จสักที
ทั้งที่ ข้อมูลการทำสัญญาว่าจ้างระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับ บริษัทไทคอนจำกัด ผู้รับเหมา ตามสัญญาเลขที่ 33/2550 จ้าง ที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 50 กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา วันที่ 23 ม.ค. 54 ระบุตัวเลขมูลค่าสัญญางานจ้างไว้แค่ 839,522,000 บาท เท่านั้น (อ่านประกอบ : คว้างานรัฐ2พันล.-สุพรรณฯเพียบ! เปิดตัว'ไทคอน'รับเหมาอควาเรียม1.4 พันล.สร้างสิบปีไม่เสร็จ(1))
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ต้นตอปัญหาสำคัญที่ทำให้โครงการนี้ประสบปัญหาความล่าช้า มาจากเรื่องการใช้จ่ายเงินในการดำเนินงานโครงการนี้
กล่าวคือ ในการว่าจ้างเอกชนเข้ามารับเหมางานโครงการนี้ มีกำหนดการจ่ายเงินว่าจ้างให้เอกชน ตามวงเงินงวดงาน โดยในช่วงงวดแรกกำหนดจ่ายเงินให้ประมาณ 15% แต่ปรากฎว่าหลังจากที่มีการจ่ายเงินให้ไปแล้ว งานก่อสร้างกลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ไม่รู้ว่าเงินว่าจ้างถูกนำไปใช้จ่ายเรื่องอะไรกันแน่
จนกระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาติดตามตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพบว่ามีปัญหาความล่าช้า และเร่งรัดให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ติดตามแก้ไขปัญหาโดยเร็ว แต่งานก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยผู้รับเหมาหยิบยกประเด็นเรื่องแบบก่อสร้างว่ามีปัญหา ไม่ชัดเจน ทั้งที่ ในความจริงแล้วแบบแปลนก่อสร้างที่ออกแบบไว้ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
"สำหรับวงเงินที่มีการจ่ายมัดจำงวดแรกไปในขณะนั้น อยู่ที่ตัวเลข 125 ล้านบาท ขณะที่การดำเนินงานในพื้นที่ มีเพียงแค่การนำเดินมาถม แต่ไม่มีการก่อสร้างอะไร ขณะที่ผู้รับเหมาอ้างว่า แบบก่อสร้างไม่ชัดเจน และยังมีการหยุดงานก่อสร้างไปด้วย" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลานั้น การดำเนินงานมีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นมาก แต่ที่เป็นปัญหาที่สุด คือความล่าช้าในขั้นตอนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะงานในส่วนของระบบควบคุมดูแลสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องของผู้รับเหมา ซึ่งในขณะนั้นมีความพยายามที่จะเสนอหาทางออกแก้ไขปัญหาด้วยการสลับงวดงานที่ต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมาก ในงวดงานหลังสัญญา ขึ้นมาทำแทนก่อน เพื่อจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้รับเหมา และงานจะได้มีความคืบหน้า แต่คณะกรรมการบริหารโครงการ ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย จนกระทั่งมาถึงยุคการบริหารงานของน.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีการสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการนี้โดยเร็ว
"ภายหลังจากที่น.ส.นริศรา ได้สั่งการเร่งรัดให้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีใครยืนยันได้ว่าขั้นตอนการเร่งรัดการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ปรากฎตามมาให้เห็น คือ มีสั่งเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารโครงการแบบยกชุด จากนั้นไม่นาน ก็มีการอนุมัติให้มีการสลับงวดงานที่ต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมาก ในช่วงหลังๆ ขึ้นมาทำก่อนได้ แต่หลังจากมีการสลับงวดงานแล้ว ปัญหาการก่อสร้างก็ยังเกิดขึ้นตามมาไม่รู้จบ เลยส่งผลทำให้การดำเนินงานโครงการนี้ มีความล่าช้า ไม่แล้วเสร็จ และมีการอนุมัติเติมเงินงบประมาณลงไปเพิ่มเติมอีกจำนวนมากด้วย" แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อมูลดังกล่าว ในช่วงบ่ายวันที่ 20 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้เดินทางไปติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัท ไทคอนจำกัด ตามที่อยู่เลขที่ 25 ซอยรามคำแหง 2 ซอย 23 แยก 4 ถนนรามคำแหง แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร พบว่าที่อยู่ในบริเวณส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่อยู่อาศัย สอบถามผู้พักอาศัยย่านนั้นไม่มีใครเคยรู้จักหรือได้ยินชื่อบริษัท
เบื้องต้น จึงได้พยายามติดต่อผู้บริหาร บริษัทไทคอนจำกัด ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ 0-2182-0355-8 ระบบเสียงตอบรับอัตโนมัติแจ้งว่าเป็นบริษัทไทคอนฯ แต่ไม่มีผู้รับสาย
จากการตรวจสอบพบว่า เบอร์โทรศัพท์ดังกล่าว เป็นเบอร์โทรศัพท์เดียวกับที่บริษัทฯ แจ้งไว้ในเว็บไซต์ประกาศรับสมัครงาน พร้อมแจ้งที่อยู่เลขที่ 1588/8 หมู่บ้านกลางกรุง แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร เอาไว้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้เดินทางไปติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารตามที่อยู่ดังกล่าว เมื่อเดินทางไปถึงที่อยู่ดังกล่าว พบว่า มีสภาพเป็นอาคารพาณิชย์
ได้รับแจ้งจากคนในสนง.ว่า ที่อยู่แห่งนี่ เป็นที่ตั้งของสนง.บริษัทที่ทำหน้าที่ในด้านธุรการและการวางบิลให้กับบริษัทไทคอนเท่านั้น แต่ไม่มีผู้บริหารระดับสูง หรือมีใครสามารถชี้แจงข้อมูลเรื่องอควาเรียมจ.สงขลา ได้
"พนักงานที่ประจำอยู่ที่สำนักงานไม่มีพนักงานระดับบริหารอยู่เลย มีแค่พนักงานส่งเอกสาร พนักงานด้านธุรการ และพนักงานที่รับผิดชอบด้านบัญชี โดยแต่ละคนยังไม่มีใครมีอายุงานเกิน 1 เดือน"
เมื่อถามว่าจะติดต่อผู้บริหารบริษัทได้ช่องทางไหนบ้าง จะให้เดินทางไปที่อยู่อีกแห่ง คือ เลขที่ 25 ซอยรามคำแหง 2 ซอย 23 แยก 4 ถนนรามคำแหง แขวงดอกไม้ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร อีกแห่งที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่
พนักงานรายหนึ่งแจ้งว่า การทำงานของบริษัทนั้นผู้บริหารองค์กร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างไม่ได้เดินทางเข้ามาที่บริษัทเลย จะประจำอยู่แค่ไซต์งานที่รับผิดชอบเท่านั้น ในส่วนของการติดต่อกับฝ่ายผู้บริหารระดับองค์กร พนักงานที่ประจำสำนักงานจะไม่สามารถติดต่อไปยังฝ่ายบริหารได้เลย จะมีแค่ทางฝ่ายบริหารที่ติดต่อกลับมายังพนักงานที่สำนักงานได้เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น โดยจะมีช่วงเวลาที่เลขานุการฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายกรรมการบริหารเข้ามาที่สำนักงานเพื่อตรวจสอบการทำงานของพนักงานและรับทราบรายงานต่างๆ รวมไปถึงการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ด้วย
พนักงานรายนี้ ระบุทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดี หากฝ่ายเลขานุการหรือผู้บริหารเข้ามาที่บริษัทฯ เมื่อไร จะนำเรื่องเรียนเสนอ และติดต่อกลับมาแจ้งผลว่าจะให้สัมภาษณ์หรือไม่ อีกครั้ง