ทำความรู้จักอาสาสมัครคุมประพฤติ 25 ปี กับการทำงานปิดทองหลังพระ
ทำความรู้จักอาสาสมัครประพฤติ เชิดชูเกียรติ คนทำงานปิดทองหลังพระ ที่ตลอด 25 ปี ช่วยเจ้าหน้าที่รัฐปกป้องปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำในชุมชน สร้างงานอาชีพ ดึงอดีตผู้กระทำผิดออกจากวังวนเดิม ๆ
หากพูดถึง อาสาสมัครคุมประพฤติ เชื่อว่าหลายคนอาจยังไม่รู้จัก หรือแม้จะเคยได้ยินชื่อบ้าง แต่ไม่ได้สนใจเท่าไหร่นัก
โครงการอาสาสมัครคุมประพฤติ ภายใต้ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า สังคมควรมีระบบกลไกในการป้องกันตนเองจากปัญหาอาชญากรรมและการกระทำผิดซ้ำ นอกเหนือไปจากระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งพบว่าวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ได้ผลดี คือการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากอาชญากรรมและสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในทุกระดับ
ไม่มีใครเข้าใจปัญหาได้ดีเท่ากับคนในชุมชน
นายมณฑล แก้วเก่า รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นประชาชนที่อยู่ในชุมชน มีความผูกพันอยู่กับพื้นที่ บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้ ความเข้าใจสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเวลาเกิดอาชญากรรมหรือมีปัญหาผู้กระทำผิดในชุมชน คนเหล่านี้มีส่วนรับรู้และร่วมแก้ไขปัญหานั้น
โครงการอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นโครงการที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2529 มุ่งหวังว่าจะให้คนในชุมชนมาช่วยแก้ไขปัญหา เพราะว่าไม่มีใครรู้ดีเท่ากับพวกเขา
เมื่อกำหนดเป็นโครงการ กระทรวงยุติธรรมจะจัดให้มีการอบรม โดยมีการกำหนดรายละเอียดผู้ที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจ มีความเสียสละ พร้อมที่จะอุทิศตนให้สังคม และให้สำนักงานคุมประพฤติที่อยู่ในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการหาและคัดเลือกคน จากนั้นทางกระทรวงยุติธรรมจะฝึกอบรมเพื่อให้มีความรู้เรื่องของกฎหมาย แนวทางการดำเนินงาน องค์ความรู้เรื่องการเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาชุมชน
เมื่ออบรมเสร็จก็จะมาเป็นผู้ช่วยพนักงานในการทำหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่จะดูแลผู้กระทำผิดจะให้อาสาสมัครคุมประพฤติเข้าไปช่วยเหลือดูแล เป็นการทำหน้าที่แทนแต่ทำงานคู่กันไปกับพนักงานคุมประพฤติ
เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับผู้กระทำผิด
สาเหตุที่ต้องมีอาสาสมัครคุมประพฤตินั้น รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า เมื่อเทียบจำนวนพนักงานคุมประพฤติกับจำนวนคดีที่มีผู้กระทำผิดในชุมชนแล้วพบว่า มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ส่วนมากจะเป็นคดีอาญาที่ศาลให้โอกาสรอลงอาญาหรือพักโทษ จึงมีการกำหนดให้คุมความประพฤติในชุมชน โดยให้ปฎิบัติตามเงื่อนไข ไม่ดำเนินกระทำผิดซ้ำ และต้องมารายงานตัวเพื่อให้พนักงานคุมประพฤติช่วยเหลือแนะนำ ให้คำปรึกษากรณีที่มีปัญหา
“อย่างกรณีมีปัญหาเรื่องครอบครัวก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวกับครอบครัวไปดูแล กรณีที่ไม่มีงานทำเราก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะช่วยเรื่องการหางาน กรณีมีปัญหาเรื่องการศึกษาเราจะประสานไปยังสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาส ในขณะเดียวกันก็จะมีอาสาสมัครในพื้นที่เข้าไปช่วย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ เพื่อดูแลคนในชุมชน ซึ่งจะมีความใกล้ชิดและได้ข้อมูล”
เชิดชูเกียรติเพื่อเป็นกำลังใจ
รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาสาสมัครคุมประพฤติมีจำนวนเพิ่มขึ้น ล่าสุดมีอาสาสมัคร 23,103 คน บุคคลเหล่านี้จะกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้เสนอคณะรัฐมนตรีขอให้มีวันอาสาสมัครคุมประพฤติ และเห็นชอบว่าวันที่ 16 มีนาคมของทุกปีให้เป็นวันอาสาสมัครคุมประพฤติ เพื่อให้อาสาสมัครได้มีโอกาสพบเจอกัน เรียนรู้เรื่องของงาน ในขณะเดียวกันกระทรวงยุติธรรมถือโอกาสจัดโครงการเชิดชูเกียรติคนเหล่านี้
“ส่วนการมอบรางวัลจะมีมอบให้เช่นนี้ทุกปี กระทรวงยุติธรรมเห็นว่า บุคคลเหล่านี้มีความเสียสละ เราก็เลยให้มีการมอบรางวัล แยกออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นดิเรกคุณาภรณ์ ประเภทอาสาสมัครคุมประพฤติดีเด่น และประเภทอาสาสมัครที่ปฎิบัติงานมาเป็นเวลา 25 ปี เพราะเขาเสียสละเวลา กำลังทรัพย์ กำลังกาย กำลังใจในการช่วยดูแล เราจำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เขาได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง มีกำลังใจในการทำหน้าที่” รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าว
ด้านสถิตย์ เกษณียบุตร ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ นักจัดรายการวิทยุ และอาสาสมัครคุมประพฤติ จ.ราชบุรี หนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัลใบประกาศเกียรติคุณ อาสาสมัครที่ปฎิบัติงานมาเป็นเวลา 25 ปี เล่าถึงการทำหน้าที่อาสาสมัครของกรมราชทัณฑ์มายาวนานถึง 30 กว่าปี ก่อนที่งานอาสาสมัครจะย้ายมาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือดูแลผู้ต้องขังที่ได้ลดวันอภัยโทษและผู้ที่มารับการอบรม โดยจะทำงานอาสาสมัครเดือนละหนึ่งครั้ง
“ได้รางวัลแล้วก็จะทำไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้” สถิตย์ บอกถึงความตั้งใจ
ลำเจียกบุรณศิริอาสาสมัครคุมประพฤติจากจ.ราชบุรี
ร้อยละ 80 ของผู้กระทำผิดคือคดียาเสพติด
“ก็ภาคภูมิใจตรงที่ไม่มีเงินเดือนนี่แหละ ได้ช่วยเหลือสังคม” ลำเจียก บุรณศิริ อาสาสมัครคุมประพฤติ จาก จ.ราชบุรี วัย 70 ปี และยังสวมหมวกการเป็นอาสาสมัครอีกหลายโครงการ
เธอเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า ได้เข้ารับการอบรมอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นรุ่นแรกๆ หน้าที่ที่เธอทำคือทุกเดือนจะมีผู้ถูกคุมขังมารายงานตัว อาสาสมัครต้องไปรับเรื่องรายงานตัว ติดตามผล สอดส่องตามบ้านและชุมชนที่มีปัญหา รวมทั้งอบรมฟื้นฟูแก้ไชไม่ให้ผู้คุมขังกลับไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งทางสำนักคุมประพฤติจะส่งเรื่องมาให้ดำเนินการ ถ้าผู้คุมขังไม่มารายงานตัวตามที่ศาลกำหนด อาสาสมัครต้องติดตามให้มารายงานตัว
ลำเจียก เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เธอทำงานเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติมาหลายปี คดีที่ได้รับมอบหมายมาจากกรมคุมประพฤติ ร้อยละ 80 เป็นเรื่องยาเสพติด นอกนั้นจะเป็นคดีมโนสาเร่ เช่น ลักขโมย เมาแล้วขับ พบสารเสพติด ปัสสาวะเป็นสีม่วง พร้อมกับเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาสังคม โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์ซิ่ง กลุ่มคนใช้แรงงาน บางทีเป็นพ่อค้าไอศกรีม ซึ่งอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะตามจับหรือไม่จับ
เธอมองว่า ตัวอาสาสมัคร คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
“กลุ่มที่เราต้องไปสอดส่องดูแลนั้น เวลาสืบประวัติห้ามบอกว่า ไม่มีงานทำ ต้องบอกว่ามีงานทำ ถ้ารับจ้างทั่วๆไป เราต้องเจาะไปด้วยว่ารับจ้างอะไร มีใครอุปถัมภ์ไหม ต้องสืบประวัติอย่างละเอียด ต้องถามให้ลึกไม่ใช่ถามลอยๆ ถ้าไม่ไปรายงานตัว ไม่ไปเพราะอะไร บ้างก็บอกไม่มีเงิน ถ้าไม่มีก็ไปขอได้ ได้ครั้งละ 200 บาท ถ้าไม่มีงานทำจะถูกจับส่งคุมประพฤติอีก อีกทั้งเรายังมีการฝึกอาชีพให้ มีการให้เงินเพื่อนำไปลงทุน จะไปเพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาสวยงาม แล้วแต่ความถนัด ถ้าให้ทุนแล้วต้องติดตามเพื่อไปดูผลงานด้วยว่าทำจริงหรือไม่ มีการช่วยเหลือหลายอย่างไม่ให้กลับไปเสพยาเสพติดอีก”
จิตวิทยาในการพูดเป็นสิ่งสำคัญ
ปัญหาที่อาสาสมัครคุมประพฤติต้องเจอเสมอ ๆ คือการที่ผู้กระทำผิดไม่ให้ความร่วมมือในการไปรายงานตัวหรือการได้รับความช่วยเหลือ ลำเจียก ชี้ว่า ผู้กระทำผิดมักจะคิดว่าอาสาสมัครจะไปจับเข้าคุกอีก บางคนก็ให้ญาติพี่น้องออกมารับหน้าแทน บอกว่า ไม่อยู่บ้าน ซึ่งทำให้งานไม่คืบหน้า และถ้าผู้กระทำผิดมองอาสาสมัครในด้านลบก็จะเป็นภัยกับตัวอาสาสมัครด้วย
“เราต้องมีจิตวิทยาการพูด เราต้องดูกำลังเราด้วยว่า เวลาเราสื่อสารไปจะเป็นบวกหรือเป็นลบ เราต้องพิจารณาตัวเราเองด้วย ต้องบอกเขาว่าเรามาดีนะ ไม่ได้มาร้าย บางรายก็ไม่ให้ความร่วมมือ บางรายก็วิ่งหนี แอบซ่อน เราต้องมีวิธีการเข้าหา”
การที่อาสาสมัครเป็นคนในชุมชน เธอมองว่า อย่างน้อยก็รู้จักกัน พ่อแม่พี่น้องก็รู้จักกัน ถ้าเอาเป็นงานเสริมได้ แต่งานหลักไม่ได้เพราะไม่ได้เงินเดือน ต้องถามใจเราก่อนว่าเราจะช่วยเขาได้สักกี่เปอร์เซ็นต์
การฝึกอาชีพ ดึงผู้กระทำผิดออกจากวังวนเดิมๆ
นอกจากภายในงานเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา จะมีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้แก่อาสาสมัครแล้วยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของสำนักคุมประพฤติแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีสินค้าที่ผลิตโดยผู้ถูกคุมประพฤติด้วย หนึ่งในนั้นมีเกลือหอมสปาของร้านสำนักงานคุมประพฤติ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ผลิตเป็นเด็กวัยรุ่นสามคนที่ถูกคุมประพฤติ กำลังนั่งผลิตสินค้าอยู่หลังร้าน
บอย(นามสมมติ) ผู้ต้องโทษคดีทำร้ายร่างกาย เล่าว่า เขาและเพื่อนเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอาชีพได้ปีกว่าๆ ตอนแรกคิดว่าการฝึกอาชีพแค่ช่วยทำให้คดีดีขึ้น พอทำไปสักระยะรู้สึกชอบเลยทำมาเรื่อยๆและไม่รู้สึกเสียหายอะไร มองว่าข้อดีของการได้ร่วมทำกิจกรรมคือทำให้ตนเองกล้าแสดงออก กล้าเจอผู้คน อีกทั้งยังมีรายได้จากการขายสินค้าอีกด้วย
ทางด้านชลาลัย ฤทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายส่วนหนึ่งมาจากผู้ถูกคุมประพฤติ อย่างเกลือหอมสปาได้นำวัตถุดิบจากบ้านคลองผีขุด อ.บางปะกง ซึ่งเป็นแหล่งของการทำเกลือ ผู้ที่ถูกคุมประพฤติเขาอยากมีอาชีพ เราจึงส่งเสริมให้มีการฝึกอาชีพทำเกลือหอม
“ข้อดีของการดึงผู้กระทำผิดให้มาฝึกอาชีพ คือไม่ให้เขาไปทำร้ายสังคม เขากลับมามีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ทำให้เขาสามารถอยู่กับชุมชนได้อย่างปกติสุข เพราะส่วนใหญ่จะเป็นพวกด้อยโอกาส พวกที่คิดว่าตัวเองมีปมด้อย สังคมรังเกียจ เขาเป็นผู้กระทำผิดแต่ว่าเขาผ่านกระบวนการของอาสาสมัครมาช่วยดูแลแก้ไข เขาก็จะมีกำลังใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดยาเสพติด ไม่ขยัน ไม่อยากทำงาน เราก็คอยกระตุ้นเขาให้เขามาฝึกอาชีพ”
สำหรับปีนี้มีอาสาสมัครคุมประพฤติผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์แก่อาสาสมัครคุมประพฤติจำนวน 103คนพร้อมทั้งมอบใบประกาศเกียรติคุณแก่อาสาสมัครคุมประพฤติที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลา25ปีจำนวน226คน ในโอกาสนี้ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเชิดชูเกียรติอาสาได้ให้โอวาท ใจความสำคัญตอนหนึ่งน ระบุว่า กระทรวงยุติธรรม มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคม โดยแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างความปลอดภัยและความสงบสุขในสังคม ลดการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิด ผู้ผ่านการแก้ไขฟื้นฟู มีการศึกษา มีงานทำ มีรายได้ พึ่งตนเองได้ ซึ่งอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นผู้มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบคุมประพฤติ เป็นผู้ช่วยเหลือและผลักดันให้การดำเนินงานด้านการคุมประพฤติประสบความสำเร็จ มีบทบาทสำคัญในด้านการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้กระทำผิดในชุมชนทำให้ผู้กระทำผิดได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี มีความรับผิดชอบซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่มุ่งหมายเพื่อ “คืนคนดีสู่สังคม” จึงเห็นได้ว่าอาสาสมัครคุมประพฤติเป็นผู้ที่เสียสละ อุทิศกำลังกาย กำลังใจ เวลา ตลอดจนกำลังทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือสังคมและประโยชน์ของส่วนรวม
“วันนี้นับได้ว่าอาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงยุติธรรมในการป้องกันสังคมให้ปลอดภัยจากอาชญากรรม ช่วยเสริมสร้างความสงบสุขเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม ”