ลุงพิการขาเสีย บ้านไร้ห้องน้ำ ต้องคลานไปทำธุระ ขอข้าวผู้ใจบุญ
แม้ประเทศไทยในระยะหลังๆ จะมีนโยบายคล้ายๆ "รัฐสวัสดิการ" เพื่อดูแลผู้ยากไร้ คนด้อยโอกาส คนไร้ที่พึ่ง และคนพิการ หรือแม้แต่คนที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย เห็นได้จากยอดเงินจากข่าวทุจริตในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกจัดสรรผ่านโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี...แต่ก็น่าแปลกที่เม็ดเงินและความช่วยเหลือเหล่านั้นกลับลำเลียงไปไม่ถึงผู้เดือดร้อนตัวจริง
แน่นอนว่าการทุจริต หักหัวคิว เรียกเงินทอน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ตัดตอนความช่วยเหลือ แต่ "การเข้าไม่ถึง" ประชาชนทุกครัวเรือนอย่างแท้จริง ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญด้วยเช่นกัน
ถือเป็นความบกพร่องของระบบราชการ ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นซึ่งมีองคาพยพแขนขาลงไปถึงระดับหมู่บ้าน...
อย่างกรณีของ ลุงลาเตะ สุหลง วัย 64 ปี ซึ่งพิการ เดินไม่ได้ ซ้ำยังมีฐานะยากจน บ้านไม่มีแม้แต่ห้องน้ำ ทุกวันนี้เวลาจะขับถ่าย โดยเฉพาะถ่ายหนัก ต้องคลานไปทำธุระบริเวณริมคลอง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านไปราว 200 เมตร
ลุงลาเตะ อาศัยอยู่กับลูกสะใภ้และหลานอีก 2 คน ในบ้านซ่อมซ่อหลังหนึ่ง ท้องที่หมู่ 8 ต.ยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งอำเภอนี้ก็ไม่ได้อยู่ห่างจากตัวเมืองยะลามากนัก ความยากจนข้นแค้นและความลำบากเดือดร้อนของลุงลาเตะ สะท้อนผ่าน "สายปัสสาวะ" ที่ลุงต้องใช้ทุกวัน แต่ลุงไม่มีเงินเปลี่ยน เวลาจะปัสสาวะต้องสวนจากสาย
"เวลาปวดท้อง อยากทำธุระ แม้แต่ตอนเที่ยงๆ แดดร้อนๆ ก็ต้องคลานไป บางครั้งไม่มีอะไรกินก็ต้องคลาน เพื่อไปหาของกิน จนกว่าจะเจอคนและขอเขา" เป็นคำบอกเล่าจากคุณลุง
ลูกสะใภ้และหลาน 2 คนที่อยู่ด้วยกัน ใช่ว่าจะไม่ดูแล แต่ด้วยความยากจน ทำให้หมดหนทาง ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดของลุงลาเตะ คือ "ห้องน้ำ" แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อไม่มีเงินแม้แต่จะหาข้าวใส่ท้อง
"ผมเคยเรียกร้องขอห้องน้ำมาตลอด ขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่มีความคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน วันนี้จึงต้องออกมาเรียกร้องให้สังคมช่วยเหลือ ช่วยสร้างห้องน้ำให้ผมด้วย เงินผมไม่มีจริงๆ เดินก็ไม่ได้ ต้องคลานไปริมคลอง ผมวิงวอนขอความช่วยเหลือจากทุกคนด้วย เพราะรอความหวังจากรัฐไม่ไหวแล้ว"
เรื่องราวของลุงลาเตะ ทำให้หลายคนนึกถึง "ชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย" ของ กูพัครูรอซี กูโน ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ บ้านอยู่ที่ ต.ตรัง อ.มายอ จ.ปัตตานี เขาป่วยเป็นโรคขาอ่อนแรงจนเกือบเดินไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับคนพิการ อาการป่วยของเขาซ้ำเติมครอบครัวที่มีฐานะยากจนอยู่แล้วให้ลำบากหนักขึ้นไปอีก เพราะพ่อก็ป่วยเป็นต้อหิน มองไม่เห็น และยังเป็นความดัน ภาระทั้งหมดในครอบครัวจึงตกไปอยู่ที่เเม่เพียงคนเดียว ทั้งๆ ที่แม่ก็มีอายุมาก
แม้ กูพัครูรอซี จะมีอาการป่วยมาแต่กำเนิด ทำให้มีสภาพคล้ายคนพิการอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะอาการหนักแบบนี้ เขาเรียนจบการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีด้านสังคมสงเคราะห์ และทำงานเป็นอาสาสมัครอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค.55 ได้รับรางวัลโล่ดีเด่นจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติและวันอาสาสมัครไทย ต่อมาได้เข้าทำงานที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทั่งล้มที่ทำงาน จากนั้นอาการก็ทรุดหนัก จนประกอบกิจวัตรประจำวันและทำการงานอะไรไม่ได้เลย
สาเหตุที่เดือดร้อนหนักจนต้องขอให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าว ส่วนหนึ่งก็มาจาก "การเข้าไม่ถึง" ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพราะ กูพัครูรอซี และครอบครัว แทบไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ นอกจากรายได้จากเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท ซึ่งเขาได้ 2 คนกับพ่อรวม 1,600 บาท และเบี้ยคนชราที่พ่อได้รับอีก 600 บาท รายได้รวมของครอบครัวอยู่แค่เพียง 2,200 บาทต่อเดือน แต่ต้องดูแลถึง 3 ปาก 3 ชีวิต ส่วนรายได้ของ กูพัครูรอซี ที่เคยได้รับจากการทำงานในอดีต ก็ไม่ได้รับแล้วตั้งแต่อาการทรุดหนักจนถึงปัจจุบัน
"ไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ เขาบอกว่าเราไม่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐบอกว่าเราเป็นคนรวย อยากรู้จริงๆ ว่าเขาเอาอะไรมาวัด เขาไม่เคยรู้ถึงความลำบากของเรา ควรจะต้องวิเคราะห์ปัญหาจากการดูสภาพความเป็นอยู่ของเราจริงๆ ว่าเราลำบากแค่ไหน พ่อเป็นต้อหิน เราเดินไม่ได้ แต่กลับต่อว่าว่าเราสร้างปัญหา นอกจากไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติมอีก" กูพัครูรอซี เล่าอย่างอัดอั้น
แม่ของเขาเคยกรีดยางได้สัปดาห์ละ 500 บาท แต่ทุกวันนี้แม่ก็แก่ และต้องดูแลตัวเขาเองกับบิดา ทำให้ไม่มีเวลาไปทำงาน รายได้ที่เคยได้บ้างก็หดหาย
"ทุกครั้งที่ถูกหน่วยงานในพื้นที่ซ้ำเติม พ่อกับแม่รู้เข้าก็จะร้องไห้ ไม่สบาย และล้มป่วย เป็นแบบนี้ทุกครั้ง ขอร้องอย่ามาซ้ำเติมชีวิตพวกเราเลย เราก็ไม่ได้อยากสร้างปัญหา แต่พวกเราเดือดร้อนจริงๆ ถึงต้องขอความช่วยเหลือ" หนุ่มผู้เคราะห์ร้าย กล่าว
ภายหลังเรื่องราวของครอบครัว กูพัครูรอซี เผยแพร่ออกไปทางสื่อบางแขนง พ.อ.สมคิด คงแข็ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ได้เดินทางลงพื้นที่ และให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยเฉพาะการสร้างห้องน้ำให้กับครอบครัว อย่างน้อยก็เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับทั้ง กูพัครูรอซี ซึ่งเดินเกือบไม่ได้ รวมทั้งบิดาที่ตามองไม่เห็น
ความเดือดร้อนลำบากของลุงลาเตะ และกูพัครูรอซี คงไม่ใช่ 2 กรณีสุดท้ายที่สังคมจะได้รับรู้ ตราบเท่าที่ความช่วยเหลือจากรัฐยัง "เข้าไม่ถึง" ผู้ที่กำลังรอรับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ลุงลาเตะ
2 บัตรประจำตัวคนพิการของคุณลุง
3 กูพัครูรอซี (คนกลาง) ในวันที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าให้ความช่วยเหลือ