ไร้“แผนที่เสี่ยงภัย” ก็ไม่มีลายแทงป้องกันความเสียหายจากภัยพิบัติ
ความสูญเสียจากภัยพิบัติธรรมชาติทวีความรุนแรงขึ้น เราไม่อยากเห็นเพียงการจ่ายเงินเยียวยาจากรัฐ แต่ต้องการมาตรการรองรับหายนะภัยที่ชัดเจน และลายแทงเบื้องต้นที่ควรมีคือ “แผนที่เสี่ยงภัย”
คำถามว่าเราได้เห็นมาตรการเชิงรุกที่ใช้ป้องกันอย่างเหมาะสมเพียงพอแล้วหรือยัง คำตอบคือ “ไม่” และนี่คือเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ ชาวบ้าน ถึงสิ่งที่เห็น เป็นอยู่ และต้องการให้เกิดขึ้น…
เสียงจากท้องถิ่น “ชาวบ้านทำได้เพียงเงี่ยหูฟังสัญญาณเตือนภัยรัฐ”
ชีวิน ศรีอำคา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บางม่วงจ.พังงา กล่าวว่า ในระดับพื้นที่ไม่มีแผนที่เสี่ยงภัยใดๆทั้งสิ้น ที่ผ่านมาจึงไม่มีมาตรการและวิธีการรับมือภัยพิบัติต้องคอยฟังจากศูนย์เตือนภัยทางจังหวัด และสื่อโทรทัศน์ชาวบ้านเพิ่งเจอภัยน้ำท่วมหนักมา เห็นด้วยที่จะมีแผนที่เสี่ยงภัยระดับตำบลเพื่อแก้ปัญหาระดับพื้นที่ได้อย่างชัดเจน แต่คิดว่าหากมีการจัดทำก็ต้องให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นผู้ประสบปัญหาโดยตรง
เช่นเดียวกับรพินทร์ สุวรรณสินธุ์ ปลัดอบต.ป่าคลอกจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาวิธีการรับมือภัยพิบัติในพื้นที่ก็ทำได้แค่เบื้องต้นเพียงแจ้งเตือนให้ชาวบ้านระวัง เพราะทางตำบลไม่มีพื้นที่หลบภัยหรือพื้นที่ที่ปลอดภัย เมื่อประสบปัญหามีเพียงวัดหรือศูนย์ราชการ และปัญหาหลักคือเสียงตามสายที่จะเป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารถึงชาวบ้านนั้นก็กำลังซ่อม ทั้งนี้คิดว่าการเตรียมการรับมือก็ต้องให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสารต่างๆด้วย ส่วนแผนที่เสี่ยงภัยยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวบ้านนักวิชาการ จึงต้องมาให้ความรู้พร้อมกับมีการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัดอำเภอและตำบลในการจัดทำ
“แผนพื้นที่เสี่ยงภัย และแผนผังอพยพ จะทำให้ชาวบ้านรู้ว่าจุดไหนควรอยู่ ตรงไหนอันตราย และไม่ใช่เพียงแผนที่เท่านั้น การเตรียมพร้อมช่วยเหลือทั้งเรื่องการติดต่อสื่อสาร ลำเลียงอาหาร ก็สำคัญที่จะต้องวางแผนล่วงหน้าเพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงและเหตุการณ์อนาคตได้เลย” นายรพินทร์กล่าว
“ไทยไร้แผนที่เสี่ยงภัยระดับเมือง” ข้อมูลระดับประเทศล้าหลัง 10 ปี
บุรินทร์ เวชบันเทิง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาเปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ประเทศไทยมีแผนที่เสี่ยงภัยพิบัติอยู่แล้ว แต่มีเฉพาะกรณีแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นแผนที่ระดับประเทศ มี 22 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว คือกลุ่มภาคเหนือ-ภาคตะวันตก 10 จังหวัด กลุ่มกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด กลุ่มภาคใต้ 7 จังหวัด แต่ส่วนใหญ่เป็นฐานข้อมูลเก่าที่จัดทำเมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ยกเว้นกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่ปรับปรุงล่าสุดปี 2549 และกำลังจัดทำอีก 4 กลุ่มจังหวัด เช่น เพชรบุรี ราชบุรี
แต่ยังไม่มีแผนที่เสี่ยงภัยระดับพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดลงไป เสนอว่าควรจะจัดทำซึ่งกฎหมายให้อำนาจหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำแผนที่ภัยพิบัติได้เอง พร้อมกับจำแนกประเภทภัยพิบัติในจังหวัดของตนเอง
“การจัดทำแผนที่เสียงภัยต้องใช้เวลาแต่ละกระบวนการต้องผ่านคณะกรรมการของกรมโยธาธิการ โดยอาศัยการรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการ ทั้งทางธรณีวิทยา แผ่นดินไหว โครงสร้าง” นายบุรินทร์กล่าว
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เพื่อสอบถามถึงการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ ที่สร้างความตื่นตระหนกเมื่อเร็ววันนี้ พวกเขาเตรียมป้องกันชาวบ้านจากภัยพิบัติอย่างไร
นักวิชาการแนะรัฐเลิก “วัวหายล้อมคอก” เร่งทำ “แผนที่เสี่ยงภัย” ก่อนสาย
“ภัยพิบัติมีความรุนแรง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไทยจะรอให้เกิดเหตุการณ์แล้วมาตามแก้ไขทีหลังคงต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก” เป็นเสียงจากดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ประธานคณะอนุกรรมการสาขาผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมหลังสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
เขาบอกว่าหลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีแผนการรับมือ เริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นภัยแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม และต้องเป็นข้อมูลที่ลงรายละเอียดถึงระดับพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดลงไป ซึ่งหากเริ่มเก็บรวมรวมข้อมูลแต่ละด้านอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ ก็อาจใช้เวลา 2 ปีที่ประเทศไทยจะมีแผนที่เสี่ยงภัย เพื่อนำไปใช้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยรองรับทั้งด้านการวางผังเมืองและก่อสร้าง
“การวางผังเมืองอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันภัยธรรมชาติ ประเทศต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เพราะขาดแผนการและไม่รู้จักธรรมชาติดีพอ ดังนั้นแผนที่เสี่ยงภัยจะทำให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยงบ้าง และควรเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนตามสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ ไม่ใช่กลัวว่าพื้นที่เสี่ยงสูงราคาที่ดินจะตก”ดร.เป็นหนึ่งกล่าว
สพฉ.รุกนำร่อง “ทำแผนที่เสี่ยงภัยเมืองกาญจน์ฯ”
เร็วๆนี้นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ออกมาเปิดเผยถึงการเตรียมพร้อมรับมือก่อนเกิดแผ่นดินไหว ว่าขณะนี้ประสานทีมกู้ชีพในพื้นที่กลุ่มเสี่ยงให้ดำเนินการ1. เตรียมจัดให้มีการฝึกอบรมทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วให้ครอบคลุม โดยจะจัดอบรมเพิ่มเติมอีก 2 รุ่นในวันที่ 23 เมษายนนี้ เพื่อรองรับการเกิดสถานการณภัยพิบัติที่มีความถี่ 2.ประสานให้ทีมกู้ชีพในพื้นที่เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องระบบการสื่อสาร การแจ้งเหตุและบุคลากร 3.ได้จัดเตรียมรถซูเปอร์แอมบูแลนซ์ หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน 6 ล้อ ยกสูง ที่มีอุปกรณ์ทางแพทย์ครบครันพร้อมระบบสื่อสาร ประจำในพื้นที่เสี่ยง หากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติจะสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่และวางแผนบูรณาการร่วมกับกลุ่มจังหวัดพื้นที่เสี่ยงโดยนำร่องแล้วที่ จ.กาญจบุรี ซึ่งกลุ่มจังหวัดพื้นที่เสี่ยงใกล้รอยเลื่อน โดยหารือร่วมกับ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ภาครัฐภาคเอกชน และทีมกู้ชีพในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนบูรณาการรับมือหากเกิดแผ่นดินไหวร่วมกัน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ และเกิดการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้นทั้งการเตือนภัย การกู้ภัย และการช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเตรียมการในทุกพื้นที่เสี่ยงต่อไป
.......................................................................
ภัยพิบัติทุกประเภทที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากสะท้อนถึงธรรมชาติที่ถูกรุกรานทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ ด้านหนึ่งยังบอกถึงความบกพร่องของภาครัฐที่ไม่ได้เตรียมการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทย จะมี “แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติ” อันเป็นลายแทงวางแผนป้องกันรับมือปัญหาเบื้องต้น…!!