เจาะทุจริต"งบช่วยคนจน"ชายแดนใต้...โกงนักเรียน-บ้านคนยากไร้-ถุงยังชีพ!
กลายเป็น "อภิมหาอมตะการโกง" ไปแล้ว หลังจากสำนักงาน ป.ป.ท.ลุยตรวจสอบงบประมาณสงเคราะห์ครอบครัวผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่ง ในความรับผิดชอบของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
ความคืบหน้าก่อนหน้านี้ ในส่วนของ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง" พบหลักฐานการทุจริตแล้ว 44 ศูนย์ จาก 77 จังหวัด ขณะที่กำลังตรวจสอบลามไปถึง "นิคมสร้างตนเอง" ซึ่งมีทั้งประเทศ 44 นิคม และศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงอีก 20 ศูนย์ทั่วประเทศ เรียกว่าแตะไปตรงไหน ก็เจอหลักฐานการโกงตรงนั้น
ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ก็พบข้อมูลการทุจริตเช่นกัน แต่ที่ผ่านมามีข่าวค่อนข้างน้อย อาจเป็นเพราะโฟกัสหลักของ ป.ป.ท.อยู่ที่ภาคอีสานซึ่งพบข้อมูลการทุจริตเป็นพื้นที่แรก แต่เมื่อฉายสปอตไลท์ไปที่ชายแดนใต้ ก็ต้องบอกว่าร้ายแรงไม่น้อยไปกว่ากัน
ใช้ ขรก.ตั้งเบิก - หักหัวคิวทุนนักเรียน
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 ให้ข้อมูลว่า ในส่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พบรูปแบบการทุจริตแบบใหม่ๆ คือ นำรายชื่อข้าราชการครูมาร่วมเบิก โดยอ้างว่าให้ทุนการศึกษากับเด็กยากไร้ อย่างที่ อ.เบตง จ.ยะลา มีการนำชื่อครูบางโรงเรียนเกือบทั้งโรงเรียนมาตั้งเรื่องเบิก อ้างว่าขอรับเงินเป็นทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียน ตั้งเบิก 2,000 บาทต่อคน แต่จ่ายจริงแค่ 1,000 บาท
"ข้อมูลที่เราพบคือ มีเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ปรากฏรายชื่อเป็นผู้ร่วมเบิกเงินด้วย คือใช้รูปแบบหารายชื่อมาเยอะๆ เพื่อตั้งเบิก โดยไม่สนใจกลุ่มเป้าหมาย" เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 ระบุ
โกงถุงยังชีพ - สร้างบ้านคนจน
ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบหลักฐานการทุจริตคล้ายคลึงกับพื้นที่อื่น คือหักหัวคิวเอาจากชาวบ้านที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพ แต่ที่ไม่เหมือนจังหวัดไหนเลย ก็คือการโกงถุงยังชีพ
"มีการใช้ชื่อกลุ่มแม่บ้านยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ตั้งเบิกหัวละ 3,000 บาท เบิกรวมทั้งหมด 60,000 บาท แต่จ่ายจริงแค่ 15,000 บาท ขณะที่บางพื้นที่ใช้รูปแบบมอบเป็นถุงยังชีพ ตั้งเบิก 2,000 บาท ทั้งๆ ที่ต้นทุนถุงยังชีพสั่งเป็นล๊อตๆ ล็อตหนึ่งถุงละ 500 บาทเท่านั้น" เป็นข้อมูลแบบน่าตกใจของ ป.ป.ท.เขต 9
อีกส่วนหนึ่งเป็นงบที่จ่ายผ่าน "นิคมสร้างตนเอง" ซึ่งมี 7 นิคมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณรวม 39 ล้านบาท ประกอบด้วย นิคมพัฒนาภาคใต้ นิคมฯธารโต นิคมฯเบตง จ.ยะลา, นิคมฯสุคิริน นิคมฯศรีสาคร จ.นราธิวาส, นิคมฯ โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และนิคมฯเทพา จ.สงขลา มีการตั้งเบิกเพื่อซ่อมแซมบ้านให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส แต่พบการทุจริตในลักษณะผูกขาดกับร้านค้าวัสดุก่อสร้าง และงบบางส่วนยังตั้งซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เช่น กอ.รมน.ที่มีโครงการซ่อมแซมบ้านให้ราษฎรอยู่แล้ว
"เขาจะให้ในลักษณะของค่าวัสดุ ไม่ได้ให้เป็นเงินสด แต่เขาไปผูกขาดกับร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ให้ราษฎรที่ได้รับการช่วยเหลือไปรับวัสดุจากร้านค้า แล้วเขาก็จะให้ไม่ถึง 10,000 บาท และให้รับเป็นสินค้า ไม่ให้เป็นเงินสด เมื่อถามชาวบ้าน ก็ได้รับข้อมูลว่าเวลาเจ้าหน้าที่ให้เซ็น เขาก็เอากระดาษเปล่ามาให้เซ็น" เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 กล่าว
เบิกเบี้ยเลี้ยงแต่ไม่ลงพื้นที่ - 500 ยังเอา
นอกจากนั้นยังมีการตั้งเบิก "ค่าดำเนินการ" เป็นเงินถึง 5,000 บาท ซึ่งเป็นค่าน้ำมันแบะค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ที่ไปสร้างบ้านให้กับคนจนและผู้ด้อยโอกาส ทั้งที่จริงๆ เจ้าหน้าที่นิคมฯใช้ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) และชาวบ้านช่วยกันสร้าง เจ้าหน้าที่ไม่ได้ลงพื้นที่เองเลย
"ยังไม่หมด เขายังตั้งเบิกอีก 500 บาท เป็นค่าประมาณการของช่าง เมื่อไปสอบถามช่างที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เขาบอกว่าจ่ายให้ช่าง อบต. 250 บาท แต่เจ้าหน้าที่ไปเบิก 500 บาท ช่าง อบต.บอกว่าเขาได้แค่ 250 บาท ไม่รู้เลยว่าเบิกมา 500 บาท"
ตั้งโครงการซ่อมบ้านทับซ้อน กอ.รมน.
ป.ป.ท.เขต 9 ยังพบข้อมูลว่า บางโครงการตั้งเบิก 20,000 บาท เป็นค่าสร้างบ้านให้คนจนและผู้ด้อยโอกาส จากนั้นมีการตั้งเบิกงบสงเคราะห์ให้กับผู้ยากไร้อีก 2,000 บาท แต่เมื่อไปตรวจสอบกลับกลายเป็นว่าในพื้นที่ของ อ.เบตง ในปีงบประมาณ 2560 ไม่มีการจ่ายให้กับผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสเลย บางโครงการทำแล้วไปทับซ้อนกับโครงการของ กอ.รมน. ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่บางทีก็ไม่ทราบว่าโครงการไหนบ้างที่ลงไป
"อย่างโครงการที่เราพบที่ ต.ปะแต อ.ยะหา บ้านบางหลังทหารไปสร้าง เจ้าหน้าที่นิคมฯยังทำโครงการไปทับซ้อนกับโครงการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า"
เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 9 ย้ำว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้ยังต้องตรวจสอบและเก็บหลักฐานเชิงลึกเพิ่มเติม ก่อนเสนอไปยังบอร์ด ป.ป.ท.เพื่อให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน และเรียกเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปแจ้งข้อหาต่อไป
สร้างบ้านคนจน 1,988 หมู่บ้าน งบ 39.7 ล้าน
สำหรับภาพรวมของการใช้งบประมาณโครงการสร้างและซ่อมแซมบ้านให้กับราษฎรผู้ยากไร้และด้อยโอกาสใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านนิคมสร้างตนเอง 7 แห่ง พื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 1,988 หมู่บ้าน ทำโครงการหมู่บ้านละ 1 หลัง งบประมาณหลังละ 20,000 บาท ใช้งบทั้งหมด 39,760,000 บาท แยกเป็น
จ.สงขลา 4 อำเภอ (พื้นที่ความมั่นคง) 360 หมู่บ้าน มี "นิคมสร้างตนเองเทพา" รับผิดชอบ แบ่งเป็น อ.สะบ้าย้อย 62 หลัง อ.เทพา 68 หลัง อ.นาทวี 92 หลัง อ.จะนะ 138 หลัง
จ.ปัตตานี 12 อำเภอ 649 หมู่บ้าน มี "นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์" รับผิดชอบ แบ่งเป็น อ.สายบุรี 64 หลัง อ.หนองจิก 75 หลัง อ.ยะรัง 71 หลัง อ.มายอ 59 หลัง อ.โคกโพธิ์ 82 หลัง อ.กะพ้อ 27 หลัง อ.ไม้แก่น 17 หลัง อ.เมือง 81 หลัง อ.ยะหริ่ง 81 หลัง อ.ปะนาเระ 48 หลัง อ.แม่ลาน 22 หลัง อ.ทุ่งยางแดง 22 หลัง
จ.ยะลา 8 อำเภอ 390 หมู่บ้าน มี "นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้" หรือ "นิคมฯกือลอง" รับผิดชอบ 3 อำเภอ คือ อ.บันนังสตา 51 หลัง อ.กรงปินัง 23 หลัง อ.เมือง 82 หลัง, นิคมสร้างตนเองธารโต รับผิดชอบ 3 อำเภอ คือ อ.ธารโต 37 หลัง อ.ยะหา 49 หลัง อ.กาบัง 19 หลัง และ นิคมสร้างตนเองเบตง รับผิดชอบ 2 อำเภอ คือ อ.เบตง 39 หลัง และ อ.รามัน 90 หลัง
จ.นราธิวาส 13 อำเภอ 589 หมู่บ้าน มี "นิคมสร้างตนเองสุคิริน" รับผิดชอบ 7 อำเภอ คือ อ.จะแนะ 31 หลัง อ.ระแงะ 61 หลัง อ.สุไหงโก-ลก 19 หลัง อ.สุไหงปาดี 51 หลัง อ.แว้ง 46 หลัง อ.สุคิริน 41 หลัง อ.เจาะไอร้อง 33 หลัง และ นิคมสร้างตนเองศรีสาคร รับผิดชอบ 6 อำเภอ คือ อ.ศรีสาคร 36 หลัง อ.รือเสาะ 72 หลัง อ.ยี่งอ 40 หลัง อ.บาเจาะ 46 หลัง อ.ตากใบ 52 หลัง และ อ.เมือง 63 หลัง
-----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 โครงการสร้างและซ่อมแซมบ้านของราษฎรผู้ยากไร้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรับผิดชอบโดยนิคมสร้างตนเอง 7 แห่งในพื้นที่
2 เอกสารโครงการสร้างและซ่อมแซมบ้าน พร้อมตัวเลขงบประมาณ