ล่ามฯกระทุ้งรัฐแจกแท็บเล็ตคนหูหนวก-ดึงอปท.สร้างคนแปลภาษามือชุมชน
นักพัฒนาเผยคนหูหนวกกว่า 7 แสนขาดโอกาสทางสังคม วอนรัฐเหลียวแล กระทุ้งแจกแท็บเล็ต เปิดโลกทางการสื่อสาร เตรียมจับมือท้องถิ่นสร้างล่ามภาษามือชุมชน
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2554 มีผู้พิการทางการได้ยินและมีปัญหาในการสื่อสารประมาณ 700,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้พิการทางการได้ยินที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการแล้วประมาณ 165,000 คน เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี2553 มีผู้พิการทางการได้ยินขึ้นทะเบียนผู้พิการ140,000 คน ล่ามภาษามือมีสัดส่วนต่อคนหูหนวกมีอัตราอยู่ที่ 1 ต่อ 400 คน ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ต่อประเด็นดังกล่าว เร็วๆนี้ น.ส.จุฑามาศ สุธนวัฒนาเจริญ ล่ามภาษามือ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” ว่า ปัญหาใหญ่ของคนหูหนวกคือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงการศึกษาที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่ควร แม้จะมีสิทธิมีกฎหมายรองรับ แต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างยังขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้คนหูหนวกได้รับการปฏิบัติเหมือนประชาชนชั้นสองของประเทศเพราะขาดการสนับสนุนด้านการสื่อสารที่ควรจะเป็น สื่อเป็นเสียงพูดทั้งหมด คนหูหนวกเข้าไม่ถึง
“แม้ว่าองค์กรคนพิการจะเข้มแข็ง แต่ปัญหาเรื่องนโยบายสั่งการมา ผู้ปฏิบัติไม่ทราบและไม่มีความรู้ความเข้าใจ มีกฎหมายมากมายที่ออกมารองรับสิทธิคนหูหนวก แต่การปฏิบัติไม่เป็นจริง เจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่เข้าใจ เราลองเปิดโทรทัศน์แล้วปิดเสียงสัก 15 นาทีจะเข้าใจว่าคนหูหนวกเขารู้สึกยังไง ในเวลา 24 ชั่วโมงมีจอล่ามแค่ชั่วโมงเดียว เวลาเกิดภัยพิบัติ สึนามิหรือแผ่นดินไหวเขาจะรู้ไหม ปัญหาคนหูหนวกมีการนำเสนอต่อรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย นับแต่มีการก่อตั้งสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยนานกว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข”
ล่ามภาษามือสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ในประเทศพัฒนาแล้วใช้ล่ามน้อยมาก คนหูหนวกส่วนใหญ่จะช่วยเหลือตัวเองได้ดี มีเทคโนโลยีมีสื่อช่วยในการดำรงชีวิต ส่วนการใช้ล่ามจะใช้ในกรณีไปศาลไปพบตำรวจไปพบแพทย์ที่จำเป็นจริงๆ รัฐบาลเขานำงบไปพัฒนาตัวคนหูหนวก ทำให้วิถีชีวิตดีขึ้น ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เน้นเรื่องการศึกษา แต่ทางสมาคมฯเห็นว่าในเบื้องต้น ระหว่างรอให้มีการเข้ามาช่วยเหลือระดับนโยบายตรงนี้สมาคมฯมีแนวทางจะขยายความร่วมมือไปสู่จังหวัดไปสู่ชุมชนโดยให้องค์กรท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการศึกษาผลิตล่ามคนหูหนวก
“เรื่องการศึกษาคนหูหนวกจะด้อยกว่าคนพิการอื่น เพราะโครงสร้างภาษามือกับภาษาไทยต่างกัน ทำให้เข้าใจยาก คนที่อยู่ต่างจังหวัดอยู่ในชุมชนจะมีความลำบากในเรื่องล่ามมากกว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆ ตรงนี้ทางสมาคมฯจึงคิดปรับแนวการทำงานโดยจะหันไปทำงานร่วมกับจังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น”
น.ส.จุฑามาศ กล่าวอีกว่า นโยบายแท็บเล็ตรัฐบาลสามารถที่จะแจกแท็บเล็ตให้เด็กป.1ได้ทำไมไม่คิดจะแจกแท็บเล็ตให้คนหูหนวกในการสื่อสารบ้าง หากทำได้จะช่วยคนหูหนวกได้มาก จำนวนคนหูหนวกที่จดทะเบียนกว่า 1 แสนกว่าคนถ้าลงทุนตรงนี้คุ้มเกินคุ้มเพราะจะเป็นการแบ่งเบาภาระในเรื่องงบประมาณระยะยาว หลายคนอาจมองว่าคนหูหนวกเรียกร้องสูง แต่ถ้าได้ทำงานกับเขาจะรู้ว่าคนหูหนวกมีวิถีชีวิตที่น่าเห็นใจมาก