ผลวิจัย เผาฟางข้าว เศษต้นข้าวโพด ใบไม้ ชนิดไหนสูดไปเสี่ยงเกิดมะเร็ง
การเผาต้นข้าวโพดให้ค่าสัดส่วนสารก่อมะเร็งและสารไม่ก่อมะเร็ง สูงกว่าการเผาชีวมวลชนิดอื่นๆ เล็กน้อย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจากการรับสัมผัสฝุ่นควันจากการเผาชีวมวล
สถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือของไทย มีปัญหายาวนานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และถือเป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยมลพิษทางอากาศ สาเหตุหลักพบว่าเกิดจากการเผาในที่โล่งโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
แต่ที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาชีวมวลในพื้นที่ยังมีจำกัดและไม่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “โครงการติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทย สำหรับการประเมินการปล่อยและการเคลื่อนที่ของมลพิษทางอากาศเพื่อการวางแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ได้นำมาสู่ข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายด้าน อาทิ
การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ค่าการปลดปล่อยมลพิษจากการเผาชีวมวลประเภทต่างๆ ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเผาชีวมวลในที่โล่งจากการพิจารณาสภาวะทางอุตุนิยมวิทยา การเคลื่อนที่และการกระจายของมลพิษจากแหล่งกำเนิดการเผา
รวมถึงผลกระทบจากมลพิษที่ถูกพัดพาไปยังพื้นที่อื่น
ในงานวิจัยได้ทำการจำลองการเผาตัวอย่างชีวมวลและการจำลองทิศทางการพัดพามลพิษซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ชีวมวลในพื้นที่โล่ง โดยเป็นการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี (ช่วงระหว่างปี 2549 - 2558) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาก
ผศ.ดร. สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยถึงข้อค้นพบดังกล่าวว่า จากการติดตามการเผาในที่โล่งในพื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัดพบว่า มีการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรทุกเดือนในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งพื้นที่ที่พบการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรมากที่สุด คือ "จังหวัดน่านและจังหวัดพะเยา"
ส่วนการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่าพบว่า มักเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน โดยจะมีการเผามากที่สุดในเดือนมีนาคม
จังหวัดที่พบว่า มีการเผาชีวมวลในพื้นที่ป่ามากที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากที่มีพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งการกระจายเชิงพื้นที่ของการเผาในที่โล่งมีความสอดคล้องกับลักษณะการใช้ที่ดิน
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท ย้อนหลัง 10 ปี (2549-2558) พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างเห็นได้ชัด โดยพื้นที่ป่ามีปริมาณลดลงกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตร ขณะที่พื้นที่เกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นเกือบ 13,000 ตารางกิโลเมตร แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เกษตรบนที่สูงได้อย่างชัดเจน และยังพบว่าพื้นที่เกษตรในที่สูงมีปริมาณของจุดความร้อนเพิ่มมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ สูงสุดในเดือนมีนาคม และลดลงในเดือนเมษายน
สำหรับการทดสอบการเผาชีวมวล 4 ชนิด คือ ฟางข้าว เศษต้นข้าวโพด เศษใบไม้จากป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ พบมีการปล่อยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 จากการเผาฟางข้าวและใบไม้จากป่ามากกว่าการเผาต้นข้าวโพด แต่ฝุ่นที่ได้จากการเผาฟางข้าวและต้นข้าวโพดแห้ง มีปริมาณโพแทสเซียม (K+) และ คลอไรด์ (Cl-) สูงกว่าการเผาใบไม้จากป่าอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่ามาจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มพืชเกษตร ส่วนองค์ประกอบของสารประกอบพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon; PAHs) ในตัวอย่างฝุ่น PM2.5 จากการเผาชีวมวลแต่ละประเภทไม่แตกต่างกัน
แต่เมื่อพิจารณาค่าสัดส่วนระหว่างสารก่อมะเร็ง และสารที่ไม่ก่อมะเร็งของกลุ่มสารพีเอเอชพบว่า การเผาต้นข้าวโพดให้ค่าสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่าการเผาชีวมวลชนิดอื่นๆ เล็กน้อย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งจากการรับสัมผัสฝุ่นควันจากการเผาชีวมวล
และจากการวิเคราะห์การเสี่ยงภัยจากภาวะหมอกควัน โดยใช้ข้อมูลความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ในอากาศที่รายงานโดยกรมควบคุมมลพิษ สามารถสรุปได้ว่า ใช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ มีเพียง 1-5 วันต่อเดือนที่ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM10 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในเดือนมีนาคมตลอดทั้งเดือน มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดที่จะส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน และบางพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนในช่วงเดือนเมษายน จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ ยังคงพบค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก 10 ไมครอน หรือ PM10 ที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นบางวัน
ทั้งนี้ ในการประเมินสภาพอากาศโดยการประมวลผลจากข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่า จากการวิเคราะห์ดัชนีอัตราการระบายอากาศ (Ventilation Index) ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการระบายอากาศออกจากพื้นที่โดยใช้ข้อมูลความเร็วลม และระดับความสูงที่มลพิษสามารถฟุ้งกระจายได้ พบว่า ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน เป็นช่วงที่มีการระบายอากาศดีที่สุด โดยในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่มีอัตราการระบายอากาศค่อนข้างแย่ สาเหตุเนื่องจากช่วงเดือนมกราคมพื้นที่ส่วนใหญ่ใน 9 จังหวัดภาคเหนือของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน มีการระบายอากาศที่แย่มากที่สุดเกินครึ่งเดือน ถ้ามีการเผาขึ้นไปในอากาศก็จะมีโอกาสที่ควันหรือฝุ่นละอองจะถูกกักไว้ในระดับใกล้พื้นดินมากกว่า ขณะที่ในช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน อัตราการระบายอากาศจะดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน มีอัตราการระบายอากาศดีที่สุด
ผศ.ดร. สมพร ชี้ชัดว่า จากข้อค้นพบนี้ สามารถนำไปปรับเปลี่ยนรูปแบบการเผาในพื้นที่ได้ และเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาหมอกควันต่อไปในอนาคต เนื่องจากมีผลวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาหมอกควันที่แท้จริง โดยมีข้อพิสูจน์ทราบทางวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนถึงแหล่งกำเนิดหลักมลพิษทางอากาศทางภาคเหนือตอนบนของไทยว่า นอกเหนือจากการจราจรในพื้นที่เขตเมืองแล้ว ยังมาจากการเผาในที่โล่ง
นอกจากนี้ผลงานวิจัยจะช่วยให้เกษตรกรได้มีทางเลือกในการจัดการกับชีวมวลที่เหลือในพื้นที่ ให้มีการเผาอย่างเป็นระบบ โดยการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า เพื่อประเมินสภาพอากาศ และอัตราการระบายอากาศรายวัน โดยจะต้องมีการวางระเบียบการเผาภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด
อ่านรายละเอียดงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ http:// smokehaza.science.cmu.ac.th