ไขปมทีโออาร์-สัญญาจ้าง CCTV ร.ร.ใต้ - ผูกมัดเอกชนรับผิดชอบ ไฉน สพฐ. ควักงบ14 ล.โปะซ่อมเอง? (ุ6)
"..ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิริบหลักประกัน หรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญา เป็นจำนวนเงินทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่ง แล้วแต่กรณีภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันบอกเลิกสัญญา ผู้ขายจะต้องชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อนี้ด้วย..."
เงื่อนไขข้อกำหนดในร่างทีโออาร์เป็นอย่างไร? เมื่อเอกชนทำผิดเงื่อนไขสัญญาจ้างต้องทำอย่างไร? ทำไม สพฐ. ไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายจากเอกชนคู่สัญญา ริบหลักประกันสัญญาจ้างงาน แต่กลับใช้วิธีการทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณจำนวน 14 ล้านบาท ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาซ่อมแซมเครื่องมือเอง?
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ภายหลังจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากตัวแทนครูร.ร.ในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้รับการติดตั้งกล้อง CCTV ในโครงการจัดซื้อกล้อง CCTV โรงเรียนในโครงการ Safe Zone School งบประมาณ 577 ล้านบาท ของ 12 เขตพื้นที่การศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้ ว่า ในช่วงเดือนก.พ.2561 ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่ง ได้รับหนังสือแจ้งจากสพฐ. ว่า ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี 2561 แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ผลผลิตผู้จบการศึกษาภาคบังคับ กิจกรรมการจัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นสำหรบโรงเรียนปกติ งบดำเนินงานเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตาม โครงการ Safe Zone School ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้คณะทำงานดูแลรักษา ซ่อมบำรุง และการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบกล้อง CCTV กับหน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ระบุตัวเลขวงเงินใช้จ่ายอยู่ที่ 14,715,001 บาท
"อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีโรงเรียนใด กล้าใช้งบประมาณใหม่การดำเนินการซ่อมแซมกล้อง CCTV เพราะกลัวว่าจะผิดซ้ำสอง ต่อจากกรณีที่ตรวจรับงานไม่ตรงตามทีโออาร์จ้างไปแล้ว และมองว่า การตั้งงบประมาณดังกล่าว ของสพฐ. อาจจะขัดวัตถุประสงค์ของโครงการ เพราะเหตุที่กล้องชำรุดดังกล่าว เกิดจากการปฏิบัติงานไม่ตรงตามทีโออาร์ควรให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าไม่ดำเนินการก็ต้องริบเงินหลักประกันสัญญามาแก้ไขแทน" ตัวแทนครูร.ร.ในพื้นที่ภาคใต้รายหนึ่งระบุ (อ่านประกอบ : เผยหลักฐานสพฐ.ดึงงบนร.14ล.โปะซ่อมCCTV-ครูใต้ไม่กล้าใช้กลัวผิดซ้ำสอง)
เพื่อไขข้อเท็จจริง เงื่อนปมปัญหา 3 ข้อสงสัยสำคัญดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลในร่างทีโออาร์การจัดซื้อกล้อง CCTV โครงการนี้ และเอกสารหลักฐานการดำเนินงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ. พบข้อเท็จจริงดังนี้
หนึ่ง : เงื่อนปมปัญหาการดำเนินงานไม่เป็นไปตามทีโออาร์
ปรากฎข้อมูลยืนยันในบันทึกข้อความที่ นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งถึงเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ช่วงเดือนเม.ย.2560 ให้รับทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการเป็นทางการ โดยมีการระบุข้อมูลผลการตรวจสอบว่า บริษัทเอกชนคู่สัญญากระทำผิดสัญญาทั้งในส่วนการติดตั้ง Software ภายใต้เครื่องหมายการค้า Gfin ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ไม่ครบตามทีโออาร์และข้อเสนอของบริษัทคู่สัญญาโดยติดตั้งเพียงจำนวน 6 License เท่านั้น มีผลทำให้กล้องสามารถบันทึกภาพได้เพียง 6 กล้อง ไม่สามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดชนิด IP NETWORK Camera ได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 16 กล้อง ตามที่ TOR กำหนด รวมถึงไม่ได้ออกแบบหรือตั้งค่าโปรแกรม ให้สามารถดูภาพผ่าน Web Browser ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง สพป./สพม. ตามทีโออาร์ ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของการจัดซื้อกล้อง CCTV ตามโครงการฯ
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม พบว่า ในข้อกำหนดในทีโออาร์ มีการระบุในข้อ1.2.2 ว่า "สามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด ชนิด IP NETWORK Camera ได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 16 กล้อง"
แต่ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทดสอบเครื่องมือ พบว่า ไม่สามารถนำกล้องไปติดตั้งเพิ่มได้เนื่องจากเครื่องบันทึกความสามารถในการบันทึกได้แค่ 6 กล้องตามที่ติดตั้งไว้เท่านั้น นอกจากนี้เครื่องบันทึกเมื่อติดตั้งเสร็จทั้งระบบแล้วและเปิดใช้งานจริง จะต้องบันทึกภาพได้ในน้อยกว่า 16 กล้องทุกเวลา แม้ว่าในปัจจุบันจะติดตั้งไว้แค่ 6 กล้องก็ตาม
และยังมีข้อมูลปรากฎว่า การติดตั้งเครื่องบันทึกภาพแบบ PC Base NVR ซึ่งจะต้องติดตั้งโปรแกรมบริหารจัดการให้กับเครื่องบันทึก ซึ่งตามสัญญานี้จะต้องติดตั้งโปรแกรมให้กับเครื่องบันทึกจำนวน 16 License แต่เอกชนคู่สัญญาตัดตั้งให้เพียง 6 License เท่านั้น ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคตจะไม่สามารถเพิ่มกล้องเข้าไปในระบบได้อีก
ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาฯ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า นอกเหนือจากปัญหาข้อกำหนดความสามารถบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด ชนิด IP NETWORK Camera ได้ จำนวนไม่น้อยกว่า 16 กล้อง ดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อกำหนดในทีโออาร์อีกหลายส่วนที่ต้องดูว่า มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขทีโออาร์เพิ่มเติมหรือไม่ อาทิ การออกแบบระบบเน็ตเวิร์คภายในโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เพียงพอกับการเชื่อมต่อระบบควบคุมกล้อง CCTV ตามทีโออาร์ ข้อ 4 รวมไปถึง การออกแบบ หรือติดตั้งโปรแกรม ให้สามารถดูภาพผ่าน Web Browser ในทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง สพป./สพม. ตามทีโออาร์ข้อ 5 ด้วย
สอง : ข้อกำหนดในสัญญาจ้างงาน
เมื่อการทำงานของเอกชนคู่สัญญา ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในทีโออาร์จ้างงาน มีเงื่อนไขข้อบังคับอะไรบ้างที่เอกชนคู่สัญญาต้องปฏิบัติตาม เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาในลำดับถัดไป
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบสัญญาซื้อขายกล้อง CCTV ในโครงการนี้ ระหว่างเอกชนคู่สัญญารายหนึ่ง กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดแห่งหนึงในภาคใต้ พบว่า มีการระบุเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่อง ในข้อ 7 ว่า ผู้ขายยอมรับประกันความชำรุดบกพร่อง หรือขัดข้องของสิ่งของตามสัญญานี้เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ซื้อได้รับมอบ โดยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวหากสิ่งของตามสัญญานี้เกิดชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องอันเนื่องมาจากการใช้งานตามปกติ ผู้ขายจะต้องจัดการแก้ไขให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีดังเดิม ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้ซื้อ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะที่ในสัญญากำหนดให้เอกชนนำหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกันธนาคารมาวางไว้ในวงเงิน ร้อยละ 5 ของมูลค่าราคางานตามสัญญาจ้างแต่ละสัญญา โดยราชการจะคืนให้เมื่อพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาแล้ว
ส่วนการบอกเลิกสัญญา กำหนดไว้ในข้อ 9 ว่า เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญา ถ้าไม่สิ่งมอบหรือส่งมอบไม่ถูกต้อง ไม่ครบจำนวน ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้
"..ในกรณีที่ผู้ซื้อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ซื้อมีสิทธิริบหลักประกัน หรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันตามสัญญา เป็นจำนวนเงินทั้งหมด หรือแต่บางส่วนก็ได้แล้วแต่ผู้ซื้อจะเห็นสมควร และถ้าผู้ซื้อจัดซื้อสิ่งของจากบุคคลอื่นเต็มจำนวนหรือเฉพาะจำนวนที่ขาดส่ง แล้วแต่กรณีภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันบอกเลิกสัญญา ผู้ขายจะต้องชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อนี้ด้วย..."
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างงานโครงการนี้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากระบวนการทำงานของกระทรวงศึกษา และสพฐ. ต่อกรณีนี้ โดยใช้เงื่อนไขปัจจัยเรื่องเวลามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ จะพบข้อเท็จจริง ดังนี้
1. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ยืนยันว่า ปัญหาการจัดซื้อกล้อง CCTV ร.ร.ภาคใต้นั้น มีการร้องเรียนหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตนในฐานะที่เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รวบรวมเอกสารหลักฐานรายงาน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับทราบแล้ว และ รมว.ศธ.ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2560 กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 คณะกรรมการสืบสวนฯก็ได้สรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงและรายงานเสนอต่อ รมว.ศธ.ว่ามีข้าราชการจำนวนหนึ่งเข้าข่ายกระทำความผิด และเห็นควรส่งเรื่องให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ดำเนินการ
จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวจะเห็นว่า แม้ปัญหาเรื่องกล้อง CCTV ดังกล่าวจะมีการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2558 แต่กระทรวงศึกษาฯ เพิ่งจะมีการสรุปผลสอบเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2560 ขณะที่ สพฐ.มีการรายงานเรื่องให้กระทรวงศึกษารับทราบในช่วงเดือน ธ.ค.2560 ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกเอกชนคู่สัญญาไปแล้ว หลังจากที่แจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญา แต่เพิกเฉยไม่ดำเนินการภายในกำหนด และเตรียมที่จะแจ้งริบหลักประกันตามสัญญาด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ พบว่า สพฐ. ได้ทำหนังสือแจ้งเอกชนคู่สัญญาให้ดำเนินการตามสัญญาให้ครบถ้วน พร้อมแก้ไขความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์ ในช่วงกลางเดือน พ.ค. และมิ.ย. 2560
2. สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า สัญญาว่าจ้างงานกับเอกชนโครงการนี้ มีการลงนามเป็นทางการในช่วงต้นเดือนธ.ค.2558 กำหนดจ่ายเงินส่งมอบงานงวดสุดท้ายภายในวันที่ 1 มิ.ย.2559
หากเปรียบเทียบเงื่อนเวลาการรับประกันงาน ตามที่ระบุว่าในสัญญา คือ 1 ปี การที่ สพฐ. ทำหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญา ให้ดำเนินการตามสัญญาจ้างให้ครบถ้วน พร้อมแก้ไขความชำรุด บกพร่องของอุปกรณ์ ในช่วงกลางเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2560 เป็นช่วงเวลาใกล้เคียง กับช่วงครบการรับประกันงานตามสัญญาจ้างที่กำหนดไว้ไปแล้วอย่างมาก
ในกรณีที่ผ่านพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญาแล้ว อาจมีผลทำให้เอกชนไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามสัญญาจ้างให้ครบถ้วน พร้อมแก้ไขความชำรุด บกพร่องของอุปกรณ์ ตามที่ สพฐ. แจ้งไปได้?
และนั้นอาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเมื่อถูกสพฐ.ทำหนังสือแจ้งถึง เอกชนคู่สัญญาถึงเพิกเฉย ไม่ดำเนินการชดใช้ความเสียหายจากการดำเนินการตามสัญญาดังกล่าวด้วย เพราะไม่มีผลผูกพันอะไรอีกแล้ว?
และอาจนำมาซึ่งข้อสังเกตสำคัญว่า ทำไมกระทรวงศึกษา และ สพฐ.ถึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบประมาณปี 2561 แผนงานพื้นฐานด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ผลผลิตผู้จบการศึกษาภาคบังคับ กิจกรรมการจัดการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นสำหรบโรงเรียนปกติ งบดำเนินงานวงเงิน 14,715,001 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตาม โครงการ Safe Zone School ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเอง
ส่วนวิธีการนี้ จะถูกต้องเหมาะสมหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งว่า ปัญหาเรื่องกล้อง CCTV ร.ร.ภาคใต้ มีการร้องเรียนมาตั้งแต่ช่วงปี 2558 แล้ว
คำถามคือ เมื่อการร้องเรียน มีปัญหาเกิดขึ้นตั้งนานแล้ว ทำไม กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. นั่งทำอะไรกันอยู่ ถึงไม่รีบเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาตั้งแต่ช่วงแรก โดยเฉพาะการรีบแจ้งให้เอกชนคู่สัญญามาดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่กลับปล่อยระยะเวลาทิ้งมายาวนานเป็นปี ถึงค่อยตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2560?
เพราะข้อเท็จจริงส่วนนี้ จะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์สำคัญ ที่ช่วยยืนยันให้เห็นภาพชัดเจนว่า ข้อกล่าวอ้างของตัวแทนครูใต้ ที่ระบุว่า มีนายทหารเข้าแทรกแทรง ข่มขู่ ครูในพื้นที่จัดหวัดชายแดนใต้ ที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและกรรมการตรวจรับงานกล้อง CCTV ของสพฐ. เพื่อให้ตรวจรับงานที่ไม่ตรงตามทีโออาร์
และมีคนใหญ่คนโตในกระทรวงศึกษาธิการ มีส่วนรู้เห็นให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง มีน้ำหนักเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด?