แป๊ะเจี๊ยะ สินบน บริจาคเข้าโรงเรียนหลักแสน กับพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน
แม้ตามหลัก รับ "แป๊ะเจี๊ยะ" ทำไม่ได้ แต่กับเงินบริจาค ยังมีช่องว่างอยู่ อย่างโรงเรียนสาธิต เป็น Common Knowledge รู้กันว่า อย่างน้อยก็ล้านหนึ่ง จ่ายเงินให้โรงเรียนไม่มีใครมองเป็น "แป๊ะเจี๊ยะ" มองเป็นการระดมทุน ทำกิจกรรม เป็นเรื่องการระดมทรัพยากรของโรงเรียน ทุกคนก็ยอมรับ แม้ไม่ได้เป็น "แป๊ะเจี๊ยะ" แต่เป็นการใช้เงินพิเศษ
กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษามาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยมีพลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการ พร้อมกับมีการเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจให้เจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชน ทราบถึงความผิดและบทลงโทษ ว่า การให้สินบน มีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับสินบน ตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.ลุยตรวจ'แป๊ะเจี๊ยะ'ปี61 บริจาคเงินให้เด็กเข้าเรียนถือว่าติดสินบนผิดทั้งผู้ให้ผู้รับ)
นักวิจัยด้านการศึกษาท่านหนึ่งได้ให้มุมมองต่อกรณีดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แค่ ป.ป.ช. ออกมาทำให้ดูขึงขังขึ้น เป็นการปรามมากกว่า เหมือนป.ป.ช. ไปดูรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ประจำปี 2017 เปิดเผยข้อมูลความเห็นของคนไทยว่าการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการของรัฐและบริการของโรงเรียน เป็นปัญหาลำดับต้น ๆ สมควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แล้วก็มาทำขึงขัง
"อย่างที่เรารู้กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตสามารถรับเงินบริจาคเพื่อพัฒนาการศึกษาได้ แต่ต้องมีใบเสร็จมีอะไรที่ชัดเจน เพียงแต่ว่า ตามหลักการไม่ให้ใช้จ่ายเงินเพื่อแลกกับการได้รับโควตาพิเศษให้บุตรหลานได้เข้าเรียน ในทางปฏิบัติอาจเข้าไปตรวจสอบยาก เพราะบางแห่งเรื่องของการบริจาคเพื่อการศึกษา สามารถได้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ซึ่งก็ทำถูกกฎหมาย"
ยกตัวอย่างกรณีโรงเรียนสามเสนที่ตกเป็นข่าว เหตุเพราะไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีสมาคม ผู้อำนวยการรับเงินโดยไม่มีใบเสร็จ อย่างนี้ก็ผิดเต็มๆ แต่หากรับเงินบริจาค มีใบเสร็จชัดเจน นำเงินเข้าระบบ ก็อ้างได้ว่า บริจาคเพื่อพัฒนาโรงเรียน ฉะนั้น คำว่า เงินบริจาค จึงก้ำกึ่ง บางกรณีเป็นเรื่องสมยอมทั้งผู้ให้และผู้รับ การให้ผู้ปกครองกรอกตัวเลขบริจาค ซึ่งก็ต้องไปดูว่า มีผลต่อการได้รับโควตาพิเศษให้บุตรหลานเข้าเรียนหรือไม่
ปัญหาเรียกรับ "แป๊ะเจี๊ยะ" ภายในสถานศึกษา ผิดทั้งผู้ให้ผู้รับ นักวิจัยด้านการศึกษา มองว่า ที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีผู้ให้สินบนถูกทำโทษเลย มีบ้างที่เอาผิดกับผู้รับสินบน แต่ก็นานๆที ขณะเดียวกันนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ แต่ละยุค แต่ละรัฐมนตรี เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา บางสมัยห้ามรับแป๊ะเจี๊ยะไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น บางสมัยเปิดโอกาสให้โรงเรียนรับเงินได้เพื่อให้เด็กเข้าเรียน ซึ่งในทางปฏิบัติโรงเรียนจะมีโควต้าอยู่แล้ว เช่น โควต้าศิษย์เก่า ผู้สนับสนุนโรงเรียน ทางปฏิบัติจึงค่อนข้างยาก เด็กที่ไม่ได้มาจากการสอบ มาทางไหน เราแค่รู้ว่า ไม่ได้เป็นเด็กที่มาจากการสอบ"
"ปัญหาเรียกรับ "แป๊ะเจี๊ยะ" แก้ไขยาก เพราะกฎกระทรวงศึกษาธิการก็ยังเปิดให้รับเงินบริจาค เรามีหลักให้โรงเรียนแต่ละแห่งลดการพึ่งพาจากรัฐ สามารถระดมทรัพยากรได้ ยิ่งโรงเรียนดังๆ ก็มีการสนับสนุนจำนวนมาก แม้ตามหลัก รับ "แป๊ะเจี๊ยะ" ทำไม่ได้ แต่กับเงินบริจาค มองว่า ยังมีช่องว่างอยู่"
หรืออย่างโรงเรียนสาธิต เป็น Common Knowledge รู้กันว่า อย่างน้อยก็ล้านหนึ่ง จ่ายเงินให้โรงเรียนไม่มีใครมองเป็น "แป๊ะเจี๊ยะ" มองเป็นการระดมทุน ทำกิจกรรมของโรงเรียน เป็นเรื่องการระดมทรัพยากรของโรงเรียน
ทุกคนยอมรับ แม้ไม่ได้เป็นเงิน "แป๊ะเจี๊ยะ" แต่เป็นการใช้เงินพิเศษ
เขายังให้ความเห็นทิ้งท้าด้วยว่า การเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนเพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา เป็นพื้นที่ที่ไม่ชัดเจน ที่ผิดจริงๆ คือ โต้งๆ จ่ายเงินแลกที่ นะผิด แต่หากจ่ายเงินเข้าสมาคม ลูกเข้าเรียนได้ มีใบเสร็จ ถามว่า ผิดหรือไม่
ฉะนั้น ต้องเอาให้ชัดเจน แบบไหนเรียกว่า สินบน บริจาค ระดมทรัพยากร หรือแป๊ะเจี๊ยะ เอาความชัดเจนตรงนี้ให้ได้ก่อน
แป๊ะเจี๊ยะหลักแสน แย่งเก้าอี้นักเรียน
ทั้งนี้ มีกรณีตัวอย่างการคอร์รัปชันในวงการการศึกษาไทย "แป๊ะเจี๊ยะหลักแสน แย่งเก้าอี้นักเรียน" หนึ่งใน 35 กรณีศึกษาที่อยู่ในหนังสือ 'เมนูคอร์รัปชัน และการแสวงหาผลประโยชน์' จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ความน่าสนใจ เมนูคอร์รัปชันฯ ในหนังสือเล่มนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า การทุจริตเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ในสถาบันการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นปัญหาสําคัญในสังคมไทย เพราะคุณภาพของโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมาก ทําให้เกิดการแย่งชิงที่นั่งในโรงเรียนที่ ‘มีชื่อ’ และคุณภาพสูง
‘อาการ’ ของความไม่เท่าเทียมดังกล่าวแสดงออกผ่านการกวดวิชาเพื่อสอบแข่งขันเข้าโรงเรียน หรือที่เรียกว่า ‘แป๊ะเจี๊ยะ’
การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะของผู้ปกครองเพื่อให้ลูกหลานได้เข้าเรียนนั้นเกิดขึ้นในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ในสังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียนในสังกัดสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ
มีตัวเลขในปีการศึกษา 2555 สพฐ. ระบุว่า รายชื่อโรงเรียนในสังกัดที่มีการแข่งขันสูงทั้งหมด 280 แห่ง
และนี่คือ Info Graphic "แป๊ะเจี๊ยะโรงเรียน A: กั๊กเก้าอี้เรียกรับเงิน" ให้เห็นว่า กั๊กเก้าอี้ เรียกรับเงิน ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร....
ที่มาภาพ:http://www.anticorruption.in.th