สภาวิชาชีพการแพทย์ยื่นหนังสือขอให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์
ภาคีสภาวิชาชีพทางการแพทย์ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, ประธาน สนช. และ รมว.วท. เรียกร้องสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่ สนช.กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อแก้ปัญหาการใช้เครื่องเอกซเรย์ทางการแพทย์ พร้อมระบุ ท่าที วท.ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กำลังแก้ไข ซึ่งจะทำให้การแก้ไขกฎหมายของ สนช.ล่าช้าลง
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 นายกทันตแพทยสภา, นายกสัตวแพทยสภา, ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประเด็นที่ยื่นหนังสือคือต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้สนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ที่ทาง สนช.ได้ดำเนินการและร่างเอาไว้แล้วเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้เครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพและจะส่งผลถึงประชาชนที่มารับบริการอย่างกว้างขวาง
ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก สนช.ได้ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติฯ ซึ่งจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมของ สนช. ตามขั้นตอนจะต้องผ่านการพิจารณาจากวิปของ สนช.ก่อน ซึ่งในที่ประชุมวิปมีผู้แทนรัฐบาลอยู่ด้วยซึ่งไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน ที่ประชุมจึงต้องส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าไปพิจารณาในที่ประชุมวิปของรัฐบาลก่อน ขณะเดียวกันทราบว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ สนช.กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้การดำเนินการมีความล่าช้า เกิดปัญหาอุปสรรค จนไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้
“ด้วยเหตุนี้ สภาวิชาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้องเห็นว่ากี่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างชัดเจนและกำลังจะทำให้เกิดความล่าช้าเกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการแก้ไข ดังนั้นสภาวิชาชีพทั้งทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภาและองค์กรที่เกี่ยวข้องจึงได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้การสนับสนุนให้การแก้ไขกฎหมายนี้ตามร่างที่ สนช.ได้ร่างไว้ก่อน และขอให้พิจารณาโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น”
นายกทันตแพทยสภา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในระหว่างการพิจารณา ขอให้ออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางการแพทย์ทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพและโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไป สามารถดำเนินการได้เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนที่มารับบริการ