กรุงไทยผนึกกรมบัญชีกลางเดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
'กรุงไทย' ลงนามร่วม 'กรมบัญชีกลาง' เดินหน้าโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ปรับระบบเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอกข้าราชการ 5 ล้านคน โดยใช้บัตรประชาชนทำธุรกรรมผ่านเครื่อง 'EDC' เพิ่มความสะดวก-รวดเร็ว-ลดปริมาณเอกสารทางการเงิน
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ลงนามในสัญญาดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อปรับระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกของข้าราชการและครอบครัวจำนวนประมาณ 5 ล้านคน จากแบบเดิมมาเป็นการใช้บัตรประชาชนทำธุรกรรมผ่านเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ทำให้การใช้สิทธิ์เบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และลดปริมาณเอกสารทางการเงิน อันเป็นหนึ่งในโครงการที่ร่วมผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล
นายผยง ศรีวณิช เปิดเผยว่า ธนาคารมีความพร้อมในการดำเนินโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยจะติดตั้งเครื่อง EDC ประมาณ 5,600 เครื่อง ที่สถานพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 1,300 แห่ง ซึ่งสามารถเรียกดูรูปถ่ายและเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้สิทธิ์ได้ทันที นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิ์ไม่ต้องลงทะเบียนเข้าโครงการกับสถานพยาบาล และยังคงสามารถใช้สิทธิ์เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของราชการเช่นเดิม
“ธนาคารกรุงไทย มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการนำเสนอบริการและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของ 5 Ecosystem ที่เป็นเป้าหมายหลักของธนาคารที่จะมุ่งเน้นในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (Government) กลุ่มสวัสดิการของรัฐ (Welfare) กลุ่มด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล (Health and Medical) กลุ่มมหาวิทยาลัย โรงเรียน นักศึกษาและนักเรียน (University and Education) และระบบขนส่ง (Mass Transit) ตามแผนยุทธศาสตร์ Future Banking ของธนาคาร”
นายผยง ศรีวณิช กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการนั้น เป็นอีกหนึ่งเมกะโปรเจคท์ต่อจากโครงการบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย 11.6 ล้านใบ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 27 มีนาคมนี้เป็นต้นไป โดยธนาคารมีความพร้อมในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ที่ต้องการอำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน ในการชำระเงินค่าบริการต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ โดยไม่ต้องพกพาเงินสด และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐและเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่สนับสนุนภารกิจของกระทรวงการคลังในการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด