เมื่อสตง. ถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำพิษสุนัขบ้าระบาด
ประเด็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "ไม่กล้า" ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง เมื่อค้นข้อมูลย้อนหลังไปปี 2557-2561 พบ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีการจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ หรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แค่ 3 รายการ
ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ในช่วงปลายปี 2557 และมีการกล่าวอ้างว่าทำให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 1-2 ปี จนเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงปี 2560 นั้น
ประเด็นดังกล่าว นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงว่า สตง. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด หลังจากที่กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535
ในช่วงเดือนมกราคม 2558 สตง. ได้มีการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค รวมทั้งผู้แทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
จนกระทั่งต่อมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0891.3/ว 1203 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 เรื่อง การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดว่า จากการประชุมร่วมกันของผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นสอดคล้องกันว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่สามารถดำเนินการป้องกันและควบคุม โรคพิษสุนัขบ้าให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทางจังหวัดก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ โดยอ้างผลจากการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าต่อไป
“ การกล่าวอ้างว่าการทักท้วงของ สตง. มีผลทำให้การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องหยุดชะงักเป็นเวลา 1-2 ปี จนเป็นเหตุทำให้เกิดการแพร่ระบาดในช่วงปี 2561 จนถึงปัจจุบัน น่าจะคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง เนื่องจาก สตง. มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ในขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นก็ได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันแล้ว ” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่องเสร็จที่ 442/2558 แล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า แต่เนื่องจากยังไม่มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและระงับโรคติดต่อตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้มีการกำหนดให้นำแนวทางปฏิบัติตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท 0891.3/ว 1203 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ดังกล่าวข้างต้นมาใช้ไปพลางก่อน ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้มีการหารือร่วมกันระหว่าง สตง. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
1) ประเด็นการจัดหาวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดหาวัคซีน โรคพิษสุนัขบ้า เพื่อการป้องกันและระงับโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อ ต้องแจ้งความตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2535 โดยดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 5 เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องเสียค่าธรรมเนียม ยกเว้นกรณีมีการประกาศเขตป้องกันและการแพร่ของโรคฯ ของอธิบดีกรมปศุสัตว์ ตามมาตรา 17 เจ้าของสัตว์ควบคุมไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
2) กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับประกาศ หรือมีคำสั่งเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานสาธารณสุขอันเนื่องจากการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่จะเกิดกับคนหรือสัตว์ ซึ่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2523 กำหนดให้คนหรือสัตว์ได้รับการป้องกัน และสามารถจัดหาและให้เครื่องอุปโภค รวมถึงการจัดหาเวชภัณฑ์หรือเคมีภัณฑ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงสามารถจัดหาและให้วัคซีนเพื่อป้องกันและระงับพิษสุนัขบ้าทั้งกับสัตว์ที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
3) ประเด็นการจัดหาและให้วัคซีนกับสัตว์ควบคุมที่ไม่มีเจ้าของหรือเจ้าของไม่แสดงตนนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ โดยทำให้สัตว์ควบคุมนั้น “ตกเป็นสัตว์ของราชการส่วนท้องถิ่น” ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ยังให้อํานาจกับเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการทําลายสัตว์ควบคุมนั้นได้
4) สำหรับสัตว์ควบคุมที่มีเจ้าของ เจ้าของควรต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์และสังคม รวมถึงความรับผิดชอบต่อการให้ยาคุมกำเนิดของสัตว์ควบคุม หรือให้ความยินยอมต่อหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะกรณีของประชาชนยากจนที่ไม่สามารถรับผิดชอบภาระนั้นได้ สำหรับสัตว์ควบคุมที่ไม่มีเจ้าของ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการตามแนวทางวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 442/2559 นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังสามารถทำหมันคุมกำเนิดสัตว์ควบคุมได้เพื่อเป็นการป้องกันและระงับโรคติดต่อ
5) การดำเนินการทุกกรณีที่กล่าวมาข้างต้นต้องมีระบบควบคุมภายในที่ดี สามารถตรวจสอบได้ เช่น ต้องมีทะเบียนสัตว์ควบคุมในเขตพื้นที่รับผิดชอบ มีทะเบียนคุมสัตว์ควบคุมที่ไม่มีเจ้าของที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเก็บรักษาวัคซีนอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ผู้ฉีดวัคซีน เป็นต้น และต้องมีวินัยทางการเงินการคลังเพื่อการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
6) กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0810.5/ว 0120 ลงวันที่ 12 มกราคม 2560 กำหนดแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางที่ สตง. ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ และ สตง. ก็มีข้อเสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามหนังสือฉบับดังกล่าว
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และ สตง. ได้เสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามแนวทางข้างต้น
สำหรับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "ไม่กล้า" ที่จะดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากเกรงว่าจะถูกทักท้วงจาก สตง. นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ สตง. จะต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในเบื้องต้นจะได้มอบหมายให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบต่อไป
ตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้าง ท้องถิ่นไม่กล้า ซื้อวัคซีนจริง
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ประเด็นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น "ไม่กล้า" ที่จะดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า จากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ของสตง. เมื่อค้นข้อมูลย้อนหลังไปปี 2557-2561 พบว่า
องค์กรปกครองท้องถิ่น มีการจัดซื้อจัดจ้างเวชภัณฑ์ หรือวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แค่ 3 รายการ ดังนี้
-13 ส.ค. 58 - 11 ต.ค. 58 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดซื้อเวชภัณฑ์สำหรับโครงการส่งเสริม ป้องกัน-ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 2รายการ จาก หจก.อัศวราชันย์ วงเงิน 1.8 ล้านบาท
- 28 ก.ย. 58 - 28 ต.ค. 58 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง จัดซื้อซื้อวัสดุเคมีภัณฑ์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ควบคุมกำจัดโรคไข้หวัดนก จากคณะบุคคลคณะสิริกร วงเงิน 1.9 ล้านบาท
- 6 ก.ค. 60 - 21 ก.ค. 60 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านพร้อมอุปกรณ์ในการฉีด จากบจก.อาณาจักร สหอินเตอร์ วงเงินกว่า 1.6 ล้านบาท
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ปี 2558-2560 สำนักอนามัย มีการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งจากบริษัท ไบโอจีเทค จำกัด บริษัท เวท อินเตอร์เทรด จำกัด
ส่วนกรมปศุสัตว์
- 18 มิ.ย. 58 - 17 ก.ค. 58 สำนักงานปศุสัตว์เขต 3 จัดซื้อวัคซีนจำนวน 1 รายการ (วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ) จาก บ.โปรนาวิน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด วงเงิน 1.7 ล้านบาท
- 11 ก.ย. 58 - 25 ก.ย. 58 สำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดสมุทรปราการ จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัสดุวิทยาศาสตร์จำนวน 6 รายการ จาก บ.วิกรมวาณิช จำกัด วงเงิน 109,800 บาท
- 12 ม.ค. 59 - 12 มี.ค. 59 กรมปศุสัตว์ จัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ขนาดบรรจุขวดละ 1 ซีซี. 1,000,000 ขวด จากบ.โปรนาวิน เอ็นเตอร์ไพรส์ วงเงินกว่า 14 ล้านบาท
- 20 ก.พ. 60 - 21 เม.ย. 60 กรมปศุสัตว์ จัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ขนาดบรรจุขวดละ 1 ซีซี 1,000,000 ขวด จากบ.เวท อะกริเทค จก. วงเงินกว่า 14 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อปท.เสนอแก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบล เปิดช่องซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้า
ภาพประกอบ: http://www.thaihealth.or.th