เปิดปูมประวัติผู้จดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่สัปดาห์ 2-เลือกตั้งเร็วที่สุดต้นเดือน ธ.ค.61?
เปิดปูมประวัติผู้จดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่เป็นสัปดาห์ที่ 2 วิเคราะห์กำหนดเวลารับสมัคร-ตรวจสอบคุณสมบัติพรรคการเมืองใหม่ 30+180 วัน ชี้ไทยมีเลือกตั้งถ้าเร็วที่สุดคือ ต้น ธ.ค. 2561?
หลังจากที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ 42 พรรค เพื่อลุยสู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึง ว่าบรรดาผู้เกี่ยวข้อง ผู้ที่มาจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ว่า เป็นใครกันบ้าง (อ่านประกอบ:สแกน42ว่าที่พรรคการเมืองใหม่ จัดกลุ่ม-แยกสเปค ใครอยู่สายไหนบ้าง?)
ล่าสุดความเคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 2 ที่ กกต.ได้เปิดให้กลุ่มการเมืองที่สนใจเข้ามาจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ พบว่า มีผู้ที่มาสนใจจดทะเบียนพรรคการเมืองอีก 13 กลุ่ม ทำให้ยอดรวมผู้จดทะเบียนพรรคการเมืองกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนถึงขณะนี้ เพิ่มเป็น 55 พรรคการเมืองแล้ว
สำรวจรายละเอียดพรรคการเมืองใหม่ 13 กลุ่มที่เพิ่มขึ้นมา ปรากฎข้อมูลดังต่อไปนี้
พรรคพลังปวงชนไทย จดทะเบียนโดยนายพันธุ์ศักดิ์ ซาบุ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) โดยจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นลำดับที่ 43
พรรคพัฒนาประเทศไทย จดทะเบียนโดยนายอติโรจ บุญใย รองประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองในลำดับที่ 44
พรรคไทยธรรม มีผู้จดทะเบียนคือนายอโณทัย ดวงดารา กรรมการมูลนิธิพระมหาสง่า วีรัปปัญญาโณโดยจดทะเบียนพรรคเป็นลำดับที่ 45
พรรคพลังแรงงานไทย มีนายพิเชษฐ ภูแก้ว ข้าราชการครูบำนาญ โดยจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 46
พรรคพัฒนาแผ่นดิน จดทะเบียน โดยนายประเสริฐ เลิศยะโส อดีต ส.ส.บุรีรัมย์ จากพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย เป็นลำดับที่ 47 ซึ่งนายประเสริฐ เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่หลายครั้ง
พรรคผึ้งหลวง ผู้ยื่นคำขอคือ นายวิษณุ แผลงประพันธ์ ประธานกลุ่มกองทุนพัฒนาเกษตรกรไทยสู่สากล (กทพส.) โดยจดทะเบียนในลำดับที่ 48
พรรคประชารัฐยั่งยืน ผู้ยื่นคำขอคือ นายปิยะนัฐ ประเสริฐนู โดยขอจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 49
พรรคพลังสตรี ผู้ยื่นคำขอคือ น.ส.ณฐมน ฐิติชญานัน โดยจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 50
พรรคเพื่อฅนไทย ยื่นขอจดทะเบียนโดยนายสุรพจน์ เพชรกรรพุมอดีต คณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในสมาชิกวุฒิสภา เป็นลำดับที่ 51
พรรคภูมิพลังเกษตรไทย ยื่นขอจดทะเบียนโดยนายสมัคร พรมวาด ผู้ถือหุ้น บริษัท เลิร์นนิ่ง คอมเพล็กซ์ จำกัด เป็นลำดับที่ 52
พรรคประชาธรรมไทย ยื่นขอจดทะเบียนโดยนายพิเชษฐ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นลำดับที่ 53
พรรคมติประชา ผู้ยื่นคำขอ นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัยยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 54 อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้นายอนุชิตได้เคยยื่นคำขอจดทะเบียนพรรคประชามติ เป็นลำดับที่ 29 กับทาง กกต.มาก่อนแล้ว
และพรรคไทยสาธุชน มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนคือนายดวงใจ เชื้อคำเพ็ง หัวหน้าคณะชาวพุทธแห่งประเทศไทย โดยจดทะเบียนเป็นลำดับที่ 55
นอกจากความเคลื่อนไหวด้านการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ดังกล่าว ยังมีความเคลื่อนไหวจากทาง กกต.ด้วยเช่นกัน เมื่อทางด้านของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ ก.ก.ต.ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่าวันไหนที่คนไทยจะรู้แน่ชัดว่าในการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะมีพรรคการเมืองอะไรเข้าสู่สนามเลือกตั้งบ้าง
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา นำเอากำหนดเวลาดังกล่าวมาคำนวณเพิ่มเติมว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งเร็วสุดคือเมื่อไร
ทั้งนี้ ถ้าคิดตามกรอบเวลาแล้ว หลังจากกลุ่มการเมืองที่มีความสนใจจะยื่นจดทะเบียนพรรคการเมือง ทาง กกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นก่อนว่ามีความเหมาะสมจะจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยต้องใช้เวลาภายใน 30 วัน ประสานไปยัง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กรมราชทัณฑ์ สำนักงานกพ. ศาลยุติธรรม สำนักงานเลขาวุฒิสภา ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าผู้จัดตั้งเคยต้องคดี เคยมีประวัติอาชญากรรม หรือเคยล้มละลายหรือไม่
หลังจากที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น ก็จะมีการออกใบหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้กลุ่มการเมืองใช้เวลาภายใน 180 วัน ในการจัดหาสมาชิกพรรค ทุนประเดิมพรรคเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต่อไป ถ้าหากไม่สามารถทำตามกำหนดเวลานี้ได้ ก็จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าได้ เช่นเดียวกันสำหรับพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม ในวันที่ 28 มี.ค. ก็จะต้องไปรายงานตัวกับ กกต.ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมตามกฎหมายหรือไม่
ดังนั้น หากคำนวณเบื้องต้นแล้ว วันสุดท้ายที่ กกต.จะเปิดรับจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่คือวันที่ 31 มี.ค. เมื่อบวกกับทั้งระยะเวลาตรวจสอบเบื้องต้น 30 วันและบวกกับ 180 วัน ที่ กกต.ให้เวลาพรรคการเมืองทำตามกฎหมายใหม่ ก็จะได้คำตอบว่าไม่เกินวันที่ 27 ต.ค. 2561 คนไทยจะได้เห็นแล้วว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้นจะมีพรรคการเมืองทั้งสิ้นกี่พรรคลงแข่งขันกัน
และถ้ามองตามเงื่อนเวลานี้ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่การเลือกตั้งระดับชาติจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย. ปี 2561 เพราะระยะเวลานั้นกระชั้นชิดมาก ไม่น่าจะเพียงพอทั้งต่อการเตรียมสมาชิกพรรคการเมืองและการหาเสียงสู้ศึกเลือกตั้ง เพราะอย่างน้อยการเตรียมการหาเสียงก็น่าจะใช้เวลา 1 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ก็น่าจะเป็นในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2561
อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้นำเอากรอบเวลาของ กกต.มาเป็นเครื่องมือคำนวณระยะเวลาที่จะมีการเลือกตั้งเท่านั้น ยังไม่ได้เอาปัจจัยอื่นๆ อาทิ ปัจจัยด้านความสงบสุขเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ปัจจัยด้านการตัดสินใจของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง รวมไปถึงปัจจัยเกี่ยวกับสภาพการณ์ของโลกทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ ซึ่งป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงและส่งผลอย่างไร
ส่วนบทสรุปสุดท้าย วันการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะมีขึ้นเมื่อไรกันแน่ คงต้องรอฟังความชัดเจนจากปากผู้นำของประเทศอีกครั้ง!
อ่านประกอบ:
สแกน42ว่าที่พรรคการเมืองใหม่ จัดกลุ่ม-แยกสเปค ใครอยู่สายไหนบ้าง?