ความรุนแรงในครอบครัว ขยะใต้พรม ที่สวัสดิการรัฐไทยมองไม่เห็น
ความรุนแรงในครองครัว โดยเฉพาะในสังคมไทย คือขยะใต้พรมที่ไม่เคยถูกนำมาชำแหละ ทุกครั้งที่เกิดเหตุแม่ฆ่าลูก เหนือจากการด่าทอว่าใจร้ายแล้ว คำถามว่าระบบสวัสดิการรัฐอยู่ตรงไหนในวันที่พวกเธออ่อนแอ
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนในสังคมและสื่อต่างให้ความสนใจข่าวแม่วัย 21 ปี ที่ผลักลูกตกน้ำจนเสียชีวิต เนื่องจากเครียดที่อดีตสามีไม่เคยส่งเสียค่าเลี้ยงดูลูก
หลายคนมองว่า กรณีนี้โหดเหี้ยมที่แม่แท้ๆ กล้าฆ่าลูกตัวเอง มีกลุ่มคนด่าทอเธอต่างๆ นานา แม้กระทั่งสื่อมวลชนต่างพาดหัว ทั้งแม่ใจยักษ์ แม่ใจร้าย จิตใจอำมหิต กล้าฆ่าลูกแท้ๆ ของตัวเอง ซ้ำยังมีการขุดคุ้ยประวัติของเธออย่างสนุกสนาน
ในงานเสวนา “โศกนาฎกรรมแม่ลูก…บทเรียนและทางออกสังคมไทย” จัดโดย โครงการปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก
"จิตติมา ภาณุเตชะ" นักพัฒนาสังคมอิสระ ให้มุมมองเวลาเกิดเหตุสะเทือนใจลักษณะนี้ สิ่งแรกที่เข้ามาในความคิดคนเรา คือ ต้องหาคนทำผิด เพื่อมารับโทษ และรับผิดชอบต่อความรู้สึกสะเทือนใจ โดยพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงอายุ21ปี ที่ก่อเหตุ
จากนั้นจะรุมประนามพฤติกรรมที่โหดร้ายเกินคนปกติทั่วไป ซึ่งการมองปัญหาระดับปัจเจกบุคคลแบบนี้ อาจทำให้เราสบายใจขึ้น แต่จะไม่ถูกนำไปจัดการแก้ไขเชิงระบบ เนื่องจากเหตุการณ์มีความซับซ้อน มีปัญหาเชิงโครงสร้าง เงื่อนไขของตายาย และแม่เด็ก ที่ต้องออกไปทำมาหากินไม่มีคนดูแลเด็ก อีกทั้งเกิดความกดดันจากการถูกตัดสินของสังคมรอบข้าง ต่อการเป็นแม่วัยรุ่นและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว
“เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนสังคมไทยว่า ขาดระบบการดูแลช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เช่น สถานฝากเลี้ยงและดูแลเด็ก รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสนับสนุนเกื้อกูลครอบครัวพ่อแม่วัยรุ่น เพราะก่อนเกิดเหตุรุนแรง เชื่อว่าต้องมีสัญญาณอันตรายมาก่อน แต่คนรอบข้างคงเฝ้ามองและคิดตัดสินว่าผู้หญิงเป็นคนไม่ดี ไม่ดูลูก แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ
คำถามสำคัญ คือ ทำไมเราปล่อยให้ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กไร้ทางเลือก เพราะมีฐานคิดเพียงแค่ว่า ลูกหลานใครก็เลี้ยงก็ดูแลกันเอง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับพ่อแม่วัยรุ่นหลายครอบครัว ประกอบกับสังคมไทยไม่จริงจังกับการสร้างระบบ เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนรอบข้าง มีทักษะที่ดี ช่วยดูแลสนับสนุนครอบครัวที่ประสบปัญหาอย่างจริงจัง”นางสาวจิตติมา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่ดี
“ เราเป็นผู้หญิง เราคิดอยู่แค่ว่าลูกไม่อยากออกไปลำบากกับเรา กลัวลูกทนไม่ได้ มันเป็นแค่กรอบความคิดเราที่คิดวนๆ เราไม่กล้าคิดอะไรนอกเหนือจากนี้ ไม่กล้าปรึกษาใคร ไม่กล้าให้ใครรับรู้ว่าครอบครัวเราเกิดอะไรขึ้น เพราะเราต้องสร้างภาพว่าเรามีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ต้องอยู่กันครบ ซึ่งเป็นความคิดเราต้องการประคองให้มีพ่อแม่ลูก” เอ (นามสมมติ) อายุ48ปี หนึ่งในเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวสะท้อนความคิดของประสบการณ์จริง
เธอเล่าว่า เดิมครอบครัวอยู่กันแบบปกติ จนวันหนึ่งครอบครัวเกิดปัญหา ถูกสามีต่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีจะลงที่ตนทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้ทำงาน สามีทำงานเพียงคนเดียว
จากการทะเลาะกันเฉยๆกลายเป็นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนลูกเห็นจนชินตา
“วันหนึ่งเราคุยกับลูก ลูกบอกว่าไม่นอนเพราะเป็นห่วงแม่ กลัวแม่จะโดนพ่อทำร้ายตอนดึกๆ คอยนั่งเฝ้าว่าแม่จะร้องไหม จนอาจารย์เรียกไปพบ ถามว่าลูกติดเกมส์ใช่ไหม ทำไมลูกมานั่งหลับทุกวันในเวลาเรียน ซึ่งลูกไม่เคยติดเกมส์เพราะเราอยู่กับเขาตลอดเวลา แต่เราไม่เคยมองว่าลูกคอยเฝ้าตลอด”
สิ่งที่ทำให้เอต้องอดทนต่อพฤติกรรมของสามีมาเกือบสิบปี คือกลัวว่าลูกจะลำบาก แต่ลูกกลับบอกว่าไม่จำเป็นต้องทนอยู่ตรงนี้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คิดได้ว่าสิ่งที่คิดวนมาตลอดสิบปีว่าเราอยู่เพื่อลูก แต่ลูกไม่ได้คิดแบบนั้นเลย ลูกไม่ได้ต้องการพ่อทำงานดีๆ บ้านหลังใหญ่ๆ แต่ลูกแค่ต้องการอยู่ตรงไหนก็ได้ที่มีความสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าแม่จะโดนทำร้าย โดนทุบตี ทั้งๆที่คนที่ทำร้ายคือคนในครอบครัวของเรา
สถิติ 4 ปี ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มตลอด
ขณะที่ "อังคณา อินทสา" ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า นอกจากงานช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ ทุกปีจะมีการนำสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงจากหน้าหนังสือพิมพ์มาเสนอให้สังคมเห็นว่าปัญหาครอบครัวที่เกิดขึ้นเป็นกระจกสะท้อนในมุมไหนบ้าง พบว่าจากข่าวหนังสือพิมพ์ในปี 2555 ปี 2557 และปี 2559 สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 300 กว่าข่าว เป็น 466 ข่าวในปี 2559
อังคณาได้เผยถึงสถิติข่าวฆ่ากันในครอบครัวจากหน้าหนังสือพิมพ์ โดยแบ่งเป็นความสัมพันธ์ 3 แบบ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา คู่รักแบบแฟน และพ่อแม่ลูก พบว่าทุกความสัมพันธ์ฝ่ายชายเป็นผู้กระทำมากกว่าฝ่ายหญิงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
“จริงๆ ผู้ที่กระทำความรุนแรงมากสุดเป็นผู้ชาย มีการฆ่ากันที่รุนแรง แต่พอมีปรากฎการณ์นี้ที่แม่กระทำกับลูก เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมมอง แต่ทำไมเราไม่มองปัญหาให้รอบด้าน
"เราตั้งคำถามกับผู้หญิง ประณามผู้หญิง มองว่าผู้หญิงเป็นแม่ต้องอดทน เรามองว่าการปลูกฝัง การเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกันระหว่างหญิงกับชาย และความคาดหวังของสังคมไทย ความเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูก สร้างความกดดันที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไปสู่การกระทำความรุนแรง เป็นอาชญากรรมตามมาภายหลัง”
เธอได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาโดยใช้กลไกของชุมชน ให้ชุมชนมีที่ให้คำปรึกษา มีศูนย์อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเวลาเกิดปัญหาคงไม่มีกรณีไหนที่นั่งรถเพื่อจะเข้าไปในเมืองเพื่อขอคำปรึกษา ทางมูลนิธิพยายามทำให้มีศูนย์อยู่ในพื้นที่ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามารถคลี่คลายภาวะความกดดันของแม่ทั้งในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวและการช่วยเหลือลูก
มูลนิธิเองเชื่อว่ากลไกนี้สามารถแก้ปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวได้จริงและมีคนที่ช่วยในการติดตาม ลงเยี่ยมและคลี่คลายให้ผ่านพ้นไปได้
จิตติมา ภาณุเตชะ นักพัฒนาสังคมอิสระ ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเรื่องสุขภาพผู้หญิงและสุขภาพทางเพศ มองว่าบทเรียนสำคัญที่ควรตั้งคำถามและขบคิดเยอะๆ คือเราจะออกแบบระบบสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและแม่วัยรุ่นอย่างไรที่จะสอดคล้องกับความต้องการจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้เรามีสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ เช่น มีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดสำหรับแม่ที่ลงทะเบียน ได้เดือนละ 600 บาท แต่ต้องไปจดทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตำบล ต้องไม่มีรถยนต์ ต้องไม่มีรายได้มาก ฯลฯ สวัสดิการนี้ช่วยแก้ความคิดที่ไม่มีทางออกได้อย่างไร เรามีสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ในลักษณะการตั้งรับเพื่อให้ผู้หญิงเข้าไปขอความช่วยเหลือ
แต่เรากลับไม่มีสวัสดิการเชิงรุกที่จะสร้างชุมชนเพื่อเกื้อกูล สนับสนุนและโอบอุ้มปัญหา
กลไกช่วยเหลือที่เข้าไม่ถึง
ถ้าไม่มีกลไกในชุมชนเราจะทำให้ผู้หญิงเข้าถึงกลไกของภาครัฐได้อย่างไร นี่คือคำถามที่อังคณา มองว่าคือโจทย์สำคัญ เพราะบ้านพักเด็ก สำนักงานพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์ก็มีทุกจังหวัด กลไกเหล่านี้คงไม่สามารถที่จะนั่งรอให้เขาเดินเข้ามาได้ จะทำอย่างไรให้เกิดการรู้จักองค์กรเหล่านี้ รู้ช่องทาง เวลาเกิดปัญหาแล้วเขาจำเลขสี่ตัวได้ เขาจำได้ว่าเวลาเกิดปัญหาเขาจะขอความช่วยเหลือได้ หลายคนรู้สึกว่าเวลาเกิดปัญหาต้องเรียกป่อเต๊กตึ๊ง แต่ทำไมเวลาเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวกลับนึกถึงกลไกเหล่านี้ไม่ได้เลย ซึ่งเราจะช่วยประชาสัมพันธ์วิธีการนี้ได้อย่างไร
สอดคล้องกับเอ ที่อยากให้มีการประชาสัมพันธ์วิธีการช่วยเหลือทางสื่อต่างๆเพิ่มขึ้น เนื่องจากเธอเคยประสบปัญหาตำรวจไม่รับแจ้งความเพราะเป็นเรื่องในครอบครัวซึ่งตอนนั้นเธอไม่รู้จักกับมูลนิธิ ไม่เคยรู้ว่ามีกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เธอจำได้ว่าเคยไปแจ้งความสิบกว่าครั้งแต่ได้รับเพียงบันทึกประจำวันแค่ 7 ครั้ง หลังจากได้พบกับมูลนิธิจึงรู้ว่า มีกฎหมายการใช้ความรุนแรงในครอบครัว แต่ทางตำรวจบอกว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีกฎหมายนี้
“อยากจะฝากหน่วยงานของรัฐหรือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือหน่วยงานใดๆก็ตาม อยากให้เขารู้ว่ามีมูลนิธิ แต่เราไม่รู้จะเข้าหามูลนิธิได้อย่างไร เรารู้ว่ามีหน่วยงานที่จะช่วยเราแต่เราจะเข้าไปหาเขายังไง เราไม่รู้จะไปทางไหน ตัวเองอยู่ปริมลฑลแต่ไม่เคยรู้ว่ามีมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สิ่งแรกที่นึกออกได้คือมูลนิธิปวีณา โทรไปให้ตายก็ไม่ติด มูลนิธิอื่นๆที่มีบทบาทช่วยผู้หญิงที่ประสบปัญหาอยากให้ออกสื่อให้เยอะ ประชาสัมพันธ์ให้เยอะ ให้ผู้หญิงทุกคนรับรู้ว่ามีหน่วยงานคอยช่วยเรา ถึงแม้เขาจะไม่ใช่ญาติเราแต่เขาสามารถทำให้เราหาทางออกได้ ทำให้เรามีสติกลับมาได้”
ทำแท้งถูกกฎหมาย ทางออกที่ท้าทายสังคม
การทำแท้งถูกกฎหมายเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการพูดถึงมาตลอด แต่ทุกครั้งมักได้รับแรงเสียดทานจากสังคมมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมุมมองอย่างศีลธรรม ศาสนาที่มักถูกยกมาเสมอ
ทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชน และผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก มองว่า เรื่องการทำแท้งถูกกฎหมายว่าน่าจะเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงนโยบายที่รัฐอาจจะต้องกล้าที่จะตัดสินใจ ไม่อยากให้ใช้คำว่าทำแท้งเสรีแต่ให้ใช้คำว่าทำแท้งถูกกฎหมาย หมายถึงว่าทำแล้วจะปลอดภัย ทุกอย่างผ่านการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็จะมีคนในสังคมจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าจะทำแท้งด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม
“คำถามคือในเชิงนโยบาย เขาจะไปพึ่งใครถ้าเขาตัดสินใจที่จะไม่ทำแท้ง เราไม่ได้บอกว่าให้ทุกคนเดินไปทำแท้งหมด การทำแท้งเป็นเรื่องการตัดสินใจเฉพาะตัว ถ้าคนไหนที่รู้สึกว่าเขาอยากตัดสินใจแบบนี้ สถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับเขาอยู่ที่ไหน เขาสามารถเดินไปได้ไหม ถ้าเขาไม่ตัดสินใจละ สหทัยมูลนิธิ บ้านพักฉุกเฉิน ยินดีที่จะดูแลลูกให้คุณชั่วคราวนะ ทั้งหมดนี้มีเฉพาะในกรุงเทพมหานครไหม จริงๆควรจะมีในทุกๆหนทุกๆแห่งในประเทศไทย แม้ว่าในจังหวัดอื่นจะมีเคสแค่ 2 คน แต่ 2 คนนั้นคือชีวิตนะ ไม่ใช่ว่าจังหวัดเล็กๆไม่ต้องมีก็คงไม่ใช่ แต่จะต้องเสมอภาคกันในเรื่องของโอกาสที่จะเข้าถึงบริการเหล่านี้”
สุดท้ายนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ได้เปิดเผยว่า การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก โดยเป็นสาเหตุสำคัยของการป่วยและตายของมารดา องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46,000,000 คน ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 ล้านคน เป็นการทำแท้งไม่ปลอดภัย และมีสตรีเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยกว่า 70,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์ที่ชัดเจนเนื่องจากผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้จึงหันไปใช้บริการทำแท้งเถื่อน หรือซื้อยายุติการตั้งครรภ์จากอินเตอร์เน็ต
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า กว่า 60 ปีแล้วที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 โดยผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นแพทย์ผู้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิต หรือตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 282, 283, หรือ 284 คือในกรณีดังต่อไปนี้ ถูกข่มขืน เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี การค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม หรือการล่อลวงอนาจาร
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาสถานการณ์บริการสุขภาพที่ให้บริการการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยยังมีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากทัศนคติของสังคมและผู้ให้บริการสาธรณสุขจำนวนมากยังมองเรื่องนี้ในทางลบและต่อต้านการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการของตน กรมอนามัยจึงได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ (RSA : Refernal System for Safe Abortion)
“ผู้มีปัญหาสามารถโทรไปที่สายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 เพื่อรับบริการปรึกษาทางเลือก และส่งต่อดูแลไม่ว่าทางเลือกจะเป็นการตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ รวมทั้งการให้บริการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเครือข่าย RSA มีแพทย์อาสาที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากกรมอนามัยรวม 110 คน และยังมีสหวิชาชีพอาสาจำนวน 262 คน เพื่อให้สตรีไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีรับวันสตรีสากล”นพ.วชิระ กล่าวทิ้งท้าย