กสทช.ชะลอประมูลเน็ตประชารัฐ1.5 หมื่นหมู่บ้าน
หลังบอร์ดดีอี มีมติให้กระทรวงดีอี ดำเนินการเอง พร้อมชะลอปรับโครงสร้าง กสทช.ให้เป็นอำนาจบอร์ดใหม่ตัดสินใจ ส่วนการประมูลคลื่น 900 1800 เมกะเฮิร์ตซ ยังต้องรอกฤษฏีกาตีความอำนาจบอร์ดชุดรักษาการ
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดกสทช.ว่า ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการประมูลการติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐจำนวน 15,733 หมู่บ้าน เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ได้มีมติให้กระทรวงดีอีดำเนินการการติดตั้งเอง โดยนำงบประมาณจากการติดตั้งโครงการในระยะแรก 24,700 หมู่บ้าน ที่มีงบประมาณเหลือ 2,655 ล้านบาท มาดำเนินการ โดยกระทรวงดีอีจะใช้งบประมาณจากเงินที่เหลือ 2,440 ล้านบาท ดำเนินการติดตั้งระหว่างเดือน มี.ค.-ธ.ค.2561
นอกจากนี้ ในส่วนของงบประมาณในการบำรุงรักษาตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี รวมถึงการขยาย โครงข่ายโซน C ไปถึงโรงเรียนทุกโรงเรียนในพื้นที่ที่กสทช. ติดตั้งไปแล้วจำนวน 3,196 แห่ง , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน 812 แห่ง และการตั้งศูนย์ยูโซเน็ต หรือ ศูนยดิจิทัลชุมชน ให้ใช้เงินของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอบอร์ดดีอีนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
“บอร์ดกสทช.ยังได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่ผ่านคณะกรรมการดีอีแล้วจำนวน 3,820 ล้านบาท แบ่งเป็นงบรายจ่ายประจำ 2,075 ล้านบาท และงบลงทุนเดิม 1,744 ล้านบาท ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดกรอบวงเงินงบการลงทุนใหม่เนื่องจาก บอร์ดกสทช. ชุดปัจจุบันอยู่ระหว่างการรักษาการ อีกทั้งที่ประชุมยังได้พิจารณาการปรับโครงสร้างสำนักงานกสทช. ตามที่คณะทำงานศึกษาการปรับโครงสร้างได้ทำรายงานมายังสำนักงานฯ แล้ว อย่างไรก็ดีบอร์ดเห็นว่าการปรับโรงสร้างใหม่ควรเป็นอำนาจของบอร์ดกสทช.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา”
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สำนักงานกสทช. ได้ทำหนังสือขอความเห็นสำนักงานกฤษฏีกา เกี่ยวกับอำนาของกรรมการกสทช.ที่อยู่ระหว่างการการรักษาการ จะมีอำนาจในการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิร์ตซ หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นของกฤษฏีกาตอบกลับมา กสทช.จึงจะชะลอการประการหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ในราชกิจการนุเบกษาออกไปจนกว่าจะได้รับคำตอบจากกฤษฏีกา ทั้งนี้ หากการสรรหากรรมการ กสทช.ชุดใหม่เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.61 และมีกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก็สามารถหยิบประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ขึ้นมาพิจารณาได้ทันที