เอ็กซ์คลูซีฟ:คำต่อคำ'เสี่ยเช'จับพิรุธ'ทอท.'ซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.โปร่งใสจริงหรือ?
"...เป็นทีโออาร์ที่แย่ที่สุด ไม่กำหนดว่าเครื่องที่จะเสนอ จะต้องมีใช้อยู่ในสนามบินชั้นนำไม่น้อยกว่า 20, 30, 40 สนามบิน หรือมีจำนวน ที่ใช้อยู่ในสนามบินต่างๆ ไม่น้อยกว่า 500 เครื่องเป็นต้น แต่ในทางตรงข้าม กลับให้ข่าวว่า เร็วๆนี้จะมี เครื่องเซอร์ติฟายด์จากห้องแลป มาเพิ่มยี่ห้อ ก็จะให้เข้ามาแข่งกันขายหมด สนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะกลายเป็น สนามบิน "หนูตะเภา" ไว้ทดสอบอุปกรณ์ ที่เพิ่งออกใหม่ ไม่มีสนามบินไหนใช้มาก่อน หรือมีก็แค่ไม่กี่สนามบิน ไม่มี TOR หรือข้อกำหนด หรือออก Spec ในสนามบิน ชั้นนำ ในต่างประเทศ เขียน TOR แบบนี้ครับ..."
ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ความสนใจติดตามตรวจสอบเจาะลึกข้อมูลมานำเสนอสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับกรณีข้อร้องเรียนร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง และจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร รวมวงเงิน 2,880,500,000 บาท ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังคำวิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2561 -14 มี.ค.2561 นี้ ว่า มีลักษณะว่ามีการเปิดช่องให้มีการล็อกสเปคกำหนดตัวเอกชนผู้ได้รับงานล่วงหน้าไว้ เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาในข้อ18 ว่า จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ หรือ ผู้จำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายภายในประเทศ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (EDS machine) รุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งได้รับการรับรองจาก TSA (หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Transportation Security Administration: TSA) และ การอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) (กรมการบินพลเรือนของประเทศในกลุ่มยุโรป The European Civil Aviation Conference: ECAC) และโดยต้องแสดงสำเนาเอกสารหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ ฉบับล่าสุดและเป็นปัจจุบน ซึ่งออกโดยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา (นับย้อนหลังจากวันที่ยื่นซองประกวดราคา) พร้อมสำเนาหนังสือรับรองของ TSA และสำเนาหนังสืออนุมัติของ ECAC หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) ขณะที่ ปัจจุบันมีเอกชนไม่กี่รายที่สามารถเข้าร่วมประกวดภายใต้คุณสมบัตินี้ได้ และเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ที่สามารถผ่านเงื่อนไขดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
เบื้องต้น นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. ออกมายืนยันว่า การจัดทำร่างทีโออาร์ประมูลงานโครงการนี้ ไม่มีลักษณะกีดกันผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง ไม่มีการล็อกสเปคไว้ล้วงหน้าอย่างแน่นอน
สวนทางกับนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่อง CTX ในประเทศไทส ที่ยืนยันว่า การประมูลงานโครงการนี้ มีการกีดกัน ไม่ให้เครื่อง CTX เข้าร่วม และมีลักษณะการล็อกสเปค ให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้ได้รับงานไว้ล่วงหน้าแล้ว (อ่านประกอบ : ไขข้อมูล 'นิตินัยVS.เสี่ยเช' ใครจริง-ลวง?ข้อกล่าวหาล็อกสเปคซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อยืนยันข้อมูลจาก นายวรพจน์ ยศะทัตต์ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้
นายวรพจน์ ระบุว่า "ที่คุณนิตินัยพูดถึงมาตรฐาน TSA ท่านใช้แค่ TSL (L=Laboratory) ทดสอบว่า เป็นเครื่อง EDS explosive detection System ทดลองในห้องแลป ในอาคาร เท่านั้น ในประเทศ อเมริกา และประเทศ ผู้นำทางด้านความปลอดภัย จะไม่หลอกประชาชน จะใช้มาตรฐาน ที่ผ่าน การทดสอบ การใช้งานกับระบบสายพานจริง และติดตั้ง ทดสอบใน สนามบิน ใช้จริง ในสภาวะแวดล้อม ที่แตกต่างกัน ทั้งหนาวมาก/ร้อนมาก และชื้นมาก ต้องผ่าน ขั้นตอน จนถึง Qualified"
นายวรพจน์ ยังระบุด้วยว่า "เครื่อง CTX เดิมยังมีอายุใช้งานอีกตั้ง 5 ปี ไม่มีความจำเป็นต้องรีบ เหตุผลที่อ้างว่าต้องรีบ เป็นความเป็นจริง เรามีตัวเลขโดยละเอียดอยู่ทั้งหมด เมื่อ 12 ปีก่อน ที่ผมทำระบบทั้งหมด อยู่ที่ 2,003 ล้านบาท เป็น ค่าเครื่อง 26 เครื่อง ประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่การประมูลงานครั้งนี้ เขาตั้งงบประมาณค่าเครื่อง 16 เครื่อง 2,800 ล้านบาท ผมจะขอเสนอ เปลี่ยนเครื่องให้ 26 เครื่อง เขาก็ไม่ให้เสนอ ราคาต่ำกว่างบประมาณตั้งเยอะ จะได้ระบบสแกน แบบละเอียด เทียบเท่ามาตรฐานสูงสุดของอเมริกา และเป็นยี่ห้อ ที่เป็นอันดับ 1 ของโลก มีสนามบิน อ้างอิง ใช้มากที่สุดในโลก ทั่วอเมริกา อังกฤษ ยุโรปอีกหลายประเทศ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ ในเอเชีย"
"อยากให้ทุกคนลองคิดดูนะครับ ประเทศอิสราเอล 20 ปีมานี้ ซื้อ CTX ยี่ห้อเดียว อิสราเอลเป็นประเทศที่ มีการป้องกันประเทศ ของตัวเอง ป้องกันสนามบินของตัวเอง มีมาตรฐาน ที่สูงที่สุด ป้องกันการก่อการร้าย ทุกรูปแบบสายการบินอิสราเอล ประจำประเทศไทย ซื้อเครื่อง CTX รุ่น 5500 มาใช้ ตั้งแต่สนามบินดอนเมือง และเมื่อ 3 ปีก่อนมานี่เอง เปลี่ยนเป็นรุ่น CTX 5800 เขาไม่เคยนึกถึงยี่ห้ออื่น หรือดูยี่ห้ออื่นเลย"
นายวรพจน์ ยังระบุต่อไปว่า "การจัดซื้อหรือเลือกอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับสนามบิน ต้องพิจารณาหาข้อมูลว่าสนามบินชั้นนำที่ไหนให้ความไว้วางใจยี่ห้อไหน และยี่ห้อไหนขายดีที่สุด ก็หมายความว่า จะมีระบบส่งกำลังบำรุง บริการหลังการขายที่ดี เป็นที่ไว้ใจของสนามบิน ต่างๆ และดีการเก็บอะไหล่ ไว้เป็นจำนวนมาก"
สำหรับร่างTOR ที่เขียนขึ้นในการประมูลครั้งนี้นั้น เสี่ยเช ระบุว่า "เป็นทีโออาร์ที่แย่ที่สุด ไม่กำหนดว่าเครื่องที่จะเสนอ จะต้องมีใช้อยู่ในสนามบินชั้นนำไม่น้อยกว่า 20, 30, 40 สนามบิน หรือมีจำนวน ที่ใช้อยู่ในสนามบินต่างๆ ไม่น้อยกว่า 500 เครื่องเป็นต้น แต่ในทางตรงข้าม กลับให้ข่าวว่า เร็วๆนี้จะมี เครื่องเซอร์ติฟายด์จากห้องแลป มาเพิ่มยี่ห้อ ก็จะให้เข้ามาแข่งกันขายหมด สนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะกลายเป็น สนามบิน "หนูตะเภา" ไว้ทดสอบอุปกรณ์ ที่เพิ่งออกใหม่ ไม่มีสนามบินไหนใช้มาก่อน หรือมีก็แค่ไม่กี่สนามบิน ไม่มี TOR หรือข้อกำหนด หรือออก Spec ในสนามบิน ชั้นนำ ในต่างประเทศ เขียน TOR แบบนี้ครับ"
นายวรพจน์ ยังระบุด้วยว่า "สมมุติว่า เขาดันกันจนมีการล็อคสเปกด้วย ต้องทำงาน ร่วมกับ คนทำสายพาน ซึ่งล็อคสเปคและรายละเอียด หยุมหยิม และตัวผมหมดแรง เบื่อ ไม่สู้ เขาก็คงทำสัญญาได้ภายในไม่กี่เดือนจากนี้ และทำงานให้เสร็จตามสัญญาอีก 18 เดือน มีผลกระทบอย่างมากมายตลอดเวลา 18 เดือน กับการที่จะต้องสแกนกระเป๋าทุกชั่วโมงทุกวัน ต้องตัดต่อโมดิฟายสายพาน เปลี่ยนมอเตอร์ ให้ความเร็วสูงขึ้น รับรองครับพังแน่นอน ผู้บริหารปัจจุบันนี้ก็ไม่อยู่แล้ว ปัญหาก็จะตกอยู่กับ เจ้าหน้าที่ระดับล่าง และประชาชนคนใช้สนามบิน"
เสี่ยเช ยังระบุด้วยว่า เมื่อ 12 ปีก่อนเงินบาทอ่อน 40 บาท ค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์เท่านั้นเอง ตอนนี้เงินบาทแข็งขึ้นเยอะ 30 บาทต้นๆก็ได้ 1 ดอลลาร์แล้ว
ปี 2561 ทางทอท. จะจัดซื้อ 16 เครื่อง 2,800 ลบ. มีสายพาน Modify นิดหน่อย ไม่ได้เพิ่ม ระยะสายพาน แม้กระทั่ง 1 กิโล (แต่อาจจะคิดมาแพง )
แต่เมื่อปี 2555 มีการจัดซื้อไป 4 เครื่อง เป็นเครื่องของยี่ห้อหนึ่ง ใช้งานตรงจุด Transfer Bag (ผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง) มีสายพานเล็กน้อย มีหลังคา ไม่กี่กะตังค์ แต่ราคารวม 1,872 ลบ. ได้แค่ 4 เครื่อง ทุกวันนี้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างลองไปดูกันเอง
แต่เมื่อปี 2547 ซื้อเครื่อง CTX จำนวน 26 เครื่อง สายพาน 22 กิโลเมตร 6,500 ล้านบาท
"ที่จริงเราไม่ต้องเสียค่าออกแบบเลยครับ ในฐานะของการท่าอากาศยาน หรือ Airport ด้วยกัน สามารถที่จะ ทำหนังสือ ไปถาม Airport ในอเมริกา หรือ TSA ว่า Airport ต่างๆประสบความสำเร็จอย่างไร ในการเปลี่ยนเครื่อง ที่มีอายุใช้งาน 11 ปี เขาก็จะให้ข้อมูล และวิธีการ เพราะ เขาได้ทดลองแล้ว ทำสำเร็จแล้ว"
"ที่คุณนิตินัย กำลังจะทำ ขอเรียนว่า จะเป็นที่แรกในโลก ที่มีเครื่อง CTX จำนวน 20 กว่าเครื่อง และไปเปลี่ยนความเร็วสายพาน ให้เร็วขึ้น ตั้งค่าความเร็วของเครื่อง ให้สแกนเร็วๆ 0.5 เมตรต่อวินาที แล้วไปลดจำนวนเครื่องลง จาก26 เครื่อง เหลือแค่16 เครื่อง "
"การสแกนให้เร็วขึ้น ไม่ใช่ผลดี แต่กลับเป็นผลเสีย เพราะจะมี ความเป็นไปได้อย่างสูงที่ระเบิดจะหลุดรอดไปได้ และระยะสายพาน ที่ทำไว้ของสุวรรณภูมิ มีระยะสั้นเกินไป ที่จะสแกนแบบเร็ว Very Hi speed 0.5"
"TSA ทดสอบผ่าน ยี่ห้อเดียวครับ กับ ระบบสายพาน คือ CTX9800 ที่ speed หรือความเร็ว 0.2 เมตรต่อวินาที 680 กระเป๋าต่อชั่วโมง เป็นค่าความเร็วที่มั่นใจว่าปลอดภัย (ตรวจละเอียด) คุณนิตินัยจะใช้ความเร็วThroughput ตามแคตตาล็อก (0.5) 1,800 กระเป๋าต่อชั่วโมง การที่จะต้องไปเปลี่ยนระบบสายพาน ทั้งหมด ให้เข้ากับเครื่อง ไม่มีใครเขาทำกันครับ เพราะจะทำให้ การทำงาน ที่จะต้องทำอยู่ทุกวัน มีความเสี่ยงสูง และจะมีผลทำให้สนามบิน โกลาหล อย่างมาก และจะแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าเอาเครื่อง CTX ออกไปทิ้ง แล้ว ที่สำคัญ จะต้องไปตัดต่อ ระบบสายพาน เปลี่ยนมอเตอร์ จะมีปัญหาตามมาเยอะมากแน่ๆ"
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลจากฝั่ง นายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช ที่แจ้งให้สำนักอิศรารับทราบเพิ่มเติม
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในวันที่ 7 มี.ค.2561 ได้พยายามติดต่อ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง แต่ไม่รับคำชี้แจง โดยฝ่ายเลขาฯ แจ้งว่า ติดประชุมไม่สะดวกให้สัมภาษณ์
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องวัตถุระเบิด ปี 2555 จำนวน 4 เครื่อง พร้อมระบบสายพานลำเลี่ยง ตรงจุด Transfer Bag วงเงิน 1,872 ล้านบาท ตามที่นายวรพจน์ ระบุนั้น
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ทอท. ได้มีการลงนามในสัญญาเป็นทางการช่วงเดือน มี.ค.2555 ปรากฎชื่อกิจการร่วมค้ากลุ่มหนึ่ง เป็นผู้รับงาน
ส่วนรายละเอียดสำนักข่าวอิศรา จะนำข้อมูลเชิงลึกมาเสนอสาธารณชนในลำดับต่อไป