ย้อนคดีประวัติศาสตร์หงสา ก่อนศาลนัดชี้ขาดบ.ไทย-ลาว ฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้านปู3.1หมื่นล.
"...ผู้บริหารของบริษัทและบริษัทย่อยเชื่อมั่นในการดำเนินงานของกลุ่มกิจการในโครงการหงสาว่าไม่มีการกระทำใดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นบริษัทและบริษัทย่อยจึงไม่ได้บันทึกหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีดังกล่าวในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560..."
ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ศาลฎีกาจะพิพากษาตัดสินคดีบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ถูกบริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์ ฟ้องร้องศาลแพ่งจากกรณีการเข้าไปลงทุนทำโครงการลงทุนก่อสร้างและบริหารงานโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า คดีหงสา ที่ยึดยื้อยาวนานมาหลายปี นับเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกหนึ่งคดีที่น่าสนใจและถูกจับตามองจากหลายฝ่าย โดยที่มาที่ไปคดีนี้ เริ่มต้นจากการที่บมจ.บ้านปู ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้เข้าไปดำเนินการก่อสร้างและบริหารงานโรงไฟฟ้าถ่ายหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา แทนบริษัทไทย-ลาวฯ ที่ได้รับสัมปทานสร้างโรงไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 แต่เนื่องจากงานก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าไม่ทันตามสัญญา รัฐบาลลาวจึงสั่งให้บริษัทไทย-ลาวฯ ยุติโครงการและให้บมจ.บ้านปูเข้าไปดำเนินโครงการแทน จนเปิดใช้งานได้ในช่วงปี 2557 ขณะที่บริษัทไทย-ลาวฯ ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลลาว และบมจ.บ้านปู ในเวลาต่อมา
โดยในส่วนคดีฟ้องร้องรัฐบาลลาว ศาลสูงสุดมาเลเซีย ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดยกฟ้อง รัฐบาลลาวไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไทย-ลาวฯ แต่ในส่วนของบมจ.บ้านปูฯ บริษัทไทย-ลาวฯ ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งไทยในช่วงปี 2550 เรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 56,000 ล้านบาท ต่อมาในช่วงปี 2555 ศาลแพ่งพิพากษาให้บมจ.บ้านปู ชดใช้ค่าเสียหายรวมดอกเบี้ย 31,740 ล้านบาท เบื้องต้น บมจ.บ้านปู ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ซึ่งคดียืดเยื้อมาหลายปี ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในวันที่ 6 มี.ค.2561 นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า บมจ.บ้านปู ได้แจ้งข้อมูลการฟ้องร้องคดีนี้ในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 ว่า ในระหว่างปี 2550 บุคคลและกลุ่มกิจการ (โจทก์) ซึ่งเคยเป็นผู้พัฒนาโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (โครงการหงสา) ได้ยื่นฟ้องบริษัท และบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นใน Hongsa Power Company Limited โดย Hongsa Power Company Limited เป็นผู้ได้รับสัมปทานเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (รัฐบาลลาว) และผู้บริหารของกลุ่มกิจการ 3 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง
โดยกล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์โดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลโครงการหงสา และได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานโครงการหงสาของโจทก์ เพื่อที่กลุ่มบริษัทบ้านปูจะได้เข้าทำสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลลาวเอง
โดยเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นค่าข้อมูลโครงการหงสาจำนวน 2,000 ล้านบาท ค่าลงทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายในโครงการหงสาจำนวน 2,000 ล้านบาท และค่าขาดประโยชน์จากการที่ถูกรัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานโครงการหงสาอีกจำนวน 59,500 ล้านบาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 63,500 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย
ต่อมา ในวันที่ 20 กันยายน 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการหงสา โจทก์ผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการหงสา แต่จำเลยกระทำละเมิดด้วยการนำเอาข้อมูลโครงการหงสาของโจทก์ (สำหรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาด 600 เมกกะวัตต์) ไปใช้ในการพัฒนาโครงการหงสาสำหรับโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 เมกกะวัตต์ในปัจจุบัน และพิพากษาให้จำเลยเฉพาะบริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นค่าข้อมูลจำนวน 2,000 ล้านบาท และค่าลงทุนในการศึกษาและค่าใช้จ่ายในโครงการหงสาอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และชดใช้ค่าเสียหายอันได้แก่ค่าขาดประโยชน์ในอนาคตที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการเป็นเงินรายปี ปี 2558 ถึง 2570 ปีละ 860 ล้านบาท และปี 2571 ถึง 2582 ปีละ 1,380 ล้านบาท ชำระทุกสิ้นปี เป็นจำนวนรวม 27,740 ล้านบาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,740 ล้านบาท
ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้ยกฟ้องบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และผู้บริหารของกลุ่มกิจการ
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ได้พิพากษายกคำฟ้องของโจทก์โดยให้เหตุผลว่าจำเลยซึ่งได้แก่บริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) (บริษัทย่อย) ได้กระทำการโดยสุจริตทั้งก่อนและหลังเข้าทำสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ และจำเลยไม่ได้กระทำการละเมิดต่อโจทก์ แต่ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาร่วมพัฒนาโครงการ และจำเลยไม่ต้องคืนเอกสารซึ่งเป็นเอกสารข้อมูลโครงการหงสาให้แก่โจทก์ ฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ส่วนฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558
ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและในทางกฎหมายถือว่ายังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ ศาลแพ่งได้มีหมายนัดมายังบริษัทและบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทย่อย) ให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทและบริษัทย่อยเชื่อมั่นในการดำเนินงานของกลุ่มกิจการในโครงการหงสาว่าไม่มีการกระทำใดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตหรือการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นบริษัทและบริษัทย่อยจึงไม่ได้บันทึกหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีดังกล่าวในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560
ขณะที่ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2561 บมจ.บ้านปู ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า มีนัดหมายฟังคำพิพาษาศาลฎีกา คดีแพ่งที่นายศิวะ งานทวี กับพวก เป็นโจทก์ฟ้องบริษัทกับพวก เป็นจำเลย โดยกล่าวอ้างบริษัทกับพวกทำการหลอกลวงโดยเข้าทำสัญญากับนายศิวะกับพวก เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินรวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา และได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานของนายศิวะกับพวก เพื่อที่บริษัทฯ จะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ไปแล้ว โดยศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 6 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น. และเมื่อทราบคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว บริษัทจะแจ้งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทราบต่อไป ( https://www.efinancethai.com/news/2018/1/T/4358028.pdf)
ทั้งนี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้ง 29 กรกฎาคม 2536 ทุนปัจจุบัน 5,165,257,100 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 1550 อาคารธนภูมิ ชั้น 27 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบนำเข้าและจำหน่ายถ่ายหิน ปรากฎชื่อ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายเมธี เอื้ออภิญญกุล นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล นายระวิ คอศิริ นางสมฤดี ชัยมงคล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด ตามด้วย บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัดริษัททีเอ็มอี แคปิตอล จำกัด และนาย อิสระ ว่องกุศลกิจ ตามลำดับ
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธ.ค.2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 105,826.81 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่าย 84,943.48 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11,616.14 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 268,751.37 ล้านบาท หนี้สินรวม 163,822.10 ล้านบาท
ส่วนผลคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์นี้ จะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด