ไขข้อมูล 'นิตินัยVS.เสี่ยเช' ใครจริง-ลวง?ข้อกล่าวหาล็อกสเปคซื้อเครื่องตรวจระเบิด2.8พันล.
"...ผู้บริหาร บริษัท Smith Detection ยังยืนยันต่อ ผู้บริหาร ทอท. ด้วยว่า TSA ที่เป็นผู้ออกใบรับรองของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 0.5 เมตร/วินาที แต่ยังไม่เคยพิจารณาซื้อเครื่อง XCT หรือเครื่องยี่ห้อใดเลย ที่ความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที ขณะที่ TSA ออกใบรับรองให้ CTX เท่านั้น ซึ่งเป็นการออกใบรับรองให้ใช้ระบบ inline BHS/HBS integrated ในระดับความเร็ว 0.3 เมตร/วินาที ส่วนยี่ห้ออื่น ไม่ได้มีการออกใบรับรองให้ และที่สำคัญเจ้าที่ของ ทอท. ก็รับทราบข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเดินทางไปที่ ศูนย์ทดสอบ TSIF ที่วอชิงตันดีซีมาแล้ว..."
"จากรายงานผลการออกแบบ (Final Report) ตรวจสอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 มีผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่นความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีที่ได้รับการรับรองจาก TSA แล้ว 2 รายคือ เครื่อง MV3D ของบริษัท L3 Communications และ เครื่อง Hi-Scan10080XCT ของบริษัท Smith Detection และอยู่ในระหว่างขออนุญาต 2 ราย คือ เครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection และเครื่อง X1000 ของบริษัท SureScan ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าเครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection เดิมนั้นปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Smith Detection แล้วจากการเข้าซื้อกิจการ ดังนั้น ข้อกำหนดรายละเอียดของการประกวดราคานี้จึงมิได้เป็นการปิดกั้น หรือกำหนดตัวเอกชนในการจัดหาไว้แต่อย่างใด"
คือ คำยืนยันของ นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต่อกรณีข้อร้องเรียนร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) โครงการประมูลจัดซื้อจัดจ้างเปลี่ยนเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 26 เครื่อง และจ้างปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร รวมวงเงิน 2,880,500,000 บาท ที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังคำวิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2561 -14 มี.ค.2561 นี้ ว่า มีลักษณะว่ามีการเปิดช่องให้มีการล็อกสเปคกำหนดตัวเอกชนผู้ได้รับงานล่วงหน้าไว้ เนื่องจากมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาในข้อ18 ว่า จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศ หรือ เจ้าของผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ หรือ ผู้จำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้จำหน่ายภายในประเทศ ว่าเป็นผู้จำหน่ายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (EDS machine) รุ่นที่มีความเร็วสายพานไม่น้อยกว่า 0.5 เมตรต่อวินาที ซึ่งได้รับการรับรองจาก TSA (หน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่งของประเทศสหรัฐอเมริกา Transportation Security Administration: TSA) และ การอนุมัติจาก ECAC Standard-3 หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) (กรมการบินพลเรือนของประเทศในกลุ่มยุโรป The European Civil Aviation Conference: ECAC) และโดยต้องแสดงสำเนาเอกสารหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนฯ ฉบับล่าสุดและเป็นปัจจุบน ซึ่งออกโดยผู้ผลิต หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือตัวแทนจำหน่ายภายในประเทศ ภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา (นับย้อนหลังจากวันที่ยื่นซองประกวดราคา) พร้อมสำเนาหนังสือรับรองของ TSA และสำเนาหนังสืออนุมัติของ ECAC หรือสูงกว่า (ECAC standard-3 approved or higher) ขณะที่ ปัจจุบันมีเอกชนไม่กี่รายที่สามารถเข้าร่วมประกวดภายใต้คุณสมบัตินี้ได้ และเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ที่สามารถผ่านเงื่อนไขดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น
ทั้งนี้ หากใครที่ติดตามข่าวเรื่องนี้มาโดยตลอด แล้วลองโฟกัสข้อมูลคำชี้แจงของ นายนิตินัย ที่ยืนยันว่า มีผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่นความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีที่ได้รับการรับรองจาก TSA ถึง 4 ราย ที่ผ่านคุณสมบัติ และสามารถเข้าร่วมการประมูลจัดซื้อโครงการนี้ได้ (อ่านประกอบ : 'เสี่ยเช'โวยทีโออาร์ใหม่ล็อกสเปคชัด! ตัดขาดCTXเปิดช่องรวมหัวขายพ่วงสายพานฯ2.8พันล.,CTX ก็เข้าได้! ทอท.โต้เสี่ยเชซื้อเครื่องตรวจระเบิดพ่วงสายพาน2.8พันล.ไร้กีดกันล็อกสเปค, CTX ก็เข้าได้! ทอท.โต้เสี่ยเชซื้อเครื่องตรวจระเบิดพ่วงสายพาน2.8พันล.ไร้กีดกันล็อกสเปค)
น่าจะมีความเห็นตรงกันว่า นี่คือ หลักฐานเชิงประจักษ์ ที่ นายนิตินัย หยิบยกขึ้นมาใช้ตอบโต้ ความเห็นของนายวรพจน์ ยศะทัตต์ หรือเสี่ยเช กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยโทรนิค จำกัด ที่ออกมาระบุว่า การประมูลงานโครงการนี้ มีการกีดกัน ไม่ให้เครื่อง CTX เข้าร่วม และมีลักษณะการล็อกสเปค ให้บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่ง เป็นผู้ได้รับงาน
เพราะต้องไม่ลืมว่า สถานะที่แท้จริงของ บริษัท ไทยโทรนิค จำกัด คือ ตัวแทนจำหน่ายเครื่อง CTX ในประเทศไทย นายนิตินัย กำลังยืนยันว่า เครื่อง CTX สามารถเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ได้
คำถามที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลของนายนิตินัย ที่นำมาใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ครั้งนี้ ถูกต้องสมบูรณ์ครบถ้วน เพียงพอหรือไม่
เพื่อให้สาธารณชน ได้เห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลรายชื่อผู้ผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดรุ่นความเร็ว 0.5 เมตรต่อวินาทีที่ได้รับการรับรองจาก TSA ทั้ง 4 ราย ตามคำชี้แจงของนายนิตินัย มาจัดทำตารางแบ่งกลุ่มใหม่ เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นภาพข้อมูลชัดเจนมากขึ้น ดังนี้
เมื่อนายนิตินัย กล่าวอ้างว่า มีข้อสังเกตว่าเครื่อง CTX9800DSi ของบริษัท Morpho Detection เดิมนั้นปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Smith Detection แล้วจากการเข้าซื้อกิจการ
ก็จะเท่ากับว่า เหลือผู้ผลิต 3 ราย เท่านั้น ที่สามารถเข้าร่วมแข่งขันประมูลงานครั้งนี้ได้ คือ 1. บริษัท L3 Communications 2. กลุ่มบริษัท บริษัท Smith Detection และ บริษัท Morpho Detection และ 3. บริษัท SureScan
ขณะที่ กลุ่มบริษัท บริษัท Smith Detection และ บริษัท Morpho Detection ที่นายวรพจน์ เป็นตัวแทนอยู่ ยังมีภาษีดีกว่าคนอื่นด้วย เพราะสามารถนำเครื่องเข้าแข่งขันได้ทั้ง 2 ยี่ห้อ (ดูตารางประกอบ) นายวรพจน์ จะเดือนร้อน ออกมาร้องเรียนเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดกันทำไม
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวใน ทอท.ว่า ก่อนหน้านี้ ทางผู้บริหารของ บริษัท Smith Detection ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ผู้บริหารทอท. กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับข้อกังวลและข้อห่วงใยในการพิจารณาใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที มีสาระสำคัญว่า เหตุผลที่ บริษัท Smith Detection ตัดสินใจขอซื้อกิจการการผลิตเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX จาก บริษัท Morpho Detection เพราะถึงแม้ว่า บริษัท Smith Detection จะมีเครื่อง XCT ที่มีความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมและไม่ประสบความสำเร็จในการอินทิเกรตเป็นระบบ inline BHS/HBS เท่า CTX 9800
นอกจากนี้ ผู้บริหาร บริษัท Smith Detection ยังยืนยันต่อ ผู้บริหาร ทอท. ด้วยว่า TSA ที่เป็นผู้ออกใบรับรองของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด 0.5 เมตร/วินาที แต่ยังไม่เคยพิจารณาซื้อเครื่อง XCT หรือเครื่องยี่ห้อใดเลย ที่ความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที ขณะที่ TSA ออกใบรับรองให้ CTX เท่านั้น ซึ่งเป็นการออกใบรับรองให้ใช้ระบบ inline BHS/HBS integrated ในระดับความเร็ว 0.3 เมตร/วินาที ส่วนยี่ห้ออื่น ไม่ได้มีการออกใบรับรองให้ และที่สำคัญเจ้าที่ของ ทอท. ก็รับทราบข้อมูลเรื่องนี้ เพราะเดินทางไปที่ ศูนย์ทดสอบ TSIF ที่วอชิงตันดีซีมาแล้ว
ที่สำคัญ TSA ซึ่งเป็นองค์กรที่ทอท.นำมาใช้เป็นมาตรฐานกำหนดสเปค เองก็ยังไม่เคยเปลี่ยนเครื่อง CTX 9400 ให้เป็นเครื่องความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที ยี่ห้อใดๆ ที่ TSA รับรองแล้ว
สอดคล้องกับข้อมูลของ นายวรพจน์ ที่ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ก่อนหน้านี้ ว่า ในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องการทดสอบเครื่องความเร็ว ความเร็ว 0.5 เมตร/วินาที นั้น เครื่องซีทีเอ็ก เป็นเครื่องขายดีที่สุดในโลกอยู่ตอนนี้ ไม่เคยนำเครื่องเข้าไปทดสอบความเร็วระดับนี้ เพราะปัจจุบันสนามบินในสหรัฐไม่นิยมใช้ และในส่วนเครื่องที่ผ่านการทดลองจากห้องปฏิบัติการในปัจจุบัน เมื่อถูกนำไปทดสอบการใช้งานในสนามบินจริง พบว่ามีปัญหาสแกนไม่ละเอียด ทำให้การตรวจสอบวัตถุระเบิดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงให้ความสนใจใช้เครื่องที่มีความเร็วระดับ 0.3 เมตร/วินาที เป็นส่วนใหญ่
“เมื่อสหรัฐไม่นิยมใช้งานเครื่องที่มีความเร็วระดับ 0.5 เมตร/วินาที เราจึงไม่เคยส่งเครื่องเข้าไปทดสอบ ขณะที่เครื่องของคู่แข่ง ที่ระบุว่าผ่านการทดลองในห้องปฏิบัติการไปแล้ว ก็พบว่า ประสิทธิภาพยังไม่ดีมากนัก จึงเป็นเรื่องแปลกใจมากว่าทำไมทางทอท.ถึงยังยืนยันที่จะใช้เครื่องที่มีความเร็วระดับ 0.5 เมตร/วินาที”
นายวรพจน์ ยังยืนยันด้วยว่า แม้ว่า เครื่อง Hi-Scan10080XCT จะมีคุณสมบัติเข้าได้ แต่ก็คงไม่เข้าไปร่วมประมูลด้วยอย่างแน่นอน
หากพิจารณาข้อมูลของนายวรพจน์ และผู้บริหารบริษัท Smith Detection ที่แจ้งถึงผู้บริหาร ทอท. ดังกล่าว ก็น่าจะมีเครื่องที่สามารถเข้าร่วมประมูลงานครั้งนี้ ได้เพียงแค่ 2 ยี่ห้อ คือ เครื่องยี่ห้อ MV3D ของ บริษัท L3 Communications และเครื่อง X1000 ของ บริษัท SureScan เท่านั้น (ดูตามตาราง)
แต่หากเปรียบเทียบคุณสมบัติในปัจจุบัน ตามที่ นายนิตินัย ออกมาชี้แจงเบื้องต้น จะพบว่า เครื่องยี่ห้อ MV3D ของ บริษัท L3 Communications ผ่านการรับรองจาก TSA แล้ว ส่วนเครื่อง X1000 ของ บริษัท SureScan ยังอยู่ระหว่างการขออนุญาต
เครื่องยี่ห้อ MV3D ของ บริษัท L3 Communications จึงน่าจะเป็นยี่ห้อที่มีความพร้อมมากที่สุด ในห้วงเวลานี้
ส่วนจะเป็นความพร้อมแค่ในระดับห้องปฏิบัติการ หรือในการทดลองที่สนามบินจริง นับเป็นเรื่องสำคัญที่ นายนิตินัย และบอร์ดทอท. จะต้องเข้าไปตรวจสอบ และทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏต่อสาธารณะโดยเร็วที่สุด
ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด!