สแกน42ว่าที่พรรคการเมืองใหม่ จัดกลุ่ม-แยกสเปค ใครอยู่สายไหนบ้าง?
"...สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สำรวจรายชื่อรายชื่อพรรคและรายชื่อผู้จัดตั้งพรรคการเมือง จากฐานข้อมูลต่างๆ สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยอดีตทหาร 2. พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีต ส.ส.หรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3. พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยบุคคลที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ยังไม่เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาก่อน.."
กระแสการเมืองกลับเข้าสู่โหมดคึกคักกันอีกครั้ง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดให้ผู้ที่ความสนใจจัดตั้งพรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2561 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ามีผู้มาจดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว เป็นจำนวน 42 พรรค เบื้องต้น มีหลายพรรคการเมืองถูกจับตามองเรื่องที่มาที่ไป รวมถึงวัตถุประสงค์การเข้าสู่เวทีการเมืองใหม่แตกต่างตามข้อมูลของผู้ที่ปรากฎชื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือแกนนำพรรค
เพื่อให้สาธารณชน ได้เห็นภาพข้อมูลพรรคการเมืองใหม่เหล่านี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สำรวจรายชื่อรายชื่อพรรคและรายชื่อผู้จัดตั้งพรรคการเมือง จากฐานข้อมูลต่างๆ สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยอดีตทหาร 2. พรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีต ส.ส.หรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง และ 3. พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยบุคคลที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ยังไม่เคยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาก่อน
ปรากฎข้อมูลยืนยันดังต่อไปนี้
สำหรับพรรคการเมืองกลุ่มที่ 1 ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตทหาร ประกอบไปด้วย 1.พรรคพลังชาติไทย จดทะเบียนโดยนางนางกิ่งฟ้า อรพันธ์ แต่ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคก็คือ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีตคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 2.พรรคประชาภิวัฒน์ จดทะเบียนโดย พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมพลี อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอนุศาสนาจารย์ กรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม และอดีตนายกสมาคมเปรียญธรรมแห่งประเทศไทย 3.พรรคเพื่อชาติไทย จดทะเบียนโดย ว่าที่พันตรี กรพด รุ่งหิรัญวัฒน์ นายกสมาคมศิษย์เก่านักศึกษาวิชาทหาร โดยมีหัวหน้าพรรคคือนางอัมพาพันธ์ ธนเดชสุนทร อดีตภรรยา พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อปี 2535 หรือ รสช.
สำหรับพรรคการเมืองกลุ่มที่ 2. ที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองเดิม หรือเคยเป็นอดีต ส.ส.ประกอบไปด้วย 1.พรรคสังคมประชาธิปไตยประชาชน ที่จดทะเบียนโดย นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย 2.พรรคประชาชาติจดทะเบียนโดย นายสุรพล นาควานิช อดีตที่ปรึกษาในคณะทำงานของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา (ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่านามสกุลนาควานิชนั้นเป็นนามสกุลเดียวกับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช อดีต ผบ.ทบ.) 3.พรรคพลังพลเมืองไทยจดทะเบียนโดย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัติ อดีตแกนนำพรรคภูมิใจไทย 4.พรรคพลังธรรมใหม่จดทะเบียนโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 5.พรรคสยามธิปัตย์จดทะเบียนโดย นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ
6. พรรคสามัญชน จดทะเบียนโดย นายปธานิน กล่อมเอี้ยง สมาชิกกลุ่มเครือข่ายขบวนการอีสานใหม่หรือกลุ่มดาวดิน 7.พรรคเห็นแก่ตัว จดทะเบียนโดย นายกริช ตรรกบุตร อดีต ส.ส.พรรคมาตุภูมิ 8.พรรคประชาชนปฏิรูปจดทะเบียนโดย นายธนพัฒน์ สุขเกษม ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายไพบูลย์ นิติตะวันให้มาจดทะเบียน 9.พรรคทางเลือกใหม่จดทะเบียนโดย นายราเชน ตระกูลเวียง แกนนำกลุ่ม กปปส.
และพรรคการเมืองกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ที่ไม่เคยเป็น ส.ส.มาก่อน ประกอบด้วย 1.พรรคประชาไทย ซึ่งมีผู้จดทะเบียนพรรคคือ นายบุญยงค์ จันทร์แสง ทีปรึกษาด้านกฎหมายของ องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ภาคประชาชน) 2.พรรคพลังประชารัฐ ที่จดทะเบียนโดย นายชวน ชูจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลาดน้ำคลองลัดมะยม 3. พรรคพลังชาวนาไทย จดทะเบียนโดย นายสัมฤทธิ์ แก้วทน ประธานพรรคพลังชาวนาไทย 4.พรรคพัฒนาไทย จดทะเบียนโดย นายโสภณวิชญ์ สีมาสกุลชัย สมาชิกกลุ่มผู้อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาจิตรกรรมลายไม้ 5.พรรคเครือข่ายประชาชนไทยจดทะเบียนโดย นายธนานินทร์ ชะฎาแก้ว สมาชิกชมรมพัฒนาอาชีพแห่งประเทศไทย 6.พรรคเศรษฐกิจใหม่ จดทะเบียนโดย นายสุภดิช อากาศฤกษ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส จำกัด
7.พรรคไทยเอกภาพ จดทะเบียนโดย นายโสรัจจ์ ดาศรี อดีตหัวหน้าพรรคไทยประชาธิปไตย 8.พรรคสหประชาไทย จดทะเบียนโดย นายสพันธ์นัณ เยี่ยมเมธากร ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับ บริษัท เยี่ยมเมธากร จำกัด 9.พรรคชาติพันธุ์ไทย จดทะเบียนโดย นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงยอง จ.ลำพูน 10.พรรครักษ์แผ่นดินไทย จดทะเบียนโดย นายวิริยะ ช่วยบำรุง ข้าราชการบำนาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ 11.พรรคแผ่นดินธรรมจดทะเบียนโดย นายกรณ์ มีดี รองประธานสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย 12. พรรคกรีน จดทะเบียนโดย นายพงศา ชูแนม อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยที่ผ่านมาพบว่า นายพงศาเคยขึ้นเวที กปปส. 13.พรรคประชานิยมจดทะเบียนโดย น.ส.ภิญญาดา ไพรัช 14.พรรคพลังสยามจดทะเบียนโดย นายวิษณุ อินทรพยุง อดีตประธานพรรคพลังมวลชน 15.พรรคของประชาชนจดทะเบียนโดยนายสุรวัชร สังขฤกษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
16.พรรคพลังอีสานจดทะเบียนโดย นายทนงศักดิ์ วงศ์ณรัตน์ 17. พรรครวมใจไทย จดทะเบียนโดย นายนพดล อมรเวช อดีตหัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 18.พรรคไทยศรีวิไลย์ จดทะเบียนโดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีตผู้ชำนาญการประจำสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 19.พรรคประชามติ จดทะเบียนโดย นายอนุชิต งามพัฒนพงศ์ชัย 20.พรรคพลังไทยยุคใหม่จดทะเบียนโดย นายมนัส คงสะอาด 21. พรรคไทยรุ่งเรืองจดทะเบียนโดย นายฉัตรชัย แนวพญา นายกพุทธสมาคมจังหวัดชลบุรี 22. พรรคเพื่อสตรีไทยจดทะเบียนโดย น.ส.รวิภา กองแก้ว
23.พรรครากแก้วไท จดทะเบียนโดย พ.ต.อ.รักษิต ศักดิ์ผิวฝาด ผู้ก่อตั้งกลุ่มพลังอีสาน 24.พรรคน้ำใจไทย จดทะเบียนโดย นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ โดยนามสกุลของนายไกรสีห์นั้นสืบค้นได้ว่าเป็นนามสกุลของผู้บริหารธุรกิจไทยสงวนกรุ๊ป 25.พรรคไทยเสรีประชาธิปไตยจดทะเบียนโดย นายมณฑล บุญวรรณ 26.พรรคคนสร้างชาติจดทะเบียนโดย นายล้วน นามสอน 27.พรรครวมไทยใหม่ จดทะเบียนโดย นายบุญสวยโสภณ สกุลกิจเจริญชัย 28.พรรคสยามไทยแลนด์ จดทะเบียนโดย นายสยามบารมี บารมีสยาม 29.พรรคปฎิรูปประเทศไทยจดทะเบียนโดย นายนันทวัฒน์ ปรารภกุล นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ30.พรรคภาคีเครือข่ายไทย จดทะเบียนโดย นายกิตติศักดิ์ กุนอก
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเบื้องต้น ของพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มีการยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นทางการในวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า แต่ละพรรคนั้น มีรายละเอียดของผู้ก่อตั้งเป็นใครมาจากไหน และเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ขณะที่กำหนดการจดทะเบียนพรรคการเมืองสามารถทำได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หลังจากนี้จะมีผู้มายื่นจดทะเบียนพรรคใหม่เพิ่มเติมอีกหรือไม่
ส่วนพรรคการเมืองเหล่านี้จะแสดงบทบาทในเวทีการเมืองไทย ในสนามการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้โดดเด่น หรือเป็นแค่ไม้ประดับ ประกอบฉาก คงต้องติดตามดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป