เรื่องจริงของ "ต้มยำกุ้ง" (3) คำถามโยงกลุ่มป่วนใต้ กับแรงใจสู่ประชาคมอาเซียน
มีอยู่ 2 คำถามที่คนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไปเป็นผู้ประกอบการและแรงงานใน "ร้านต้มยำกุ้ง" ไม่ยอมตอบ ทั้งยังแสดงท่าทีไม่อยากพูดถึง คือ 1.ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบ กับ 2.ภูมิลำเนาที่แท้จริงในประเทศไทย
จากท่าทีที่ปรากฏพอจะอนุมานได้ว่า ในแง่ของความเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น พวกเขาก็รู้ดีว่ามีคนในระบบร้านต้มยำ "ส่วนหนึ่ง" เคลื่อนไหวอยู่จริง แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่อาจมีอิทธิพลสูงจนไม่มีใครกล้าเอ่ยถึง หรือไม่อยากเอ่ยถึง
ประกอบกับหน่วยงานความมั่นคงไทยมองอย่างเหมารวมว่า คนในระบบร้านต้มยำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือแรงงาน ล้วนพัวพันกับขบวนการก่อความไม่สงบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในมิติของการให้ที่พักพิงและเงินทุนสนับสนุน พวกเขาจึงไม่ต้องการพูดถึง เพราะยิ่งพูดก็จะยิ่งถูกมองในแง่ลบ
ส่วนภูมิลำเนาที่แท้จริงในประเทศไทยที่พวกเขาปิดปาก พยายามไม่ก้าวล่วงนั้น ก็เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย จากรายได้จำนวนมหาศาลที่พวกเขาได้รับและส่งกลับบ้านนั่นเอง...
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวของ "ต้มยำกุ้ง" ดูจะมีอะไรลึกๆ ลับๆ และสลับซับซ้อนตลอดเวลา
อย่างไรก็ดี ประเด็นความเกี่ยวพันระหว่างร้านต้มยำกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น ได้ถูกนำขึ้นมาพูดกันบนโต๊ะเป็นครั้งแรกโดยบังเอิญ สืบเนื่องจากกรณีที่มีสื่อบางฉบับนำภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขณะพบปะพูดคุยกับ "ชมรมต้มยำกุ้ง" ในมาเลเซีย เพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ผ่านทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์
สื่อบางฉบับที่ว่านั้นนำภาพไปตีพิมพ์ แล้วทำลูกศรชี้ไปที่คนในชมรมต้มยำกุ้งคนหนึ่งว่าคือ "ซำซูดิง คาน" แกนนำขบวนการพูโล และสรุปว่า พ.ต.อ.ทวี ไปพูดคุยเจรจาเรื่องปัญหาความไม่สงบ
ทว่าภายหลังความจริงปรากฏ...คนที่ถูกระบุว่าเป็น "ซำซูดิง คาน" นั้น แท้ที่จริงแล้วคือ นายซัมซูดิง วาซูกาเตาะ หรือ ซัมซูดิง ดิงฮูเซ็ง หรือ วันซำซูดิง ดินวันฮูเซ็น ประธานชมรมต้มยำกุ้ง เป็นคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับขบวนการพูโล
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกๆ ที่คนในชมรมต้มยำกุ้งยอมตอบคำถามถึงความเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอย่างชัดถ้อยชัดคำ และเป็นการตอบคำถามผ่านสื่อ!
พวกเราไม่ใช่โจร!
วันเสาร์ที่ 21 เม.ย.2555 ที่โรงแรมบีพี แกรนด์ ทาวเวอร์ หาดใหญ่ นายวันซำซูดิง พร้อมครอบครัว และสมาชิกในชมรมต้มยำกุ้งอีก 2 คน คือ นายอภิชาติ เหล็มโซะ เจ้าของร้านลาล่า ซึ่งเป็นสถานที่พบปะพูดคุยกับ พ.ต.อ.ทวี กระทั่งมีถ่ายภาพถูกนำมาเผยแพร่ในสื่อไทย และ นายอับดุลวาฮะ กามา ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
"พวกผมเดินทางมาวันนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พวกผมประกอบอาชีพสุจริต คำว่า 'ต้มยำกุ้ง' ในประเทศมาเลเซีย คืออาหารไทยฮาลาล พวกผมเป็นผู้บุกเบิก เจ้าของร้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจาก จ.สงขลา ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ สาเหตุที่ร้านใช้โลโก้ต้มยำกุ้ง เพราะง่ายต่อการจดจำของชาวมาเลเซีย" วันซำซูดิง กล่าวในตอนต้นของการแถลงข่าว
เขาบอกต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ชมรมต้มยำกุ้งถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เนื่องจากการข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐระบุมาตลอดว่าเป็นผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ไม่เป็นความจริงเลย แต่ข่าวลักษณะนี้ก็ทำให้สื่อมวลชนนำไปเสนอและสร้างความเสียหายตามมา
"ปัญหานี้ทำให้คนที่เปิดร้านต้มยำกุ้งต้องตกเป็นจำเลยของสื่อที่ออกข่าว ต้องเกิดความหวาดกลัวที่จะกลับบ้านในประเทศไทย เพราะกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ฉะนั้นหากเป็นไปได้จึงอยากให้แก้ข่าวตรงนี้ด้วยว่าพวกเราไม่ใช่โจร พวกเราแค่ไปทำงานเพื่อส่งลูกเรียน อนาคตเราก็ไม่อยากให้ลูกไปเปิดร้านอยู่ต่างแดนแบบนี้ อยากให้ลูกเป็น ส.ส. เป็นผู้แทนประชาชน เป็นข้าราชการในประเทศไทยมากกว่า ไม่อยากให้ต้องทำงานลำบากแบบรุ่นพ่อ"
กรุ๊ปทัวร์หนี-ลูกค้าลด 70%
นายวันซำซูดิง ยังเล่าถึงผลกระทบที่ได้รับจากข่าวร้ายในมุมมองของเขาว่า กรุ๊ปทัวร์ในช่วงสงกรานต์ที่จองโต๊ะไว้วันละ 200-300 คนยกเลิกการจอง ลูกค้าลดลงถึงวันละ 70%
"กรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กับคณะไอแบงก์เดินทางไปพบผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งนั้น เป็นการไปคุยเรื่องเงินกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศมาเลเซีย ไม่ได้มีเรื่องอื่นเลย และผมคิดว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ควรเจรจากับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเวิร์ค เพอร์มิต หรือใบอนุญาตทำงานในมาเลย์ เพื่อช่วยแรงงานไทย หากทำสำเร็จจะขอบคุณมากๆ"
ไม่รับประกัน "แรงงาน" เอี่ยวป่วนใต้
ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าร้านต้มยำกุ้งเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ก่อเหตุแล้วก็หนีข้ามฝั่งไปทำงาน พอเรื่องเงียบก็กลับบ้าน แล้วเตรียมไปก่อเหตุใหม่นั้น เรื่องนี้ วันซำซูดิง ให้ทัศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจ
"ในส่วนของผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งที่อยู่ในชมรม ผมคิดว่าสามารถตรวจสอบได้ทุกราย แต่ในส่วนของแรงงานที่เข้าไปทำงานในร้าน ส่วนใหญ่เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยมีการตรวจสอบประวัติ และพวกผมก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าแต่ละคนมีประวัติมาอย่างไร เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่" ประธานชมรมต้มยำกุ้ง กล่าว
เป็นโจรไม่ง่าย...ถูกมองแง่ร้าย-เพื่อนๆ รังเกียจ
เมื่อสอบถามถึงผลกระทบที่เกิดกับครอบครัว คำตอบจากทั้งตัววันซำซูดิงเอง และลูกหลานของคนในเครือข่ายร้านต้มยำทำให้สรุปได้ว่า หากพวกเขาเป็น "โจร" หรือเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ก็คงใช้ชีวิตอยู่ไม่ง่ายนักเช่นกัน
"หลังมีข่าวที่เสนอผิดพลาดว่าพวกเราเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ลูกๆ ได้รับผลกระทบ เพื่อนๆ จะถามว่าพ่อเป็นโจรหรือ เด็กก็รู้สึกเสียใจ ผมมีลูกเรียนอยู่ ป.5-ป.6 เด็กวัยนี้รับอะไรเข้ามาแบบไม่มีระบบคิด ก็เลยเชื่อ รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน แต่โชคดีที่ช่วงนี้โรงเรียนปิดเทอม" วันซำซูดิง กล่าว
ขณะที่ ณัฐริกา ท้อสุวรรณ หลานสาววัย 18 ปีของวันซำซูดิง ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนานาชาติในมาเลเซีย บอกว่า รู้สึกตกใจมากที่ได้ยินข่าวว่าลุงเป็นโจร เพื่อนๆ พากันถามว่าเป็นอย่างไร นอกจากนั้น คนที่รู้จักก็จะถามถึงเรื่องนี้กันหมด รู้สึกเสียใจ เพราะทุกคนทั้งอา น้า ลุง และคนในครอบครัวไปเปิดร้านต้มยำ ทำงานสุจริต ไม่ได้เป็นอย่างที่ข่าวเสนอ
"เรารู้ดีเรื่องครอบครัว เราไม่ไปยุ่ง แม้แต่คิดก็ไม่เคยคิด มั่นใจว่าลุงและอีกหลายคนไม่ใช่โจรอย่างที่ถูกกล่าวหา" ณัฐริกา กล่าว
นางรอปิอะห์ ยะอาแว อายุ 45 ปี เจ้าของร้านต้มยำกุ้งร้านหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เล่าว่า มีข่าวออกที่เมืองไทย 4 วันก่อนที่ลูกจะปิดเทอม ปรากฏว่าลูกไม่ไปโรงเรียนเลย เพื่อนๆ ของลูกที่โรงเรียนก็หาย ไม่โทรศัพท์คุยกันเหมือนเคย
"โรงเรียนนานาชาติที่ลูกเรียนอยู่จะมีคนกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยไปเรียนประมาณ 70 คน เมื่อก่อนจะมีเพื่อนๆ ของลูกมากินข้าวที่ร้าน เสร็จแล้วก็จะไปส่งลูกและเพื่อนๆ ของลูกที่หอพักของโรงเรียน แต่พอหลังจากมีข่าวก็หายไปเลย บางทีก็เจอในอินเทอร์เน็ต มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ หาว่าพวกเราเป็นโจร ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ครูเองก็เรียกลูกไปเข้าไปพบ รู้สึกเสียใจที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ อยากให้แก้ข่าวว่าเราไม่ได้เป็นโจร เราไปทำงานสุจริต" รอปิอะห์ กล่าว
ประชาคมอาเซียนคือความหวัง...
ตัดภาพไปที่มาเลเซียบ้าง ช่วงที่ "ทีมข่าวอิศรา" ข้ามฝั่งไปรายงานวิถีชีวิตของผู้ประกอบการและแรงงานในร้านต้มยำกุ้งนั้น มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนล้วนตั้งความหวัง นั่นก็คือการก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" หรือ ASEAN Community ในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) หรืออีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า
หลายคนเห็นว่าการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้การเดินทางข้ามไป-มาระหว่างไทยกับมาเลเซียเป็นไปอย่างสะดวกสบายและง่ายขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยในมาเลย์ ทั้งที่อยู่ในระบบต้มยำกุ้งและแรงงานในภาคบริการ ตลอดจนภาคเกษตร ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
รอคายะ สาและ สาวปัตตานีที่ไปทำงานเป็นแรงงานก่อสร้างในมาเลเซีย บอกว่า หากประชาคมอาเซียนเริ่มขึ้น และคนในภูมิภาคนี้สามารถเดินทางไปทำงานโดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต ไม่ต้องขอวีซ่าหรือประทับตราวีซ่า (จ๊อบพาสปอร์ต) ก็จะทำให้ต้นทุนในการทำงานลดลง ส่งเงินกลับบ้านได้มากขึ้น และนั่นคือยอดปรารถนาของเธอ
"ทุกวันนี้ฉันมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 800 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งก็ไม่ต่ำกว่า 24,000 บาท เงินที่ได้ทั้งหมดฉันจะเก็บส่งกลับบ้าน เพราะแทบไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเลยเลย ยกเว้นค่าเดินทางไปจ๊อบพาสปอร์ตเดือนละ 1,000 บาท ต้องไปทุกเดือน ถ้าไม่ไป พาสปอร์ตก็ตาย (วีซ่าขาดอายุ) เลยต้องยอมออกไปและเสียค่าเดินทางทุกเดือน ทำให้เหลือเงินกลับบ้านน้อยลง ฉะนั้นถ้าเปิดประชาคมอาเซียน ก็จะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ และจะได้อยู่ในมาเลย์แบบไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ด้วย"
ยิ่งมีข่าวว่า ศอ.บต.เตรียมผลักดันเปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยในมาเลย์ได้ศึกษาต่อ ยิ่งทำให้ รอคายะ ดีใจที่รัฐไทยยังเหลียวแล
"ฉันถือว่าเป็นข่าวดีที่สุด เพราะฉันเรียนจบแค่ ป.6 ถ้ามี กศน.(ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน) ที่นี่ (มาเลเซีย) ฉันก็จะได้เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ฉะนั้นหากเปิดประชาคมอาเซียนน่าจะมีทางเลือกให้คนอย่างพวกเรามากขึ้น"
ขณะที่ อุสมาน มือสะ หนุ่มยะลาที่ได้ภรรยาเป็นชาวมาเลเซีย เล่าว่า ที่ผ่นามาเขาและภรรยาเข้า-ออกประเทศไทยด้วยยากลำบาก ต้องใช้พาสปอร์ต ต้องถูกตรวจสอบวุ่นวาย ใช้เวลามาก หนำซ้ำเวลาซื้อของจากประเทศไทยไปขายในมาเลย์ก็ต้องจ่ายภาษีเยอะมาก การใช้ชีวิตในมาเลย์ก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แม้จะทำใบอนุญาตทำงาน หรือ เวิร์ค เพอร์มิต ถูกต้องแล้วก็ตาม
"อยากให้เข้าใจว่าอำนาจอยู่ในมือเขา (เจ้าหน้าที่มาเลเซีย) แม้เราจะอยู่อย่างถูกกฎหมาย แต่ถ้าเขาไม่ชอบหน้าเรา เขาก็สามารถจับเราไปได้ และยัดข้อหาสารพัด ก็ได้แต่หวังว่าถ้าประชาคมอาเซียนเกิดเมื่อไหร่ ผมและอีกหลายคนที่มาเป็นเขยมาเลเซียจะมีความอิสระเสรีมากกว่านี้ และจะมีความสุขกว่านี้"
ส่วนปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมุมมของอุสมาน เขาเห็นว่ารากฐานของปัญหามาจากการแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์
"เป็นเรื่องปกติของพื้นที่ที่มีทรัพยากรเยอะ คิดว่าภาคใต้มีอะไรหลายๆ อย่างที่ ภาคอื่นไม่มี จึงเกิดการแย่งชิงผลประโยชน์กัน เมื่อไหร่ ที่ผลประโยชนลงตัว ปัญหาก็จะจบทันที ผมคิดว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะสามารถทำให้พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ฉะนั้นจึงรู้สึกดีใจที่ ศอ.บต.มีโครงการเปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในประเทศที่มีคนไทยอยู่เยอะ โดยเฉพาะมาเลเซียด้วย เพราะหากคนที่มาทำงานที่นี่แล้วเบื่อ ก็ยังได้เรียนและกลับไปหาอาชีพอื่นทำได้ที่เมืองไทย ไม่ใช่กลับไปใช้แรงงานเหมือนเดิม"
ทลายกำแพงเขตแดน...แนบแน่นพี่น้องสองฝั่ง
ด้านความรู้สึกของคนมาเลเซีย ก็ไม่แตกต่างจากคนไทยที่ข้ามไปทำงานมากนัก อย่าง มาเรียม เบ็นอิสมาแอล ซึ่งเป็นชาวมาเลย์โดยกำเนิด บอกว่า รู้สึกดีใจที่จะมีประชาคมอาเซียน เพราะจะทำให้มีความสะดวกสบายในการเดินทางเข้า-ออกประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกับประเทศไทย
"มีความรู้สึกว่าคนมลายูปัตตานีก็เหมือนกับเรา เหมือนเราเป็นพี่น้องกัน ถ้าเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว คนที่มีญาติฝั่งโน้น (หมายถึงฝั่งไทย) ก็สามารถไปเยี่ยมญาติได้ง่าย คนปัตตานีหากจะข้ามมาทำงานที่มาเลย์ก็ง่าย ไม่ต้องถูกจับเหมือนที่โดนอยู่ตอนนี้ สงสารทุกครั้งที่เห็น บางที่นั่งๆ อยู่ตำรวจมาจับต่อหน้าเลย เราก็สงสาร แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้"
"ฉะนั้นเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนเมื่อไหร่ การทำงานคงง่ายและคล่องตัวขึ้น ส่วนการเตรียมพร้อมของคนมาเลเซียเอง ก็มีความตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจมาก เราจะได้ทำธุรกิจกันง่ายขึ้น ที่สำคัญสินค้าจากประเทศไทยราคาถูกกว่าที่นี่มาก ก็คิดว่า อะไรๆ จะดีขึ้นถ้าเราเป็นประชาคมอาเซียนด้วยกัน"
มาเรียม ยังเห็นว่า เมื่อไทยกับมาเลเซียก้าวสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงโดยปริยาย...
"เชื่อว่าปัญหาจะหยุดได้ เพราะสาเหตุของปัญหามาจากคนมลายูปัตตานีไม่ได้รับความเป็นธรรม การที่เปิดประเทศ พวกเขาก็สามารถเลือกอยู่ที่ไหนก็ได้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมตามที่ต้องการ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็จะจบ" มาเรียม กล่าวอย่างมีหวัง
ขณะที่ อับดุลอาเซ็น เบ็ญอูมา หนุ่มนักธุรกิจชาวมาเลเซีย กล่วว่า ทุกวันนี้ข้ามไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อยู่บ่อยๆ เพื่อไปซื้อสินค้ามาขายในมาเลย์ เพราะสินค้าจากประเทศไทยราคาถูกและมีคุณภาพ
"ถ้าเราเป็นประชาคมอาเซียนด้วยกัน ผมว่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นอีกมาก ผมชอบประเทศไทยมาก และอยากไปอยู่นานๆ แต่งานรัดตัว และมีค่าใช้จ่ายสูง ฉะนั้นถ้าเปิดประชาคมอาเซียน การเดินทางไปมาคงสะดวกขึ้นอีก ส่วนสถานการณ์ความไม่สงบที่ชายแดนใต้ผมไม่กลัว และคิดว่าไม่อันตราย เพราะคนที่ทำมีเป้าหมายชัดเจน ไม่มาทำคนอื่นที่ไม่รู้เรื่องอะไรอย่างเราแน่นอน" อับดุลอาเซ็น กล่าว
เป็นความรู้สึกและมุมมองของคนมาเลเซียที่มีต่อประเทศไทย และต่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังเดินไปสู่จุดท้าทาย...โดยเฉพาะเมื่อประชาคมอาเซียนเปิดประตู!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การแถลงข่าวของ "ชมรมต้มยำกุ้ง" โดยนาย ซัมซูดิง หรือ วันซำซูดิง ดิงฮูเซ็ง ประธานชมรมต้มยำ คือคนสวมแว่น นั่งกลาง
2 นายอับดุลอาเซ็น