ชายแดนใต้"นร.พิการ"ครึ่งหมื่น - เหยื่อรุนแรง 350 ราย ทุ่ม 155 ล้านตั้งศูนย์ดูแล
ตะลึง! ยอดผู้พิการวัยเรียนที่ชายแดนใต้สูงกว่าครึ่งหมื่น ขณะที่เหยื่อพิการจากสถานการณ์ความไม่สงบพุ่ง 350 ราย ชงงบ 155 ล้านสร้างศูนย์ศึกษาเยียวยาฟื้นฟู หวังให้ผู้พิการได้เรียนหนังสือ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้พึ่งตนเองได้ ด้านความคืบหน้าเยียวยากรณีเหยื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ศอ.บต.ประเดิมจ่าย 7.5 ล้าน 4 ศพปัตตานี แต่แบ่งจ่ายเป็นเงินสด 3 ล้าน พันธบัตรรัฐบาลอีก 4 ล้าน
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ของบประมาณ 155 ล้านบาทเศษ เพื่อจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการศึกษาเยียวยาและฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังตรวจสอบข้อมูลในพื้นที่พบว่ามีเด็กพิการที่อยู่ในวัยเรียนมากกว่า 5,000 คน ทั้งยังมีผู้พิการจากสถานการณ์ความไม่สงบอีกหลายร้อยคนที่ไม่ได้รับการดูแล
ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา (กพต.) ครั้งที่ 2/2555 เมื่อไม่นานมานี้ ศอ.บต.ได้เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า จากการสำรวจข้อมูลเด็กพิการในวัยเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนมากถึง 5,406 คน แต่ได้เรียนในระบบโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้พิการเพียงร้อยละ 3 ด้วยเหตุจำเป็นหลายประการ ทำให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กพิการร้องขอให้มีการจัดตั้งโรงเรียนเฉพาะสำหรับผู้พิการขึ้น เพื่อจะได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนในเขตพื้นที่ ไม่ต้องเดินทางไปไกลถึง จ.สงขลา หรือภาคใต้ตอนกลาง
สำหรับเด็กพิการในวัยเรียนทุกประเภทในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5,406 คน แยกเป็น จ.ยะลา 1,230 คน จ.ปัตตานี 3,446 คน และ จ.นราธิวาส 1,730 คน ส่วนผู้พิการที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ มีจำนวน 350 คน แยกเป็น จ.ยะลา 157 คน จ.ปัตตานี 63 คน จ.นราธิวาส 123 คน และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 7 คน
ฉะนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและยกระดับมาตรฐานการศึกษาของผู้พิการในวัยเรียน และเยียวยาฟื้นฟูผู้พิการที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ให้ดีขึ้น ให้สามารถช่วยเหลือตนเอง มีชีวิตอยู่ในสังคมได้เฉกเช่นคนปกติ ไม่เป็นภาระต่อครอบครัว ทางสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และศูนย์การศึกษาพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการศึกษาเยียวยาและฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น โดยใช้พื้นที่ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา
สำหรับสาเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 2 มีพื้นที่ว่างเปล่าจากการใช้ประโยชน์ประมาณ 30 ไร่ โดยมีงบก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์จำนวน 155.639 ล้านบาท เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2558
ข้อมูลจาก ศอ.บต.ยังระบุด้วยว่า ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 2 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 กำหนดให้รัฐต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยเฉพาะบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทั้ง 9 ประเภทความพิการ ต้องจัดให้มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาเป็นพิเศษ โดยให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับความสะดวก สื่อบริการ และการช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพต.ได้เห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการศึกษาเยียวยาและฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ งบประมาณ 155.639 ล้านบาท และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการประสานกับสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาแหล่งเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการต่อไป
6 โรงเรียนสำหรับผู้พิการภาคใต้
สำหรับสถานศึกษาที่มีภารกิจดูแลคนพิการในพื้นที่ภาคใต้มีทั้งสิ้น 6 แห่ง โดยทั้งหมดไม่ได้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
1.โรงเรียนชุมพรปัญญานุกุล รับเฉพาะนักเรียนที่ความพิการทางสติปัญญา
2.โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกุล รับเฉพาะนักเรียนที่พิการทางสติปัญญา
3.โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญยานุกุล รับเฉพาะนักเรียนที่พิการทางสติปัญญา
4.โรงเรียนสงขลาพัฒนาปัญญา รับเฉพาะนักเรียนที่พิการทางสติปัญญา
5.โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี รับเฉพาะนักเรียนที่พิการทางการมองเห็น
6.โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา รับเฉพาะนักเรียนที่พิการทางการได้ยิน
ประเดิมจ่ายเยียวยา 7.5 ล้าน "4 ศพปัตตานี"
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" เพิ่มเติมว่า การประชุม กพต.เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ตามระเบียบ กพต.ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555
ทั้งนี้ ในส่วนของเหตุการณ์ทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ขณะปฏิบัติหน้าที่ติดตามคนร้ายที่ลอบยิงฐานทหาร เมื่อค่ำวันที่ 29 ม.ค.2555 ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั้น คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์แล้วว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และกระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์
ดังนั้น ที่ประชุม กพต.จึงเห็นว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี กพต.จึงให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมกรณีผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย รายละไม่เกิน 7 ล้านบาท จากที่เคยช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วรายละ 5 แสนบาท โดยกำหนดเงื่อนไขคือ ช่วยเหลือเยียวยาทันทีรายละ 3 ล้านบาท และช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินออมระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วเงินธนาคารในวงเงินอีกรายละ 4 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นรายปี ปีละ 1 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ หรือใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของทายาท ครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือประโยชน์อื่น เช่น อุปการะบุตร หรือไปประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นไปตามระเบียบ กพต. ข้อ 7 (1) และ (2) ที่ว่า กพต.โดยการเสนอของเลขาธิการ ศอ.บต. กรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน จำนวนเงิน 7 ล้านบาท
-------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงจำนวนผู้พิการในวัยเรียน และพิการจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ