เปิดห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21 กับโจทย์ท้าทายในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้
คำถามว่าในโลกยุคดิจิทัล ระบบการศึกษาต้องเป็นแบบใด ทำอย่างไรให้ ‘กระบวนการเรียนรู้’ กับ ‘หลักสูตร' ที่น่าสนใจ รวมไปถึง ‘กระบวนการคิด’ เพื่อนำมาสู่ ‘ความรู้’ แนวทางที่จะพัฒนาเพื่อยกระดับห้องเรียน การใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มาผสมผสาน โดยยังไม่ลืมบริบทของพื้นที่ บริบทสังคม นี่อาจเป็น“ห้องเรียนแห่งอนาคต” ในศตวรรษที่ 21
ในหนึ่งวันนักเรียนมัธยมต้องเรียนกี่คาบ? เรียนหนักไปหรือเปล่า?
นโยบายลดคาบเรียน ลดการบ้านที่รัฐบาลเข็นออกมา เพื่อจุดมุ่งหมายว่า เปิดเวลาให้นักเรียนมากขึ้น ขณะเดียวกันการเดินไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่อีกไม่นานทักษะหลายอย่างที่ถูกแทนที่ด้วยหุ่นอัจฉริยะ (AI) ทั้งหมดคือสิ่งที่เรารับรู้ผ่านสื่อตลอดช่วงที่ผ่านมา พร้อมคำถามว่า ถ้าเราจะสร้างคนคนหนึ่งให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคต การเรียนในแบบเดิมยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ ?
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เชื่อเหลือว่า หลายคนคงไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า อีกพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย มีโรงเรียนที่นักเรียนต้องเรียนถึง 50 คาบต่อสัปดาห์ เฉลี่ยแล้ววันละ 10 คาบ ครอบคลุม 16 กลุ่มสาระวิชา ฟังครั้งแรกเป็นเรื่องน่าตกใจมากสำหรับคนต่างพื้นที่ แต่นี่คือความจริงและเป็นเรื่องปกติของนักเรียนที่เรียนในสายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ต้องสอนควบคู่ทั้งวิชาสามัญและวิชาศาสนา
อีกมุมหนึ่งคล้ายว่า พื้นที่ที่ว่าเป็นอีกหนึ่งในโลกคู่ขนานของการเรียนการศึกษาที่วันนี้มุ่งหวังว่า ให้เด็กเรียนน้อยลง ลดคาบ ลดการบ้าน
รศ.ดร.อิบรอฮีม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการฝ่ายบัณฑิตและวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าว่าผู้นับถือศาสนาอิสลามจะเรียนปอเนาะตั้งแต่เด็ก เป็นชีวิตที่ศึกษาหนักมาก และไม่มีโอกาสใช้เวลาส่วนตัว
"เวลาพูดเรื่องบูรณาการ ทุกโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาก็บอกว่าบูรณาการแต่ต้องดูจริงๆ คำว่า “บูรณาการ” คืออะไร เด็กปอเนาะหนึ่งคนตื่นตั้งแต่ตีสี่ ตีห้า เริ่มละหมาดเวลาแรก และเริ่มเรียนวิชาศาสนาทันทีหลังจากละหมาด เสร็จแล้วต้องเตรียมตัวเข้าเรียนในโรงเรียนตอนแปดโมงเช้า เรียนไปอีก 10 คาบกว่าจะเสร็จเย็นก็หมดแรง ตกกลางคืนถ้าเป็นเด็กอยู่ประจำก็ต้องเรียนอัลกุรอ่าน เรียนกีตาบ (ตำราเรียนศาสนา) อีก กว่าจะเสร็จก็สี่ทุ่ม และวนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ"
เรียกว่าแทบจะไม่มีเวลาหายใจ รศ.ดร.อิบรอฮีม บอกว่า ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้เด็กจะเกิดภาวะซึม หรือที่เรียกว่า เป็นออทิสติกเทียมโดยไม่รู้ตัว ในการที่จะแก้ไขคือโจทย์ว่าทำอย่างไรให้เขาเรียนน้อยลง กลับมาคือคำว่า “บูรณาการ” คอนเซ็ปต์การศาสนาแบบเข้ม เช้าไปเรียนสามัญ แล้วค่อยมาบูรณาการตอนท้าย ก็เหมือนการเทกาแฟ น้ำตาล น้ำร้อนลง ลงปากแล้วให้ไปผสมกันในท้อง
เพราะฉะนั้นการบูรณาการคือโจทย์ว่า เราจะทำกาแฟอย่างไรให้ทานได้ตั้งแต่อยู่ในแก้ว
อีกหนึ่งปัญหาที่ดร.อิบรอฮีม ชี้ให้เห็นคือ เป้าหมายการศึกษาในพื้นที่ที่ถูกตั้งไว้ว่าเรียนจบต้องสอบได้หมอ ถึงจะเป็นคนประสบความสำเร็จ กลายเป็นว่าคนที่ไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้คือคนไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่
“ยกตัวอย่าง ตัวผมจบปริญญาเอกสายศิลป์ ซึ่งผมมีความสามารถทางนี้ เราพิสูจน์ว่า ไปได้ แต่เด็กหลายคนในพื้นที่เสียโอกาสตรงนี้เพราะไม่ถูกทำให้เห็นว่า การเรียนในสิ่งที่ถนัดก็สามารถประสบความสำเร็จได้” ดร.อิบรอฮีม ถ่ายทอดมุมมอง และว่า ในขณะเดียวกัน การจัดการเรียนรู้ในพื้นที่สามารถดึงเอาสิ่งที่เรียกว่า Islamization หรืออิสลามนุวัฒน์ มาใช้ในโรงเรียนได้
“เรามักบอกว่าคอนเซ็ปต์ถ้าจะภาษาอังกฤษได้ดีต้องเรียนวัฒนธรรมของเขา เปิดมาหน้าแรกเข้าเรื่องออกเดท แบบนี้ก็มาขัดกับหลักการของศาสนาซึ่งเป็นพื้นฐานความเชื่อของคนในพื้นที่ หรือบอกว่าเด็กไม่ชอบเรียนภาษาไทย ไม่ใช่เพราะไม่อยากเรียนรู้ แต่บริบทหลักสูตรไม่ได้ปรับเข้ากับพื้นที่ เปิดมาหน้าแรก บอกเข้าวัด เด็กที่อยู่ในสังคมมุสลิมก็รู้สึกขัดแย้ง เพราะเขาไปมัสยิด ดังนั้น Islamization คือทำอย่างไรให้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนเรื่องเดียวกันแต่เข้าได้กับสังคม บริบทของพื้นที่”
“คราวนี้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ต้องปรับเพราะวันนี้พิสูจน์ว่า การเรียนแบบนี้หนักเกินไป แล้วถ้าจะบูรณาการก็มาดูว่าจะดึงแนวคิด คอนเซ็ปต์ไหนมาปรับ” ดร.อิบรอฮีม ทิ้งโจทย์ไว้
โรงเรียนศาสนศึกษา อ.สายบุรี จ.ปัตตานี คือหนึ่งในโรงเรียนที่ว่านั้น ที่นี่สอนเต็ม10 คาบทุกวัน มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงมัธยม 6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 1,648 คน ทุกคนล้วนนับถือศาสนาอิสลาม
“ที่ผ่านมาเด็กๆ ต้องเรียนหนักมากและเน้นการท่องจำ เขาจึงเบื่อหน่าย ไม่สนุก ไร้ชีวิตชีวา ไม่กล้าแสดงออก เวลาเจอคนแปลกหน้าก็ไม่กล้าพูด ยิ่งต้องพูดภาษาไทยซึ่งไม่ใช่ภาษาที่ถนัดก็ยิ่งแล้วใหญ่” อัสมะ หะยีมอหะมะสอและ ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนศึกษา เล่าถึงปัญหาที่พบเจอ
เธอเล่าอีกว่า ไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้นที่เจอปัญหา ตัวครูผู้สอนเองก็ขาดทักษะว่าจะต้องจัดการเรียนการสอนให้เชื่อมโยงกันอย่างไร และนั่นก็เป็นจุดเริ่มที่ผู้บริหารโรงเรียนไฟแรงออกมองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุกกว่าเดิม
กระทั่งได้เจอโครงการ Samsung Smart Learning Center ของซัมซุง เธอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างไม่ลังเล
โครงการ Samsung Smart Learning Center หรือ “ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต” ถูกจุดประกายขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายคือส่งเสริมและพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แก่เด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศผ่านแนวคิด ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ นำเทคโนโลยีมากระตุ้นแรงบันดาลใจ เปิดพื้นที่การค้นหาศักยภาพตนเองเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต
โรงเรียนศาสนศึกษา เป็น 1 ใน 47 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ห้องเรียนแห่งอนาคต’ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือภายใน 2 ปี
“ที่นี่เป็นโรงเรียนเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของมูลนิธิ คิดค่าเทอมแค่ 100 บาท/ปีการศึกษา สำหรับเด็กไป-กลับ ส่วนเด็กที่อยู่ประจำที่โรงเรียนคิดค่าเทอมเพียง 500 บาท/ปีการศึกษา” ผอ.อัสมะ ระบุ
แน่นอนว่าการปรับห้องเรียนให้ทันสมัย เพื่อทันกับโลกที่หมุนเร็วในปัจจุบัน ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล และนี่คือโจทย์ท้าทายที่ อัสมะยอมรับว่า ปัจจุบันนอกเหนือจากงบอุดหนุนการศึกษาแล้ว โรงเรียนยังต้องหางบจากส่วนอื่นๆ เช่นงบประมาณช่วยเหลือจากต่างประเทศ เป็นต้น
เมื่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและนำมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนที่ถือว่าเป็นปอเนาะ เป็นโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลาม อีกแรงท้ายทาย แรงกดดันที่ อัสมะ ในฐานะผู้บริหารต้องแบกรับ คือกระแสต้านจากกลุ่มผู้ปกครอง เพราะเกรงจะทำให้วิชาเรียนศาสนาน้อยลงหรือปฏิบัติตามหลักศาสนาไม่เต็มที่
(ตารางเรียนแบบหลักสูตรปกติ)
(ตารางเรียนหลักสูตรบูรณาการ)
ปี 2560 จึงเป็นบทพิสูจน์ที่ช่วยทำให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้าใจมากขึ้นว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบที่ว่าช่วยพัฒนาทักษะนักเรียนอย่างไร นางสาวอัสมะ เล่าว่า โรงเรียนจัดทำหลักสูตรใหม่ที่บูรณาการทั้งวิชาสามัญและวิชาอิสลามศึกษา ในห้องเรียนแห่งอนาคตเด็กๆ จะได้เรียนรู้แบบ Active Learning ครูเป็นโค้ชหรือผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความน่าสนใจ กระทั่งพัฒนาเป็น “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21”
เธออธิบายอีกว่า การเรียนรู้รูปแบบใหม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการและหลักศาสนา ให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ได้ “หลักสูตรของเราจะบูรณาการวิชาอิสลามศึกษากับวิชาสามัญ เพื่อให้นักเรียนใช้เวลาท่องจำน้อยลง แต่ได้เวลาเรียนรู้และมีความสุขที่มาโรงเรียนเพิ่มขึ้น”
นอกจากบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน หัวใจสำคัญของ “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ยังเชื่อมโยงกับชุมชน โดยที่ผ่านมาปัญหาความไม่สงบ ทำให้ครูไม่เคยพาเด็กๆ ออกสู่โลกกว้าง แต่เมื่อเข้าโครงการ Samsung Smart Learning Center มีการปรับวิธีคิดและนำเด็กๆ ทำงานแบบกลุ่ม ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องราวคนท้องถิ่น ปรากฎว่า ได้รับการตอบรับจากชุมชนอย่างดี ขณะที่เด็กๆ ก็ตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้จากคนจริงๆ แทนที่การเรียนจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว
สุนันต์ สะซีลอ หรือ “ครูฟี” ผู้สอนวิทยาศาสตร์ และครูที่ปรึกษาหลักประจำโครงการ Samsung Smart Learning Center ของโรงเรียนศาสนศึกษา เล่าว่า ความเคยชินเดิมๆ คือครูต้องถือไม้เรียวทุกเช้า แต่วันนี้เปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่า ถ้าครูมีคอนเทนต์ที่ดี มีกระบวนการสอนที่เชื่อมโยง จะดึงดูดให้เด็กหันมาสนใจเรียนรู้
“ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชดูแลให้เด็กอยู่ในประเด็นสาระการเรียนรู้ สามารถตั้งคำถาม นำเสนอความคิดเห็น ใช้เทคโนโลยีค้นคว้า แก้ปัญหา และระดมสมอง ทำงานเป็นทีม โดยมีวิชาอิสลามศึกษาสอดแทรกในทุกเนื้อหา เช่น วิธีบริหารเงินตามหลักศาสนาไม่คิดดอกเบี้ย ต้องทำอย่างไร เป็นต้น”
อีกกลยุทธ์หนึ่งที่ได้ผล ครูฟีอธิบายว่า คือการนั่งเรียนแบบโต๊ะกลม ทำให้เด็กและครูสามารถสื่อสารกันได้อย่างใกล้ชิด
“เด็กๆ อยากมาเรียนหนังสือ บางคนขอเพิ่มอีก 1 วันต่อสัปดาห์ วันไหนขาดเรียนเขาจะเสียใจมาก เฟซบุ๊กมาเล่าให้ครูฟัง เมื่อก่อนเวลาฝนตกหนัก ห้องเรียน 30 คน จะเหลือแค่คนสองคน แต่ทุกวันนี้มาถึง 27 คน เราเห็นพัฒนาการความสำเร็จตรงนี้” ครูฟีเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มแห่งความภูมิใจ
อีกหนึ่งความสำเร็จที่คณะครูในหลักสูตรพูดเป็นเสียงเดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงของ ด.ช.อับดุลซาลาม ที่ครูซาฮีดา มะเสาะห์ผู้สอนวิชาภาษาไทย เล่าอย่างประทับใจว่า ด.ช.อับดุลซาลาม คือหนึ่งในเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัด เขาต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียพ่อแม่จากเหตุก่อการร้ายต่อหน้าต่อตาจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สื่อสารกับใครและปกติจะซ่อนตัวอยู่ใต้โต๊ะ จนกระทั่งได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ตอนขึ้นม.1 ครูต้องปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรให้เขากลับมาสดใสแบบเดิม
แน่นอนว่านี่คือโจทย์ยากที่ทีมครูต้องคุยกันทุกวันว่าจะหากลยุทธ์อะไรมาใช้ แต่แล้วผลลัพธ์แห่งความพยายามก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อวันหนึ่ง หลังจากจบกิจกรรมลงพื้นที่ชุมชน นักเรียนทุกคนกลับมานั่งรวมตัวกันที่โรงเรียน พร้อมเข้าสู่ช่วงพูดคุยสรุปกิจกรรม ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนออกมาพูด และคนแรกที่ลุกขึ้นไป ทำเอาครูทั้งโรงเรียนตะลึง บางคนถึงกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่...
เพราะ ด.ช.อับุดลซาลาม คือคนคนนั้นที่ลุกขึ้นไปสรุป
วันนี้เขามีความสุขที่ได้มาเรียนร่วมกับเพื่อนๆ กล้าออกมาแสดงละครหรือร่วมกิจกรรม จนเมื่อครูประถมมาดูแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่า นี่คือเด็กคนที่เคยเงียบ และเก็บตัวตลอดเวลาที่ผ่านมา
อิรฮาม เล็งนู นักเรียนชั้นม. 4/4 คืออีกหนึ่งในนักเรียนที่เลือกเข้าเรียนในห้องเรียนบูรณาการ เธอเล่าว่า ความฝันคืออยากสอบติดหมอ ดังนั้นการพัฒนาทักษะที่สร้างความมั่นใจให้ตัวเองจึงสำคัญมาก ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากการเรียนแบบเดิมเมื่อตอนมัธยมต้น กับตอนนี้คือการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงความเห็น ได้กล้าตั้งคำถาม ทุกๆ ครั้งที่เข้าคาบทุกคนจะตื่นเต้นว่าวันนี้จะได้ทำอะไรบ้าง และทุกๆ คาบจะได้นำเสนองานที่ผ่านมาถกเถียง ระดมสมองกันมากับเพื่อในกลุ่ม
เรื่องนี้ เธอบอกว่า ช่วยให้ได้ฝึกการฟังความเห็นของคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ด้าน วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการโครงการ Samsung Smart Learning Center เล่าถึงแนวคิด “ห้องเรียนแห่งอนาคต” ของโครงการนี้ว่า เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาหนุนเสริมผู้เรียน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมหรือ Active Learning โดยหนุนครูปรับบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือโค้ช เปิดพื้นที่การเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจทั้งในและนอกห้องเรียน
“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการ Samsung Smart Learning Center ได้สร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคตใน 47 โรงเรียนทั่วประเทศ จากการทำงานร่วมกับโรงเรียนในโครงการ เราได้เห็นการพัฒนา “ห้องเรียนแห่งอนาคต”ไปในบริบทที่แตกต่างหลากหลาย คุณครูในแต่ละโรงเรียน ต่างมีแนวทางนำนวัตกรรมและกระบวนการจัดการเรียนรู้ของโครงการไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในพื้นที่ของตนเอง จนเกิดเป็นห้องเรียนแห่งอนาคตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมากมาย”
วาริท มองว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาเปรียบเสหมือนสะพานในการเชื่อมการเรียนรู้เท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของห้องเรียน ดังนั้นสิ่งจำเป็นคือรูปแบบที่ผู้สอนนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนมากที่สุด ขณะเดียวกันทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตในยุคศตวรรษที่ 21 ที่จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
ทักษะศตวรรษที่ 21 คือ ชุดทักษะที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และปรับตัว เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แนวคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ก็คือ “กรอบการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” ที่พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 แนวคิดนี้เสนอว่า ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาให้มีทักษะสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ทักษะการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรม (Learning & Innovation Skills) ประกอบด้วย ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การคิดเชิงวิพากษ์และแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
2. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี (Information, Media and Technology Skills) ประกอบด้วย การรู้เท่าทันข่าวสารข้อมูล การรู้เท่าทันสื่อ และมีทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ
3. ทักษะชีวิต และอาชีพ (Life & Career Skills) ประกอบด้วย ความยืดหยุ่นและการปรับตัว การคิดริเริ่มและการกำกับตัวเอง ทักษะสังคมและการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม การทำงานให้เกิดผลและการรู้รับผิด การเป็นผู้นำและความรับผิดชอบ
ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง จึงเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการศึกษา สำหรับศตวรรษที่ 21 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1. สร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้แบบใหม่ เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เปิดโอกาสให้เข้าถึงเทคโนโลยี สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน ชุมชน หรือโลกกว้างผ่านอินเทอร์เน็ต
2. พัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ เช่น ครู ผู้บริหารการศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวคิดแบบ Active Learning มีวิธีการนำแนวคิดไปปฏิบัติในการเรียนการสอนได้จริง โดยโครงการฯ ได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้กับครูทั้งในและนอกโครงการฯ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
3. พัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้แบบศตวรรษที่ 21 โครงการฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้คุณครูสามารถพัฒนาหลักสูตรและแผนการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนรู้แบบที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) ได้ในทุกๆ สาระวิชา
4. มีการติดตามและประเมินผลการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ของผู้เรียนเป็นระยะ ตลอดปีการศึกษา เพื่อให้เห็นการพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
เวลาเพียง 2 ปีที่โรงเรียนศาสนศึกษาได้ปรับห้องเรียนใหม่ จากเดิมต้องเรียนวันละ 10 คาบ 8-10วิชา ตอนนี้ลดลงมาเหลือเพียง วันละ5 วิชา ใช้เวลาเท่าเดิมแต่ได้ลงลึกในแต่วิชามากขึ้น ปัจจุบัน “ห้องเรียนบูรณาการอิสลามศตวรรษที่ 21” ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นหลักสูตร แต่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการในอนาคต
และแม้ว่าจะยังเป็นช่วงแรกที่เริ่ม ยังคงมีอีกหลายวิชาโดยเฉพาะวิชาในเรื่องศาสนาที่ยังต้องอาศัยเวลาในการออกแบบ เพื่อปรับตัว แต่คณะผู้บริหารและครูต่างเชื่อว่า ในอนาคตข้างหน้าจะสามารถทำให้รูปแบบเรียนเป็นแบบเดียวกันทั้งโรงเรียน ถึงตอนนั้นก็เชื่อว่าที่นี่จะเป็นโมเดลต้นแบบให้โรงเรียนในพื้นที่ต่อไป