“ชาวปกากะญอ”เข้าถึงสวัสดิการรัฐ ด้วยการรับรองใช้ประโยชน์ที่ดิน
การออกหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะทำให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้น? คำตอบคือ “ไม่” เพราะคนในชุมชนจะควบคุมกันเอง หากใครฝ่าฝืน จะแจ้งคณะกรรมตำบล ซึ่งมีนายอำเภอ และป่าไม้ เป็นที่ปรึกษา หากยังไม่ยุติอีก ก็ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ท่าผาปุ้ม” เป็นชื่อตำบลเล็กๆ ใน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกว่า 139 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง มีหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา 8 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขตป่าอนุรักษ์แม่ยวมฝั่งขวา มีพื้นที่ราบสำหรับการเพาะปลูกเพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมด
สำหรับคนเมืองผู้อยากสัมผัสธรรมชาติ นี่อาจเป็นสถานที่ในฝัน ทว่า สำหรับชาวปกากะญอ ซึ่งตั้งรกรากมานานหลายสิบปี ที่นี่คือแผ่นดินแม่ของพวกเขา
ปัญหาคือว่า ผืนดินในตำบลท่าผาปุ้ม เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามกฎหมายแล้วชาวบ้านใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ได้ เพราะเป็นของรัฐ
แต่ตอนนี้ปัญหาถูกคลี่คลายลงแล้ว !
ประสบการณ์ การแก้ปัญหาของชาวปกากะญอจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในห้องเศรษฐกิจพอเพียงและความมั่นคงของชุมชน เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2ประจำปี 2561 ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติจริง วันที่ 1-3 มีนาคม 2561 ณ Hall 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
เวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ศาสตร์ของพระราชากับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน วันที่ 1-3 มีนาคม 2561ณ Hall 8เมืองทองธานี
ซึ่งในเรื่องนี้ ธวัชชัย ใจแสน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้ม (อบต.ท่าผาปุ้ม) อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตำบลท่าผาปุ้ม ซึ่งเป็นตำบลที่ได้รับสนับสนุนเป็นศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน โดยสำนักสุขภาวะชุมชน สสส. มีลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขา ในบริบทจริงมีคนอยู่มาแต่เดิมเป็นคนปกากะญอ โดยอยู่บนที่สูง ส่วนริมน้ำยวมเป็นคนเมือง และส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านยังชีพด้วยการทำไร่ถั่วเหลือง ไร่ข้าวโพด และปลูกข้าว
อบต.ท่าผาปุ้ม สภาองค์กรชุมชน และชุมชนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกันวางแผนจัดเก็บข้อมูลการใช้ที่ดิน เพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนา นั่นจึงเป็นที่มาของ “หนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลท่าผาปุ้มว่าด้วยผังชุมชน” ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “หนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน”
ถามว่าทำไมต้องทำเอกสารนี้? คำตอบคือ
หนึ่ง-ชาวบ้านสามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ หลังๆ ระยังหลังจังหวัดแม่ฮ่องสอนผลักดันว่า การทำข้อมูลดังกล่าวทำให้ชาวบ้านขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ และทำให้มีสิทธิ์รับสวัสดิการบางอย่าง เช่น เวลาเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด ผลผลิตเสียหาย จะได้รับเงินชดเชย เกษตรตำบลมีข้อมูลอ้างอิง ถ้าไม่ได้ข้อมูลทำพวกนี้ไว้ ราษฎรไม่สามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อรับสวัสดิการได้
สอง-หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาพื้นที่ เพราะระยะหลังมีการพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพดแทนข้าวไร่ ทำให้ดินเสื่อมโทรมเร็วกว่าการปลูกข้าวไร่เพราะทำถาวร แต่การปลูกข้าวไร่หมุนแปลงทุกปี ครบ 7 ปีจึงกลับมาแปลงเดิม ดินมีเวลาฟื้นตัว
ในรายที่ต้องการปลูกพืชไร่ ทาง อบต.ได้ชักชวนให้ทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา ของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งมีชาวบ้านปรับเปลี่ยนมาทำตามบ้างแล้ว และได้เป็นที่น่าพอใจ เพราะสภาพดินดีขึ้น มีน้ำใช้
“แปลงไหนไม่ปลูกข้าวไร่และจะหันมาปลูกข้าวโพด เราก็แนะนำว่าอย่าปลูกเลย เพราะมันจะทำลายดิน-น้ำ-ป่า มาทำโคกหนองนาโมเดล จัดการน้ำบนที่สูงดีกว่า คือปลูกพืชผสมผสาน จะยั่งยืนกว่า ปกติถ้าเขามีข้าวกิน ก็อยู่ได้ระดับหนึ่ง ตอนนี้มีคนเปลี่ยนใจหันมาทำโคกหนองนาโมเดล 8 ราย จากเดิมที่คิดจะปลูกข้าวโพด”
“จากไร่ข้าวโพดไม่ชุ่มชื้น พอปลูกป่าบนดอย ขุดหนองดักน้ำฝนไว้ใช้ ปลูกกล้วยก็งามขึ้นมา ชาวบ้านเห็นความเปลี่ยนแปลง พืชผักที่มีน้ำขังได้บ้าง หนองไม่ได้มีน้ำตลอด แต่เก็บความชุ่มชื้นไว้ในดินได้” ปลัด อบต.ท่าผาปุ้ม กล่าว
การจัดทำเอกสารดังกล่าว เป็นการจัดเก็บข้อมูล เพื่อระบุว่าที่ดินแปลงนี้ตั้งอยู่ที่ใด มีพื้นที่ และพิกัดเท่าไร และชาวบ้านที่ครอบครองอยู่ ใช้ทำประโยชน์อะไร ต้องย้ำว่า “ไม่ใช่โฉนดที่ดิน” แต่ทำไว้เพื่อให้รับทราบกันภายในชุมชน
ด้วยวิธีการนี้เองทำให้ทราบว่า นอกจากการปลูกพืชไร่ ทำนาแล้ว ในพื้นที่มีการใช้ที่ดินประเภทอื่นๆ อีก
“ก่อนปี 2545 ทำบนแผนที่ด้วยมือ ต่อมา อบต.หนุนเสริม ดูว่ามีการใช้ที่ดินประเภทไหนบ้าง เช่น ป่าอนุรักษ์ไว้เป็นป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย เป็นป่าพิธีกรรม เวลาเกิดชาวปกากะญอนำสะดือทารกไปผูกไว้ที่ต้นไม้ พอตายก็นำไปไว้ที่ป่าช้าอีกแห่ง ก็เอาจีพีเอสไปจับพิกัดการใช้ที่ดินตามข้อเท็จจริง
“เราทำโซนนิ่งทั้งหมด ได้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชน ในตำบล มาต่อกัน แปลงที่ดินมีทั้งแบบส่วนตัวและแปลงใหญ่ที่คนทั้งหมู่บ้านใช้รวมกันต่อปี ทั้งหมดเป็นที่เดิมที่เขาใช้ประโยชน์มาก่อนแล้ว” และว่า คนปกากะญอซึ่งอยู่บนดอยจะปลูกข้าวไร่หมุนเวียน เพราะมีพื้นที่น้อย แต่ละชุมชนหรือครอบครัวมี 7-9 แปลง แปลงละ 7-15 ไร่ โดยปลูกหมุนเวียนปีละแปลง พอครบ 7 ปีก็ ก็หมุนกลับมาปลูกที่เดิม
การหมุนเวียนไปปลูกพืชที่แปลงอื่นๆ นี่เอง ทำให้พวกเขาถูกมองว่า “ทำไร่เลื่อนลอย” แต่โดยภูมิปัญญาบรรพบุรุษ คือการปล่อยให้ดินได้พักฟื้นฟูสภาพ
ในการจัดเก็บข้อมูลโดยกำนันผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน และเจ้าของแปลงที่ดิน โดยมี เจ้าหน้าที่ อบต.และสภาองค์กรชุมชนเป็นทีมหนุนเสริม มีการสอบทานข้อมูลและคืนข้อมูลโดยกระบวนการประชาคมรับรองข้อมูลในทุกหมู่บ้าน
การออกหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะทำให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินเพิ่มขึ้น? คำตอบคือ “ไม่” เพราะคนในชุมชนจะควบคุมกันเอง หากใครฝ่าฝืน จะแจ้งคณะกรรม
ตำบล ซึ่งมีนายอำเภอ และป่าไม้ เป็นที่ปรึกษา หากยังไม่ยุติอีก ก็ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
กล่าวโดยสรุป การทำหนังสือรับรองข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้ชาวบ้านได้ประโยชน์คือ นำไปใช้อ้างอิงขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสวัสดิการจากภาครัฐได้ ในขณะที่ภาครัฐได้เห็นภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โดยรวม หาแนวทางพัฒนาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งยังป้องปรามไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกเพิ่ม เนื่องจากในการชี้เขต ผู้นำชุมชนและคนเฒ่าคนแก่ร่วมเป็นพยานด้วย