กรมศิลป์แจงกำหนดเขต ‘โบราณสถานพิมาย’ ป้องกันถูกทำลาย-เสื่อมค่า ยันไม่กระทบสิทธิ ปชช.
กรมศิลปากรแจงกรณีชาวบ้านค้านกำหนดเขตโบราณสถาน ‘พิมาย’ ให้ชัดเจน ระบุเป็นความจำเป็น ปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้ถูกทำลาย ยันไม่กระทบสิทธิ ปชช.
ปมปัญหาการออกมาคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไม่เห็นด้วยให้มีการประกาศเขตพื้นที่โบราณสถาน ‘โครงการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองพิมาย’ ของกรมศิลปากร เนื่องจากมีกระแสข่าวจะมีการเวนคืนที่ดิน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนนั้น
ทำให้มีการยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบการใช้อำนาจของอธิบดีกรมศิลปากร อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยเฉพาะมาตรา 26 มาตรา 33 มาตรา 37 มาตรา 38 ประกอบมาตรา 43 และมาตรา 77
เนื่องจากการดำเนินการขยายเขตที่ดินโบราณสถานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 1,665 ราย ที่อยู่อาศัยและมีโฉนดที่ดินโดยชอบตามกฎหมาย
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงว่า กรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีโบราณสถาน และประกาศชื่อโบราณสถานเมืองพิมาย ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน 2479 เพื่อกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ซึ่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 8 กำหนดไว้ว่า บรรดาโบราณสถานซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้จัดทำบัญชีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุและการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย
ด้วยสภาพการณ์ปัจจุบันอันเป็นผลมาจากคุณค่าความสำคัญและความสมบูรณ์ของปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ทำให้เมืองพิมายมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมศิลปากร จึงเห็นว่าเพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองโบราณสถานเมืองพิมาย กรมศิลปากรจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการกำหนดขอบเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายให้ชัดเจนเพื่อควบคุมดูแลโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการควบคุมดูแลโบราณสถานไม่ให้ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่า ทั้งนี้ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 7 ให้อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณสถานใด ๆ ตามที่อธิบดีเห็นสมควรได้และให้มีอำนาจกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขตของโบราณสถาน โดยให้ถือว่าเป็นโบราณสถานด้วย
ในขั้นตอนการดำเนินการกรมศิลปากรได้มีการประชุมและศึกษาแนวทางในการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ทำหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ 0403/4206 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2559 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย จำนวน 1,665 ราย เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการเตรียมการประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ซึ่งหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินไม่เห็นด้วยหรือมีข้อโต้แย้งประการใด ให้แจ้งมายังกรมศิลปากรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กรมศิลปากรแจ้งให้ทราบ
จากนั้น กรมศิลปากรได้จัดประชุมชี้แจงกรอบแนวทางและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2559 ณ ลานเมรุพรหมทัต เมืองพิมาย ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 500 คน ต่อมา ได้ทำหนังสือกรมศิลปากรที่ วธ 0402/3315 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2560 เรื่อง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมายแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตที่ดินโบราณสถานเมืองพิมาย จำนวน 1,665 ราย เพื่อแจ้งการประกาศกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตของโบราณสถานเมืองพิมาย ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 2,658 ไร่ 25 ตารางวา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯ
หากผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่เห็นด้วยก็ให้ใช้สิทธิร้องต่อศาลปกครองภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีกรมศิลปากรแจ้ง ให้ทราบ
นายอนันต์ กล่าวยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย และมิได้กระทบสิทธิของประชาชนหรือให้ผู้อยู่อาศัยออกไปจากพื้นที่แต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ และปกป้องคุณค่าความสำคัญของโบราณสถาน รักษามรดกวัฒนธรรมของประเทศให้ส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป
ทั้งนี้ เมืองพิมายเป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ มีปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่กลางเมือง สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนามหายานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 – 18 โดยเมืองพิมายนี้มีพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายต่อเนื่องมาสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวารวดี และมีความเจริญสูงสุดในช่วงวัฒนธรรมเขมร
นอกจากปราสาทพิมายแล้ว เมืองพิมายยังประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญหลายแห่งได้แก่ สระน้ำโบราณ (สระเพลง สระแก้ว สระขวัญ สระโบสถ์ สระช่องแมว) เมรุพรหมทัต กุฏิฤาษี ท่านางสระผม ถนนโบราณเชื่อมต่อจากปราสาทไปยังด้านหน้าเมืองอันเป็นที่ตั้งของบารายใหญ่ด้านทิศใต้อีกด้วย .