แฉขรก.ระดับสูงติดหนี้บัตร มุ่งเข้ากรุงขายบริการทางเพศ
"มูลนิธิอิสรชน"เผยไทยมีคนไร้ที่พึ่ง 7 หมื่นคน พบคนขายบริการเกาะรัตนโกสินทร์ วันละ 800-1,000 คน อึ้งเป็นผู้สูงอายุถึง ร้อยละ 60 รายได้เฉลี่ย 300-1,000 บาท แฉมีข้าราชการระดับสูงมาขายตัวหาเงินใช้หนี้บัตรเครดิตด้วย
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เวลา 9.30 น. ที่มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ถนนนนทรี กรุงเทพฯ มูลนิธิอิสรชน แถลงข่าวสรุปสถานการณ์คนไร้ที่พึ่ง ประจำปี 2560 โดย น.ส.อัจฉรา สรวารี นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า มูลนิธิฯได้สำรวจปัญหาการใช้ชีวิตของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่ง ในเขตกรุงเทพฯปี 2560 พบมีจำนวน 3,630 คน แบ่งเป็นเพศชาย 2,203 คน เพศหญิง 1,427 คน ซึ่งพบว่าสูงสุดยังคงเป็นคนเร่ร่อน 994 คน รองลงมาคือคนใช้ชีวิตในที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว 856 คน คนติดสุรา 840 คน คนป่วยข้างถนน 740 คน พนักงานบริการอิสระ 529 คน ส่วนแรงงานเพื่อนบ้าน 52 คน คนต่างชาติเร่ร่อน 20 คน โดยรวมของสถานการณ์คนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 70,000 คน หรือร้อยละ 10 ของประชากรคนไร้ที่พึ่งที่อาศัยอยู่ในกทม.ถือว่ายังไม่มาก เพราะมีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 จังหวัดคอยสกัดไว้ด้วยการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นจนสามารถดูแลไม่ให้หลุดออกมาเร่ร่อนได้
“เขตที่พบคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่กทม. มากที่สุด7 เขต คือ เขตพระนคร 624 คน บางซื่อ 304 คน จตุจักร 252 คน ปทุมวัน 220 คน สัมพันธวงศ์ 205 คน คลองเตย 153 คน ราชเทวี 164 คน สำหรับคนเร่ร่อส่วนมากภูมิลำเนาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือมากที่สุด ขณะที่คนเร่ร่อนอายุน้อยที่สุดพบมีตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากเกิดในครัวครัวที่เร่ร่อน แต่พบไม่มากมีเพียง 10 กว่ารายในสนามหลวง หากเป็นกรณีเร่ร่อนเดี่ยวพบอายุน้อยที่สุด 18 ปี ส่วนอายุสูงสุดที่เคยพบคือ 93 ปี ซึ่งได้เสียชีวิตข้างถนนไปแล้ว หาญาติไม่ได้ ทั้งนี้พบว่าคนเร่ร่อนหลายราย โดยเฉพาะที่ติดสุรา รวมถึงผู้ป่วยจิตต้องเสียชีวิตข้างถนน เหมือนกับเป็นสุสานของคนเร่ร่อน” น.ส.อัจฉรา กล่าว
น.ส.อัจฉรา กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อมูลที่ติดตามพบว่าบางคนมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะระยะยาว ตั้งแต่อายุ18-54 ปี หรือประมาณ 36 ปี ซึ่งรายนี้เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนอีกรายที่ยังเร่ร่อนอยู่เร่ร่อนตั้งแต่อายุ 18 ขณะนี้อายุเกือบ 40 ปีแล้ว ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งในการเกิดคนเร่ร่อน มาจากเด็กที่อายุ 18 ปี ที่พ้นจากการดูแลของสถานสงเคราะห์ เมื่อออกมาก็กลายเป็นคนเร่ร่อน อย่างไรก็ตามที่น่าห่วงคือในจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ พบเป็นผู้สูงอายุถึงร้อยละ 40 และจากการลงเก็บข้อมูลจากการแจกถุงยางอนามัยให้กับพนักงานขายบริการอิสระรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทั้งชายหญิงและเพศที่สาม มีกว่าประมาณ 800-1,000 คนต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นผู้สุอายุถึงร้อยละ 60 โดยเพศหญิงพบอายุสูงสุดที่พบคือ 83 ปี ต่ำสุด12 ปี ส่วนเพศชายพบสูงสุด 46 ปี ต่ำสุด 8 ปี มีรายได้ 300-1,000 บาท
น.ส.อัจฉรา กล่าวว่า ส่วนสาเหตุมาจากทั้งเศรษฐกิจ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่ตอบโจทย์ ความเหงา ต้องการได้รับการยอมรับ การมีตัวตน บางคนไม่ได้ต้องการขายเซ็กซ์ แต่ต้องการความอบอุ่นภายนอก ตัวอย่าง แม่บ้านทหารได้รับเงินบำนาญของสามีเดือนละ 30,000บาท อยู่แล้ว ยังพบว่ามาทำอาชีพนี้ ขณะที่พบเป็นข้าราชการระดับสูง ต้องเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อมาขยายบริการทางเพศ เพื่อหาเงินใช้หนี้บัตรเครดิตจำนวน 2 ล้านบาท รวมถึงพบรสนิยมทางเพศอื่นๆ อาทิ ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับคนท้อง ซึ่งที่พบคือหญิงท้อง 5 เดือนมาขยายบริการทางเพศ ต้องการผู้ป่วยจิตเวช หรือพบคู่รักอายุ 20 ปีปลายๆ ส่งเสริมให้แฟนขายบริการ เพราะเห็นว่ายังไงก็เสียตัวอยู่แล้ว จึงให้มาทำเป็นอาชีพหารายได้ โดยยังพบว่าคู่รักวัยรุ่นบางคู่ก็ขายบริการทางเพศทั้งหญิงและชาย ส่วนกรณีเด็กผู้ชายที่มาขายบริการ ส่วนใหญ่พบว่าติดเกมส์ ติดวัตถุนิยม เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิง ทั้งที่บางรายไม่ได้มีฐานะยากจน เด็กบางคนมาจากครอบครัวที่มีเงินด้วยซ้ำ ซึ่งพบมากในช่วงปิดเทอม” น.ส.อัจฉรา กล่าว
"ปัญหาเรื่องนี้เป็นปัญหาใต้พรม เมืองไทยไม่ได้ฟรีเซ็กซ์แบบธุรกิจ แต่เป็นเซ็กซ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งหากตัดเรื่องศีลธรรม ก็จะเป็นอาชีพๆ หนึ่ง อย่างวงการเกอิชาของญี่ปุ่น หรืออย่างบางประเทศที่จัดโซนขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย แต่ของไทยอยากให้จัดโซนให้ชัด แต่ไม่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และไม่ผิดกฎหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดการล่วงละเมิดทางเพศ"น.ส.อัจฉรา กล่าว.