ไล่ย้อนดู 4 คดีหวย ในศาลฎีกา ปัญหาและข้อกฎหมาย
สลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลนั้น แม้สลากจะสูญหายไปเสียเจ้าของที่แท้จริงก็ยังมีสิทธิขอรับรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งได้แม้ในสลากจะมีข้อความว่า'เงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ' ก็ตาม
ช่วงเวลาที่พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำคณะพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ชี้แจงคดีสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลค่า 30 ล้านบาท ตั้งโต๊ะแถลงจนเป็นข่าวดังใหญ่โต แม้ผบ.ตร.จะไม่ได้ชี้ชัดว่า ใครเป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ตาม แต่ในวันดังกล่าว ผบ.ตร. ได้ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ระบุว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ใช่ทรัพย์มีทะเบียน ผู้ใดครอบครองย่อมเป็นเจ้าของ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลองสืบค้นมาให้อ่านเป็นคดีตัวอย่างสัก 4 คดี
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2497
นายภัทร บูรณะบุตร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ 1 นายพลโทสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ 2 จำเลย
ข้อกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 144, 854
สลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลนั้น แม้สลากจะสูญหายไปเสียเจ้าของที่แท้จริงก็ยังมีสิทธิขอรับรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งได้แม้ในสลากจะมีข้อความว่า'เงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ' ก็ตาม
คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่า ถูกเลขสลากกินแบ่งรางวัลที่ 4 แล้วไปขอรับเงินรางวัลจากจำเลย ๆ ไม่ยอมจ่ายให้ จึงขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้คดีหลายประการ และว่าสลากกินแบ่งได้ระบุเงื่อนไขไว้ทุกฉบับว่า เงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ หากโจทก์เป็นเจ้าของสลากที่ถูกรางวัล โจทก์ก็เลินเล่อปล่อยให้สลากสูญหาย จึงไม่มีสิทธิที่จะรับรางวัล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลแก่โจทก์ ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกำหนดที่จำเลยโต้เถียงมาดังกล่าว มีไว้ก็เพื่อจะจ่ายเงินให้แก่เจ้าของสลากกินแบ่งอันแท้จริง โดยป้องกันผู้ทุจริตแอบอ้างมารับเงินรางวัล เมื่อคดีฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลแล้ว จำเลยจะอ้างความข้อนี้ไม่จ่ายเงินรางวัลแก่โจทก์ ไม่ได้
จึงพิพากษายืน
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2515
คดีนี้ จ่าเอกมาโนช เชาว์ฉลาด เป็นโจทก์ ฟ้องกระทรวงการคลัง โดยนายเสริม วินิจฉัยกุล ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ในฐานะประธานกรรมการ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 2
คดีนี้ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 คงเหลือที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2511 โจทก์ซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลหมาย ข.หมายเลขสลาก 828723 หนึ่งฉบับ กำหนดออกรางวัลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2511 แล้วโจทก์ฉีกสลากกินแบ่งส่วนล่างให้นางบุญเรือง ภรรยาโจทก์เก็บไว้ ส่วนบนโจทก์เก็บไว้เอง
วันที่ 13 เดือนเดียวกัน โจทก์ตรวจผลของการออกสลาก ปรากฏว่าสลากกินแบ่งดังกล่าวถูกรางวัลที่ 2 แต่สลากส่วนล่างที่มอบให้นางบุญเรืองไว้หายไปในวันที่ 14 เดือนเดียวกัน โจทก์นำสลากส่วนบนไปรับเงินรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและแจ้งให้ทราบถึงสลากส่วนล่างที่หาย และแจ้งความไว้แล้ว พันตำรวจตรีพร้อม ห่อทอง ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลให้ทราบถึงเรื่องที่โจทก์แจ้งความไว้แล้ว
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2511 โจทก์ไปขอรับเงินรางวัลสำหรับสลากส่วนที่หายเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่จ่ายให้ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินรางวัลพร้อมด้วยดอกเบี้ย 20,083 บาทให้โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ และเสียค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลหมายเลข 828723 หมาย ข.ส่วนล่างดังฟ้อง ทั้งไม่มีหลักฐานอื่นใดแสดงว่าเป็นเจ้าของ จำเลยได้กำหนดเงื่อนไขไว้หลังสลากทุกฉบับโดยชัดแจ้งว่า "เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ" จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามข้อผูกพันที่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินสองหมื่นบาทให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับไปทั้งสองฝ่าย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาล 600 บาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเชื่อว่าสลากกินแบ่งฉบับดังกล่าวนี้ ส่วนล่างเป็นของโจทก์และได้หายไปจริงดังฟ้องที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าได้กำหนดเงื่อนไขไว้หลังสลากทุกฉบับโดยชัดแจ้งว่า "เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ" เงื่อนไขดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อให้จำเลยที่ 1 มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัล ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหาย และการที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีการออกสลากกินแบ่งนั้น มีวัตถุประสงค์อยู่อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้จำนวนเงินที่กำหนดนี้ ถือได้ว่าเป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัล
ฉะนั้น เมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัลแต่สลากหาย ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จำเลยที่ 1 ควรต้องจ่ายเงินรางวัลให้โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้หนึ่งพันสองร้อยบาทถ้วน
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2578/2530
นาย วุ่น อัคร กิ่ง โจทก์ ฟ้อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลย
ข้อกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 368
พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517
เงื่อนไขการรับรางวัลที่ได้ระบุไว้ด้านหลังสลากกินแบ่งทุกฉบับว่าเงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ เป็นข้อกำหนดที่มี ไว้เพื่อจะจ่ายเงินให้เจ้าของสลากกินแบ่งที่แท้จริงป้องกันผู้ทุจริตแอบอ้างมารับเงินรางวัล เพื่อให้มีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายไป เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับรางวัลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะอ้างข้อกำหนดนี้เพื่อไม่จ่ายเงินรางวัลให้แก่โจทก์หาได้ไม่
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า สลากกินแบ่งของโจทก์ถูกรางวัลที่ 4 แต่สลากฉบับนี้หายไป โจทก์นำภาพถ่ายสลากที่สูญหายพร้อมทั้งหลักฐานการแจ้งความไปขอรับรางวัลจากจำเลย แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับให้จำเลยจ่ายเงินรางวัล 20,000 บาท และดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ถูกรางวัล เพราะโจทก์ไม่นำสลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลมาขอรับรางวัล และสลากกินแบ่งทุกฉบับมีเงื่อนไขที่ระบุไว้ด้านหลังสลากว่า เงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินให้แก่โจทก์ 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยได้ระบุเงื่อนไขการรับรางวัลไว้ที่ด้านหลังสลากกินแบ่งทุกฉบับว่าเงินรางวัลจะจ่ายแก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับ เงื่อนไขการรับเงินรางวัลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาข้อหนึ่งซึ่งโจทก์จำเลยต้องปฏิบัติตาม โจทก์มาขอรับเงินรางวัลโดยไม่ถือสลากที่ถูกรางวัลมาแสดงต่อจำเลยถือได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการรับเงินรางวัลดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินรางวัลแก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลฎีกาต้องถือตามว่าโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลตามฟ้อง เมื่อเป็นดังนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวที่จำเลยเรียกว่าเงื่อนไขนั้นเป็นข้อกำหนดที่มีไว้เพื่อจำเลยจะจ่ายเงินให้เจ้าของสลากกินแบ่งที่แท้จริง โดยป้องกันผู้ทุจริตแอบอ้างมารับเงินรางวัล เพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายไป เมื่อคดีฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลตามฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย จำเลยจะอ้างข้อกำหนดนี้เพื่อไม่จ่ายเงินรางวัลให้แก่โจทก์หาได้ไม่
ปัญหาเช่นนี้ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 222/2497 ระหว่างนายภัทร บูรณะบุตร โจทก์ กระทรวงการคลังกับพวก จำเลยคำพิพากษาฎีกาที่ 468/2515 ระหว่าง จ่าเอกมาโนช เชาว์ฉลาดโจทก์ กระทรวงการคลัง กับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่3409/2525 ระหว่างนางสมหมาย ปอดีเสมอ โจทก์ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลย ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 500 บาทแทนโจทก์
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3409/2529
นางสมหมาย ปอดีเสมอ เป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลย
ข้อกฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 361, 362, 854
การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขไว้ในสลากกินแบ่งทุกฉบับว่า เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น เงื่อนไขดังกล่าวแม้จำเลยจะกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ก็ตาม แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายหรือถูกไฟไหม้ และเห็นว่า การที่จำเลยจัดให้มีการออกสลากกินแบ่ง ก็โดยมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้ ถือได้ว่า เป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัล ดังนั้นเมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัล แต่สลากถูกไฟไหม้โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของสลากกินแบ่งรัฐบาลหมายเลข 7866655 หมวดอักษร ก. ประจำงวดวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 ปรากฏว่าสลากหมายเลข 7866655 ของโจทก์ถูกรางวัลที่ 3 แต่โจทก์ไม่สามารถนำสลากกินแบ่งฉบับที่ถูกรางวัลดังกล่าวไปขอรับเงินรางวัลจากจำเลยได้ เพราะบุตรสาวโจทก์ได้เอาสลากกินแบ่งของโจทก์ไปเผาไฟโดยเข้าใจผิด โจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาโจทก์ไปขอรับเงินรางวัลจากจำเลย
จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้ ขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย 50,937 บาท ให้โจทก์ และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ระบุเงื่อนไขในการจำหน่ายและการรับเงินรางวัลได้ชัดแจ้งที่ใบสลากกินแบ่งทุกใบว่าเงินรางวัลจะจ่ายให้กับผู้ถือสลากฉบับที่ ถูกรางวัลมาขอรับเท่านั้น โจทก์ไม่มีสลากมาขอรับเงินรางวัล จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัล จำเลยไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาจ่ายเงินรางวัลให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท โดยหักค่าอากรไว้ตามระเบียบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สลากส่วนที่พิพาทเป็นของโจทก์ซื้อมาจากนางใบ และนางสาวขวัญผกา บุตรสาวโจทก์ได้นำไปเผาไฟจริง ทั้งยังไม่มีผู้ใดนำสลากส่วนที่พิพาทมาขอรับรางวัลจากจำเลยจนบัดนี้ แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยกำหนดเงื่อนไขไว้ในสลากกินแบ่งทุกฉบับว่า เงินรางวัลจะจ่ายให้แก่ผู้ถือสลากฉบับที่ถูกรางวัลนำมาขอรับนั้น เงื่อนไขดังกล่าวแม้จำเลยจะกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพ.ศ.2517 ก็ตาม แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพียงเพื่อให้จำเลยมีหลักฐานในการที่จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ถูกรางวัลเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้ถูกรางวัลที่สลากหายหรือถูกไฟไหม้ ดังเช่นกรณีนี้ และเห็นว่าการที่จำเลยจัดให้มีการออกสลากกินแบ่งก็โดยมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งว่า จะแบ่งเงินที่ได้จากการขายสลากให้แก่ผู้ถูกสลากตามจำนวนที่กำหนดไว้ จำนวนเงินที่กำหนดนี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาอันมีผลผูกพันระหว่างผู้จัดการออกสลากกินแบ่งกับผู้ถูกรางวัล
ดังนั้นเมื่อโจทก์มีหลักฐานเชื่อได้ว่าโจทก์ถูกรางวัล แต่สลากถูกไฟไหม้ดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินรางวัลจากจำเลย
พิพากษายืน