มุมเหวี่ยง “ค่าจ้าง 300 บ.” แรงงานได้ขึ้นเงิน แต่ตกงานเพิ่ม “ยาม-แม่บ้าน กลุ่มเสี่ยง”
เสียงคัดค้านประชานิยมที่หวังกินใจชนใช้แรงงานยังมีไม่ขาดสาย ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาเรียกร้องเลื่อนปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศออกไปจากเดิมปี 56 เป็นปี 58
นับแต่ดีเดย์1 เม.ย.55 ขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท 7 จังหวัดนำร่องกรุงเทพ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี ภูเก็ต และนนทบุรีรูปธรรมผลกระทบที่บรรดานักวิชาการ ผู้ประกอบการออกมาชี้ประเด็นก็ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวเลขธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็กที่ต้องโบกมือลาแต่กระทั่งผู้ใช้แรงงานซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากการขึ้นค่าแรง ในมุมกลับการเลิกจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมก็มากขึ้น
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปสำรวจตรวจสอบผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงาน 2 กลุ่มที่ถูกระบุว่าจะได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อนจากนโยบายดังกล่าว คือธุรกิจบริการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) และพนักงานรักษาความสะอาด (แม่บ้าน)
ลูกจ้าง “โดนลดสวัสดิการเจียดสมทบค่าแรง 300”
แม่บ้านทำความสะอาดในบริษัทบริการทำความสะอาดใหญ่แห่งหนึ่งเปิดเผยว่าได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,001 บาท เฉลี่ยวันละ 233 บาท พร้อมสวัสดิการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพในปัจจุบัน ทั้งค่าเช่าห้อง อาหาร ค่าเดินทาง ดังนั้นนโยบายเพิ่มอัตราค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทเป็นสิ่งที่ดีต่อผู้ใช้แรงงาน
“คาดว่าบริษัทจะปรับอัตราค่าจ้างแรงงานให้พนักงานเป็น300 บาทสิ้นเดือนเมษานี้แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับการชดเชยจ่ายค่าจ้างย้อนหลังหรือไม่ แต่อย่างไรค่าจ้างที่ปรับขึ้นก็ไม่มีประโยชน์มากนักหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าในท้องตลาดให้ถูกลงได้"
สอดคล้องกับรปภ. บริษัทหนึ่งที่บอกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นผลดีต่อพนักงานโดยเฉพาะผู้มีอายุงานน้อยแต่สำหรับผู้มีอายุงานมากกว่า10 ปีอย่างตนอาจถูกปรับลดส่วนต่างค่าล่วงเวลาหรือเบี้ยเลี้ยงพิเศษ เพื่อกระจายเงินส่วนต่างดังกล่าวให้พนักงานคนอื่นให้มีอัตราค่าจ้างเท่าเทียมกัน ซึ่งตนก็หวั่นวิตกกับอนาคต และอาจต้องเตรียมหางานใหม่เพื่อความอยู่รอด
เถ้าแก่งัดกลยุทธ์พยุงธุรกิจ “ไม่ไล่ แต่ยินดีให้ออกโดยสมัครใจ”
แน่นอนว่าผู้ประกอบการต่างกังวลกับตัวเลข 300 บาทที่ทำให้ต้องควักกระเป๋าจ่ายต้นทุนเพิ่ม ส่งผลให้แต่ละองค์กรต่างงัดกลยุทธ์ที่จะพยุงธุรกิจตนเองให้อยู่รอดมากที่สุดด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ
นายบูชา รณชิตสมบุญ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทคีพคลีน จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการด้านจัดหาพนักงานทำความสะอาดสะท้อนมุมมองว่าการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดส่งผลกระทบแน่นอน คือ ด้านผู้บริโภคราคาสินค้าก็จะปรับสูงขึ้นตามค่าแรง ด้านผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนด้านแรงงานที่สูงขึ้นซึ่งก็จะส่งผลสะท้อนกลับมายังผู้ใช้แรงงานเองที่ต้องตกงาน เนื่องจากผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดอัตราการจ้างแรงงงานลงบางส่วนอาจหันไปจ้างแรงงานเถื่อนในตลาดมืดแทน ซึ่งอาจจะทำให้ไทยต้องประสบกับปัญหาแรงงานข้ามชาติในอนาคตได้ ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณากรอบมาตรการรองรับให้ถี่ถ้วน
“ตลอดเวลาที่รัฐบาลชูนโยบายประชานิยมค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท ตนเกิดคำถามในใจว่าใช้หลักเกณฑ์ใดกำหนดตัวเลขฐานจ้างทั้งที่ความจริงควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดแรงงานและหันไปให้ความสำคัญกับการควบคุมราคาสินค้าในท้องตลาด”
นายบูชา บอกว่าบริษัทของตนยังไม่ได้รับผลกระทบเหมือนหลายแห่งเพราะมีสัญญาว่าบริษัทที่มาใช้บริการพนักงานรักษาความสะอาดจากบริษัทของตน จะต้องเป็นผู้จ่ายส่วนต่างจากอัตราค่าจ้างเดิมส่งผลให้ปัจจุบันไม่มีการลดอัตราพนักงานแต่อย่างใด
ด.ต.พันศักดิ์ เคหบาล ผู้จัดการบริษัท ดีเอสเเอล รักษาความปลอดภัย จำกัด มองว่าแม้นโยบายนี้ จะทำให้รปภ.ส่วนใหญ่ได้รับค่าแรงที่สูงจากเดิม 250-270 บาทขึ้นเป็น 300 บาท แต่ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องปรับตัว เช่น ส่งเสริมพนักงานให้มีประสิทธิภาพการทำงานผลิตงานเร็วและได้ปริมาณมากขึ้น กระทั่งลดอัตราการจ้างเพื่อความอยู่รอดขององค์กร
“บริษัทตนยังไม่มีนโยบายปลดพนักงาน เพียงแต่ให้ขยายพื้นที่ทำงานจากเดิมจำกัดเฉพาะกรุงเทพฯเป็นต่างจังหวัดมากขึ้น อาจส่งผลให้หลายคนต้องลาออกเองเพราะทนไม่ได้” ผู้จัดการบริษัทฯ กล่าว
แรงงาน-ผู้ประกอบการนอกระบบ “กฏหมายค่าจ้างขั้นต่ำไม่คลุม”
ขณะที่มุมของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ ที่กฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถครอบคลุมถึง พนักงานตัดเย็บชิ้นส่วนรองเท้ารายหนึ่ง เปิดเผยว่าปัจจุบันตนได้รับค่าจ้างโดยเฉลี่ยสูงกว่าวันละ 300 บาทอยู่แล้ว เพราะงานที่ทำมีลักษณะจ้างเหมาราคาตั้งแต่ชิ้นละ 90 สตางค์ –2.50 บาท ซึ่งโดยเฉลี่ยภายในหนึ่งวันได้รับเงินถึง 250-500 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณที่ผลิตได้ในลักษณะทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย แต่หากวันใดไม่มีงานจ้างเหมาเข้ามา ก็ไม่มีค่าจ้างเช่นกัน ผิดกับแรงงานในระบบที่ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทเป็นประจำทุกวัน
ส่วนผู้ประกอบการรับเหมาตัดเย็บเสื้อผ้ารายหนึ่ง กล่าวว่า นโยบายปรับอัตราค่าจ้างของรัฐบาลสูงเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเดือดร้อน ต้องเสียเงินค่าจ้างสูงขึ้นมาก แต่ปริมาณรายรับกลับเท่าเดิม ส่วนตนนั้นไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากลักษณะงานเป็นการจ้างเหมา พนักงานส่วนใหญ่จึงมีจำนวนไม่มากขึ้นอยู่กับปริมาณงานแต่ละชนิด โดยราคาเย็บชิ้นส่วนเสื้อผ้ามีราคาเริ่มชิ้นละ 90 สตางค์ –7 บาท ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้องาน ซึ่งแต่ละคนรับรายได้ 300-500 บาท/วัน
“ไม่สามารถจ่ายอัตราค่าจ้างวันละ 300 บาทได้ เพราะประกอบธุรกิจรับเหมาในครอบครัว และมิได้จดแจ้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงไม่อยู่ในข่ายกฎหมายบังคับได้”
เอ็นจีโอชี้ รปภ.-แม่บ้านโดนปลดแน่ หลังเม.ย.
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยข้อมูลว่าโรงงานบางแห่งพยายามนำโบนัส สวัสดิการ ซึ่งเคยจ่ายปกติแยกจากค่าจ้างเดิม มารวมกับตัวเลขค่าจ้างที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทที่ต้องจ่ายแรงงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แต่คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนสถานการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
นายจะเด็จระบุเพิ่มเติมว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าอาชีพรปภ. และแม่บ้าน ตลอดจนลูกจ้างอาชีพบริการอื่น ๆ จะอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างมากที่สุด
ด้าน นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ นายกสมาคมการบริหารงานบุคคล (PPAs) วิพากษ์ประชานิยมค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลว่า มุ่งแต่หาคะแนนเสียงมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงว่าผู้ประกอบการต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงินอย่างไร และต้องดิ้นรนขับเคลื่อนให้ธุรกิจอยู่รอดอย่างไร ซี่งหนึ่งในนั้นทางรอดคือหลายบริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานออกหรือลดอัตราการรับพนักงานใหม่และปฎิเสธไม่ได้ว่าการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำกว่าประเทศไทยเป็นเท่าตัวก็เป็นหนทางที่อยู่ในใจของผู้ประกอบการหลายราย
“มองไปถึงแรงงานในระบบ โดยเฉพาะรปภ. และแม่บ้านการจ้างทำงานต่อเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนต้องคิดหนัก ผู้ประกอบการอาจจ่ายค่าแรง 300 บาทแก่พนักงานจริง แต่สิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการอาจลดน้อยลง”
นายวีระศักดิ์ชี้เช่นกันว่าอาชีพอรปภ. และแม่บ้านจะเสี่ยงต่อการตกงาน เพราะในอนาคตผู้ประกอบการสามารถหาแรงงานต่างด้าวมาทดแทนแรงงานไทยได้จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะเรียกร้องสิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนไทย ประกอบกับสามารถหักค่าใช้จ่ายจิปาถะได้ในค่าแรง ทั้งค่าที่พักอาศัย อาหาร เดินทาง โดยปราศจากข้อโต้แย้งทางกฎหมาย
ส่วนแรงงานในระบบนั้น คาดว่าหลังเม.ย. จะเกิดคดีข้อพิพาทระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานกับนายจ้าง หรือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกิดขึ้นมากมาย
ประชานิยมมาแรง เหวี่ยงแรง อย่างค่าแรง 300 บาท ซึ่งด้านหนึ่งขับเคลื่อนให้แรงงานในระบบมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกด้านต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านทั้งผู้ประกอบการและแม้กระทั่งแรงงานเอง เพราะนายจ้างแบกรับภาระไม่ไหว คงต้องติดตามว่าแรงเหวี่ยงด้านใดจะหนักกว่ากัน .