สปสช.เผยความร่วมมือจัดการยาต้านพิษ ช่วยผู้ป่วยกว่า 2.7 หมื่นราย ประหยัดค่ายา 179 ล้านบาท
สปสช.เผยความร่วมมือ “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่ม” 7 ปี ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยากว่า 2.7 หมื่นราย เป็นผู้ป่วยรับสารพิษ 1.8 พันราย ผู้ป่วยถูกงูกัดกว่า 2.5 หมื่นราย ทั้งช่วยรัฐประหยัดค่ายา เฉพาะเซรุ่มแก้พิษงู 5 ปีมูลค่ากว่า 179 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการเข้าถึงยาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยได้รับพิษที่ต้องได้รับยารักษาภายในเวลาที่จำกัด ยาต้านพิษเหล่านี้เป็นยากำพร้า มีอัตราการใช้ต่ำมากจนส่งผลต่อการผลิตยาและเกิดปัญหาขาดแคลนยา ซึ่งไม่มียาอื่นนำมาใช้ทดแทนได้ ในอดีตผู้ป่วยได้รับพิษเหล่านี้ต้องเสียชีวิตลง ต่อมาในช่วงปลายปี 2553 สปสช.จึงได้ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนิน “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ” ในการจัดหาและจัดซื้อยาต้านพิษเร่งด่วนที่ควรมีในประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลของศูนย์พิษวิทยาฯ พร้อมจับมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาต้านพิษ อาทิ การจัดระบบคลังยา การกระจายยาเพื่อให้สามารถช่วยผู้ป่วยได้ในเวลาที่จำกัด เป็นต้น จนเป็นน “วัตกรรมบริการจัดการยาต้านพิษ”
ทั้งนี้ในช่วงดำเนินการเริ่มแรก ปี 2553 ได้บรรจุยาต้านพิษในรายการที่จำเป็นต่อการเข้าถึง 6 รายการ และปัจจุบันได้ขยายเพิ่มเป็น 16 รายการ ทั้งครอบคลุมถึงเซรุ่มต้านพิษงู 7 รายการ และจากข้อมูลสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สปสช.ปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยได้รับยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู จำนวน 6,917 ราย โดยในกลุ่มยาต้านพิษมีการเบิกจ่าย ยาเมทิลีน บลู (Methylene blue) มากที่สุด 89 ราย, ยาดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน (Diphtheria antitoxin) 82 ราย และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine inj.) จำนวน 33 ราย เป็นต้น ส่วนกลุ่มเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มแก้พิษงูกะปะมีการเบิกจ่ายมากที่สุด คือ 2,687 ราย เซรุ่มแก้พิษงูเขียวหางไหม้ 1,838 ราย เซรุ่มแก้พิษงูระบบโลหิต 1,001 ราย และเซรุ่มแก้พิษงูเห่า 716 ราย เป็นต้น
ขณะที่ผลการดำเนินโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่ละปีได้ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้าและกลุ่มยาต้านพิษต่อเนื่อง โดยกลุ่มยาต้านพิษที่ได้เริ่มต้นในปี 2554 -2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับยาต้านพิษจำนวน 1,800 ราย ขณะที่กลุ่มเซรุ่มแก้พิษงูที่ได้เริ่มต้นในปี 2556–2560 มีผู้ป่วยสะสมที่ได้รับเซรุ่มแก้พิษงูจำนวน 25,636 ราย รวมผู้ป่วยที่ได้รับยาภายใต้โครงการการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ มีจำนวนทั้งสิ้น 27,436 ราย
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังช่วยประหยัดงบประมาณการจัดซื้อยา โดยเฉพาะการจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูที่มีข้อมูลปรากฎชัดเจน จากเดิมที่โรงพยาบาลทั่วประเทศมีการจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากโรงพยาบาลแต่ละแห่งต่างจัดซื้อเซรุ่มเพื่อสำรองรักษาผู้ป่วยที่ถูกงูกัดเอง แต่ด้วยระบบการบริการจัดการยาต้านพิษทำให้มีการลดปริมาณการจัดซื้อลงอย่างมาก ขณะที่ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น โดยปี 2556 ประหยัดงบประมาณได้ร้อยละ 71 หรือประมาณ 55 ล้านบาท ปี 2557 ประหยัดได้ร้อยละ 25 หรือประมาณ 19 ล้านบาท ปี 2558 ประหยัดได้ร้อยละ 50 หรือประมาณ 39 ล้านบาท ปี 2559 ประหยัดได้ร้อยละ 49 หรือประมาณ 38 ล้านบาท และในปี 2560 ประหยัดได้ร้อยละ 35 หรือ 27 ล้านบาท รวม 5 ปี ประหยัดงบประมาณได้ราว 179 ล้านบาท
“ด้วยโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดเก็บและจัดส่งยาต้านพิษ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ในเวลาที่จำกัด นอกจากหลายประเทศได้มาดูงานและนำไปเป็นต้นแบบการพัฒนระบบยาในประเทศแล้ว ยังได้รับการชื่นชมจาก นายทีโดรส อัดฮานอม ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้เข้าเยี่ยมดูงานที่ผ่านมา ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลกยังได้ประสานให้ศูนย์ต้านพิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านยาต้านพิษ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ” เลขาธิการ สปสช.กล่าวและว่า ทั้งนี้การพัฒนาระบบเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเข้าถึงยาต้านพิษ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้หลังได้รับยาแล้ว สามารถฟื้นฟูร่างกายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้