‘คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’ โมเดลบริบาลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
คนลำสนธิ จ.ลพบุรี เปิดศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร เพื่อผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง สร้างการจัดการแบบยั่งยืน ต่อยอดแนวคิดสู่พื้นที่อื่น
ปี 2561 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าประชากรเด็ก และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด นับเป็นความท้าทายหนึ่งที่ต้องเผชิญกับ การกำหนดมาตรการในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการวางระบบดูแลผู้ป่วยระยะยาวกับทางเลือกในระยะสุดท้ายของชีวิต
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ปี 2560 จะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงรวมกันราว 3.7 แสนคน ในจำนวนนี้มีความต้องการผู้ดูแลราว 2.5 แสนคน และจะเพิ่มขึ้นเกือบ 6 แสนคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า
หรือปี 2580 ที่จะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนคน
แน่นอนว่า การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากระบบที่รัฐจัดสรรดูแล คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาล อาทิ ค่าอุปกรณ์ ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ค่าเดินทางผู้จัดการการดูแล ค่าผู้ดูแล และค่าเดินทางผู้ดูแล รวมเกือบ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และจะเพิ่มเป็นเกือบ 2 แสนล้านบาท ในปี 2580
ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงก่อเกิดเป็น ‘ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร’ โรงพยาบาลลำสนธิ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ซึ่งเพิ่งเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’ ทำหน้าที่ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง และมีฐานะยากจน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้สูงอายุในอำเภอลำสนธิราว 3,000 คน และเป็นผู้ป่วยต้องดูแลใกล้ชิดอีก 200 คน
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ ในฐานะผู้ริเริ่มการพัฒนาโครงการฯ ดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่มานานถึง 17 ปี บอกเล่าให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิด จากคนกรุงเทพฯ มาทำงานใน อ.ลำสนธิ จนได้สัมผัสกับความทุกข์ยากของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ที่ต้องเผชิญกับความทรมานทั้งจากโรคภัยและสภาพแวดล้อมที่ไม่มีผู้ดูแล
“พวกเรายอมไม่ได้ที่จะให้ภาพแบบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นภายใต้บทบาทหน้าที่ ซึ่งเราเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในอำเภอนี้ จึงพยายามสร้างระบบดูแลขึ้นมา”
ระบบที่ว่านั้น คือ การสร้างกระบวนการ ‘คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’ ที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)และเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยจุดประสงค์เดียวกันเพื่อต้องการทำให้ความทุกข์ยากของผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงหมดไป
นพ.สันติ ได้ออกแบบระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ภายใต้องค์ประกอบ 3 ส่วนที่สำคัญ คือ ครอบครัว ที่ดูแลด้านสุขภาพ และทีมดูแลด้านสังคม โดยทีมดูแลด้านสุขภาพ มีแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา หรือสหวิชาชีพต่าง ๆ เข้ารักษาอย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลยังทำงานร่วมกับ รพ.สต. จัดทีมเข้าไปดูแลอย่างเป็นระบบ รวมถึงจัดหายาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ เช่น เตียงคนไข้ ซึ่งจะมีแผนกที่สร้างอุปกรณ์เหล่านี้ให้ผู้ป่วยได้ใช้
นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ
ผลจากการทำงานร่วมกันกับท้องถิ่น มีการจ้างนักบริบาลร่วมวางระบบและลงพื้นที่ดูแลนั้น ผอ.โรงพยาบาลลำสนธิ ระบุทุกข์ของผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่เคยแสนสาหัสค่อย ๆ เจือจางและเบาบางลง บางคนกลับมาเดินได้ และมีชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการฯ นี้ ไม่ใช่ของคนลำสนธิเท่านั้น เพราะหลังจากนี้เป็นต้นไป จะกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับองค์กรอื่น ๆ มาศึกษาดูงานและนำไปสานต่อเพื่อคลายความทุกข์ของผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินงานยังมีจุดบกพร่อง โดยพบว่า ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงหลายคนจำเป็นต้องได้รับการพักฟื้น และบางคนต้องได้รับการดูแลอย่างเข้มข้น เพื่อต่อยอดระบบงานที่ได้ดูแล เพราะหากเกิดกรณีผู้สูงอายุเจ็บป่วย ไม่มีคนดูแล เช่น ถ้าวันหนึ่งคุณยายที่ดูแลคุณตาไม่สบายเกิดไม่สบายขึ้นมาอีกคน คุณตาจะทำอย่างไร
ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลและฟื้นฟูฯ ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ดูแลชั่วคราว ปัจจุบันมีผู้สูงอายุเข้ารับการดูแล 5 คน เบื้องต้นไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยรับดูแลตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์
สำหรับศูนย์บริบาลแห่งนี้นับว่าเป็นความฝันของนพ.สันติ ถึงขนาดเปรียบเปรยว่า เป็นเสมือนแสงสว่างที่ชี้นำให้คนทั่วไปได้เห็น โดยเป็นเงินนอกงบประมาณ ได้รับบริจาคจำนวน 10 ล้านบาท
ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูฯ แห่งนี้ จึงก่อเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกกลุ่มเครือข่าย ที่ต้องการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่หน่วยงานที่สนใจ เป็นแหล่งฝึกนักบริบาลอาชีพ และท้ายที่สุด เพื่อขยายแนวคิดของ ‘คนลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’ ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ
แม้ที่ผ่านมาจะต้องผจญกับปัญหาการดำเนินโครงการฯ ภายใต้ความกดดัน กังวลว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดจ้างนักบริบาลลงพื้นที่
หากแต่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ลำสนธิต่างยืนหยัดในเจตนารมณ์อย่างหนักแน่น
โครงการ ‘ลำสนธิไม่ทอดทิ้งกัน’ และ ‘ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุแบบครบวงจร จึงนับเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง และถือได้ว่าเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่มอบให้แก่ชาวบ้านก่อนที่ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ย้ายไปประจำการในพื้นที่อื่น .