สนข.ชี้แจง กรณี ม.เกษตรศาสตร์ คัดค้านสร้างทางด่วนสายเหนือ
สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรชี้แจง กรณี ม.เกษตรศาสตร์ คัดค้านสร้างทางด่วนสายเหนือ ยันขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของ สนข. ภายใต้โครงการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลีเพื่อทดแทนแนวเส้นทาง N1
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจง ประเด็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คัดค้านสร้างทางด่วนสายเหนือ ดังนี้
ปัจจุบันระบบโครงข่ายถนนสายหลักตอนกลาง ที่รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างด้านตะวันออกกับตะวันตกของกรุงเทพมหานคร มีเพียงถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งเป็นถนนระดับพื้นดิน แม้จะมีการก่อสร้างสะพานลอยข้ามทางแยก สร้างอุโมงค์ลอดทางแยกที่เป็นจุดตัดหลายแห่งบนถนนดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการการเดินทางที่มีมากกว่าความจุของโครงข่ายถนนดังกล่าวได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จนเกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น
การมีโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมต่อระหว่างวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกกับด้านตะวันตก จะช่วยลดปัญหาการจราจรบนถนนระดับพื้นดินในเขตเมือง ทำให้การเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของกรุงเทพมหานคร มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังเป็นการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการเดินทางด้วยทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งการสร้างและเชื่อมทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2, E-W Corridor และโครงข่ายทางด่วนทดแทน N1 เพื่อต่อเชื่อมกับทางพิเศษศรีรัช – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครจะช่วยแยกปริมาณจราจรที่ต้องการเดินทางข้ามพื้นที่กลางเมือง (Through traffic) ออกจากปริมาณจราจรในพื้นที่ (Local traffic) จึงเป็นการช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนงามวงศ์วาน และถนนรัตนาธิเบศร์ ทำให้ผู้ใช้ถนนดังกล่าว สามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้มลพิษทางอากาศที่เกิดจากการจราจรติดขัดบนถนนทั้ง 3 สายลดลง
การก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2, E-W Corridor และทางด่วนทดแทน N1 ซึ่งจะมีแนวเส้นทางต่อจาก N2 บริเวณแยกบางบัวขึ้นไปด้านเหนือเรียบขนานคลองบางบัว ไปจนถึงถนนวิภาวดีรังสิต แล้วคู่ขนานกับถนนวิภาวดีรังสิตมาทางด้านใต้จนถึงแยกรัชวิภา แล้วเชื่อมต่อกับทางเชื่อมดอนเมืองโทลเวย์กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยไม่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกได้โดยสะดวก และรวดเร็ว
การดำเนินโครงการทางด่วนดังกล่าวนี้ ได้มีการกำหนดมาตรการในการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ รวมถึงการติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น การติดตั้งกำแพงกั้นเสียงสองข้างทางของทางด่วน เพื่อลดผลกระทบด้านเสียง และฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ตัวอย่าง เช่น ทางด่วนขั้นที่ 2 ช่วงที่สร้างค่อมคลองประปาที่ประชาชนเคยวิตกกังวลกัน ก็ได้มีการดำเนินมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงคมนาคมจะประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดมาตรการด้านฝุ่นละอองให้ครอบคลุมต่อไปด้วย ทั้งนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของ สนข. ภายใต้โครงการศึกษาแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลีเพื่อทดแทนแนวเส้นทาง N1