ตีเเผ่เรื่องเศร้า ในวันที่ไทยไร้ ‘ระบบหนังสือของชาติ’-นักเขียนกลายเป็นอาชีพไซด์ไลน์
ตีแผ่เรื่องน่าเศร้าของวงการสิ่งพิมพ์สู่ทางรอด ‘นักเขียน’ เป็นอาชีพยากจนมากที่สุดในระบบการผลิตหนังสือ อยู่รอดยาก และกลายเป็นอาชีพไซด์ไลน์ หนุนตั้ง 'ระบบหนังสือของชาติ' ประสานงานอย่างมีเอกภาพ สร้างอนาคตการอ่าน
“ทางรอดหรือทางตาย แห่งอนาคตของประเทศ และรัฐบาลที่ไม่มีระบบหนังสือของชาติ” คือหัวข้อการสัมมนาประจำปีของวิชาบรรณาธิการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า ในยุคที่หนังสือกำลังค่อย ๆ ล้มหายตายจาก ถึงเวลาแล้วที่รัฐควรหันมาจริงจังกับการอ่านของคนไทย
‘ระบบหนังสือของชาติ’ เป็นหนึ่งในทางออก ก่อนหน้านี้ 15 ปี เคยมีการเสนอให้จัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านหนังสืออย่างเป็นเอกภาพ แต่การผลักดันไม่ประสบผลสำเร็จ
สุดท้ายแนวคิดถูกเปลี่ยนให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค ทำให้วันนี้ระบบหนังสือของชาติยังไม่เกิดขึ้น ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวเนื่องกับหนังสือ ตั้งแต่นักเขียน สายส่ง สำนักพิมพ์ ร้านค้า ตลอดจนผู้อ่าน จึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย ในภาวะวิกฤตหนักสุดของยุคที่นิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นรายได้หลักของร้านค้า และเป็นบ้านของนักเขียน ค่อย ๆ ทะยอยปิดตัว
"กนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์" นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตอกย้ำให้เห็นความน่าเศร้าของวงการหนังสือว่า ไม่ใช่ความสวยงามอย่างที่คนภายนอกคิด โดยเฉพาะ ‘นักเขียน’ เป็นอาชีพยากจนมากที่สุดในระบบการผลิตหนังสือ เพราะไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานใดเลย ทำให้หลายคนต้องช่วยเหลือตนเอง ด้วยการเขียนหนังสือ และใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่ต้องดิ้นรนมาก จากเหตุผลข้างต้น จึงทำให้นักเขียนอาชีพอยู่รอดยาก ดังนั้นนักเขียนจึงถูกยึดเป็นอาชีพไซด์ไลน์แทน
“นักเขียนอาชีพอยู่ได้ แต่อยู่อย่างลำบาก ไม่ได้สวยงามอย่างที่หลายท่านมอง และเรื่องราวที่บอกเล่าไม่ใช่เรื่องมาฟูมฟาย หรือเรียกร้องความสนใจ เพียงอยากเล่าให้ทราบเป็นกรณีศึกษา”
นายกสมาคมนักเขียนฯ บอกเล่าถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของนักเขียนอาชีพต่อว่า ยิ่งในยุคที่นิตยสารปิดตัวหลายฉบับ ทราบหรือไม่ว่า นิตยสารที่มีกำไรหลักหลายร้อยล้านบาท จ่ายค่าต้นฉบับให้นักเขียนเพียง 500 บาท/ชิ้น ขณะที่นิตยสารบางฉบับจ่ายค่าต้นฉบับครั้งแรก จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่ปิดตัว ในราคาเท่าเดิม
รวมถึงเมื่อมีการรวมเล่มแล้ว สำนักพิมพ์บางแห่ง เมื่อทราบว่าเป็นนักเขียนหน้าใหม่ สัญญาจะผูกมัดพ่วงให้ขายรูปเล่ม ฉบับอีบุ๊ก แปล และหากได้รับการผลิตเป็นละคร จะต้องแบ่งเปอร์เซนต์ให้สำนักพิมพ์ ร้อยละ 50 ด้วย
ถามว่า นักเขียนจะใช้ชีวิตอยู่รอดหรือไม่ ?
ในฐานะสมาคมนักเขียนฯ กนกวลี ระบุว่า ปกติสมาคมนักเขียนฯ ไม่มีงบประมาณ แต่จะต้องดูแลสวัสดิการให้แก่นักเขียน แม้จะเป็นเพียงเงินหลักพัน ไม่ใช่เงินหลักหมื่น แต่ยินดีช่วยเหลือ อีกทั้ง ได้มีความพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้นักเขียนมีการพัฒนางานของตนเองเป็นลำดับ ส่วนนักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จะช่วยสมทบงบประมาณด้วย
“นายกสมาคมนักเขียนฯ บางสมัย มีเงินติดบัญชีตอนเข้ามาเพียง 6,000 บาท ไม่มีทางจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณจากสปอนเซอร์ ซึ่งกว่าครึ่งมาจากภาคเอกชน และนักเขียนด้วยกัน” นายกสมาคมนักเขียน ระบุ
ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่า หนังสือที่มีคุณภาพกับมูลค่า บางครั้งอาจขัดแย้งกัน หนังสือขายดี อาจมีคุณภาพไม่ดี เห็นได้จากนักเขียนบางรายเขียนนิยายแนววาย เน้นฉากบนเตียง ขายในอินเทอร์เน็ตมียอดอ่านเป็นล้านวิว สมาคมนักเขียนฯ ในฐานะองค์กรวิชาชีพ ยอมรับว่า เป็นไปได้ยากที่จะบอกกล่าวให้นักเขียนกลุ่มนั้นพัฒนางาน เนื่องจากยังไม่มีระบบดูแลอย่างเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่ทำได้ คือ การให้คำแนะนำ พูดโน้มน้าว ให้เห็นคุณค่าในงานเขียนมากขึ้นแทน
‘ร้านหนังสือน้อย’ สะท้อนระบบความรู้ประชาชาติต่ำ
ด้าน "สุชาดา สหัสกุล" นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทุกสมัย เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว จะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลส่งเสริมการอ่าน แต่ทุกครั้งไม่มีคำมั่นสัญญาในการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับหนังสือ ทำให้การสนับสนุนให้คนไทยอ่านหนังสือไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ องค์การยูเนสโก ประกาศให้เป็นปีหนังสือสากล รัฐบาลตีฆ้องร้องป่าว จัดกิจกรรมทศวรรษแห่งการอ่าน (พ.ศ.2552-2561) ซึ่งปี 2561 เป็นปีที่ 10 แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นอะไรเลย ถามว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำทุกอย่าง ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย แต่เท่าที่สังเกตกลับพบว่า กิจกรรมการส่งเสริมการอ่านของภาครัฐ ทำได้เพียงการจัดอีเวนท์ แบบไฟไหม้ฟาง
“เรามีเรื่องใหญ่ ๆ เกิดขึ้นในอดีต เช่น เมืองหนังสือโลก เท่าที่ทราบได้งบประมาณ 1.4 พันล้าน แต่ใช้ไปในการเปิดตัวงานภายในวันเดียว 80 ล้าน นั่นคือสิ่งที่ได้ และสิ่งที่เห็นอยู่เป็นอนุสรณ์สถาน คือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ที่ใช้งบประมาณในการปรับปรุงราว 300 ล้านบาท แต่กลับต้องขอรับบริจาคหนังสือ เมื่อสอบถามว่า มีงบประมาณจัดหาหนังสือเท่าไหร่ กลับไม่ได้รับคำตอบ” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ระบุ
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังให้ข้อมูลว่า ในอดีตร้านหนังสือในไทยมีกว่า 500 ราย ต่อมาค่อย ๆ ปิดตัวลง โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นรายได้หลักปิดตัวทำให้ปัจจุบันเหลือร้านหนังสือราว 100 ราย และเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่มีประมาณ 70 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่า ไทยยังมีระบบความรู้ประชาชาติต่ำอยู่
แตกต่างจากไต้หวันที่มีประชากรเพียง 20 ล้านคน แต่มีร้านหนังสือมากกว่า 2 พันราย ทั้งนี้ การวัดระบบความรู้ประชาชาติจะวัดจากร้านหนังสือและห้องสมุดเป็นหลัก
“หอสมุดแห่งชาติ ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือเพียง 5 ล้านบาท แต่เพียรให้บริจาคหนังสือ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จึงทำโครงการหยุดบริจาคหนังสือเถอะ เพราะหนังสือที่บริจาคไปนั้น พบว่า ไม่ใช่หนังสือที่อยากอ่าน เช่น การบริจาคหนังสือมติชนสุดสัปดาห์ไปให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถามว่า เด็กจะอ่านได้อย่างไร ดังนั้น การส่งเสริมการอ่านจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากหนังสือที่เป็นเครื่องมือขาดแคลน”
ปัญหา คือ ถ้าไม่มีหนังสือที่อยากอ่าน นิสัยรักการอ่านจะไม่มีทางเกิดขึ้น
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า การจัดงานบุ๊กแฟร์จะทำให้คนไม่ซื้อหนังสือในร้านขายทั่วไป สุชาดา หยิบยกผลการสำรวจที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จากการออกอีเวนต์ขายหนังสือในกรุงเทพฯ อุดรธานี ขอนแก่น และสงขลา พบว่า คนตั้งใจมางานหนังสือ และไม่ซื้อจากร้านขายทั่วไป มีเพียงร้อยละ 5 นั่นจึงทำให้รู้สึกค่อนข้างสบายใจ เพราะที่ผ่านมาตกเป็นจำเลยมาโดยตลอดว่า งานบุ๊กแฟร์ทำลายร้านหนังสือ
อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่า ร้านขายหนังสือจะอยู่รอด หากมีการปรับตัว เช่นเดียวกับหลาย ๆ แห่งที่มีการสร้างกิจกรรมเข้าไป ทำให้เกิดเสน่ห์ และดึงดูดให้นักอ่านสนใจ
‘ฝรั่งเศส’ ต้นแบบใช้ กม.เอื้อหนังสืออยู่รอด
"พิมลพร ยุติศรี" ผู้แทนลิขสิทธิ์วรรณกรรมในประเทศและระหว่างประเทศ บริษัท ทัทเทิล-มอริ เอเจนซี จำกัด เห็นด้วยว่าสถานการณ์วงการหนังสือของไทยกำลังตกต่ำ สังเกตได้จากวงการเอเจนซีลิขสิทธิ์วรรณกรรม ปัจจุบันบริษัทฯ เหลือเพียง 2 ราย จากเดิมที่มี 4 ราย ในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
สาเหตุที่เหลือเอเจนซีน้อย เพราะบริษัทฯ ไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เนื่องจากยอดขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมขณะนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายได้หลักและจิตวิญญาณการอ่านกลับมาจากเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านการส่งเสริมการอ่านมาก จากเดิมถูกครหาเป็นประเทศขโมยลิขสิทธิ์
ขณะที่ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างระบบหนังสือของประเทศฝรั่งเศส ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาหนังสือ ร้านจำหน่ายจะต้องขายราคาปลีกตามปกที่สำนักพิมพ์กำหนดเท่านั้น และสามารถลดราคาได้มากที่สุด ร้อยละ 5 เพราะฉะนั้น นักอ่านที่ไปซื้อหนังสือจะไม่ตั้งคำถามว่า ร้านอื่นจะจำหน่ายราคาถูกกว่าหรือไม่ เพราะทุกร้านจะลดราคาเหมือนกัน ยกเว้นเมื่อตีพิมพ์ผ่านไป 2 ปีแล้ว จึงลดราคาขายให้ต่ำลงอีก แต่ยังมีข้อกำหนดหนังสือจะต้องวางสต๊อกที่ร้านไม่น้อยกว่า 6 เดือน ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีระบบหนังสือลักษณะเช่นนี้ .
ทั้งนี้ ประเทศฝรั่งเศสยังจัดตั้งสถาบันวิชาชีพในมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกสอนวิชาชีพเกี่ยวกับหนังสืออีกด้วย และยังมีสถาบันหนังสือแห่งชาติคอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการและความเป็นไปได้ของท้องถิ่น เช่น การขอเงินทุนสนับสนุนในการเปิดร้านหนังสือ
ขณะที่ในนครแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมัน ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ ระบุว่า มีการจัดงานหนังสือนั้น จะไม่มีหนังสือลดราคา แต่รูปแบบงานจะเป็นการเปิดตัวหนังสือใหม่ การประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางพัฒนาหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคุณภาพการพิมพ์ ระบบการพิมพ์ หรือการสร้างสรรค์งานพิมพ์ที่มีประโยชน์
ทั้งหมดนี้คือเรื่องน่าเศร้าเคล้าน้ำตาในวงการหนังสือไทยที่ท่านผู้บริหารประเทศควรใส่ใจและผลักดันนโยบายเกื้อหนุนอย่างจริงจังก่อนจะสายไป .