กรมอนามัย ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ชวนเด็กประถมและมัธยมศึกษา “ยืนยัน มั่นใจ ไม่สูบ”
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน “ยืนยัน มั่นใจ ไม่สูบบุหรี่” เพิ่มทักษะการปฏิเสธบุหรี่กับเด็กก่อนวัยรุ่น
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ดำเนินโครงการรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ “ยืนยัน มั่นใจ ไม่สูบบุหรี่” ขึ้นในพื้นที่ 15 จังหวัด คือ จังหวัดสุพรรณบุรี อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ตาก ชัยนาท ระยอง เชียงราย สุรินทร์ กำแพงเพชร ลำพูน ชลบุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช นนทบุรีและจันทบุรี เพื่อรณรงค์ให้โรงเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาจัดกิจกรรมส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพให้เด็กประถมศึกษาทราบถึงโทษของการสูบบุหรี่ต่อการเกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก รวมถึงป้องกันนักสูบหน้าใหม่ให้รู้จักการกล้าที่จะปฏิเสธบุหรี่เมื่อถูกชักชวนและสามารถพัฒนาจนเกิดทักษะในการป้องกันตนเองได้ เนื่องจากสถานการณ์การสูบบุหรี่ในเด็กประถมศึกษาไทยกำลังน่าเป็นห่วง มีแนวโน้มการสูบบุหรี่สูงขึ้น ซึ่งจากการสำรวจของกรมอนามัยพบว่า เด็กที่อายุน้อยที่สุดเริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรก อายุเพียง 9 ปี ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสูบบุหรี่ของเยาวชนมากที่สุด คือมีเพื่อนหรือคนรู้จักสอนให้สูบบุหรี่ และการมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ รวมถึงการถูกใช้ให้ไปซื้อบุหรี่ เด็กขาดความรู้ความเข้าใจในพิษภัยของบุหรี่ ต้องการแสดงพฤติกรรมต่อต้านสังคม การเลียนแบบจากสื่อภาพยนตร์ต่างๆที่ทำให้เด็กถูกชักจูงได้ง่ายจากกลยุทธ์การโฆษณา รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆที่แฝงการโฆษณาของบริษัทบุหรี่ ซึ่งที่ผ่านมาการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง บุคลากรทางสาธารณสุขจึงมีความพยายามที่จะรณรงค์เพื่อควบคุมการบริโภคบุหรี่ มุ่งเน้นให้เกิดการลดการสูบบุหรี่ในนักสูบหน้าใหม่ เพราะการไม่สูบบุหรี่นั้นจะทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้สุขภาพอนามัยและสุขภาพชีวิตทุกคนในสังคมดีขึ้น โดยใช้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดกิจกรรมบูรณาการเรียนการสอน ใช้การเล่นกีฬาเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก เริ่มในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ซึ่งกิจกรรมและการรณรงค์ต่างๆ จะต้องได้รับการร่วมมือจากเด็ก ครอบครัว โรงเรียน ชุมชนในการกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกัน ผู้สูบหน้าใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ พบว่าทุกกลุ่มวัยมีอายุเริ่มสูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุน้อยลง ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่น คือจากปี 2550 เยาวชนเริ่มสูบบุหรี่อายุเกือบ 17 ปี และ ในปี 2554 ลดลงเป็น 16.2 ปี และในปี พ.ศ.2558 พบว่าประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปบริโภคยาสูบ จะเห็นได้ว่ากลุ่มเยาวชนนักสูบหน้าใหม่มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มเยาวชนเป็นวัยที่อยากรู้ อยากลองและถูกชักจูงได้ง่าย และเนื่องจากโทษของบุหรี่มีมากมายต่อสุขภาพช่องปาก ทำให้ฟันสกปรก เปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ และเสี่ยงต่อมะเร็งช่องปาก และส่งผลต่อบุคลิกภาพของผู้สูบบุหรี่ การลดนักสูบหน้าใหม่จึงต้องให้ความรู้ ความเข้าใจในพิษภัยของบุหรี่ตั้งแต่ยังเล็กเพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในสังคมและฝึกทักษะการปฏิเสธที่จะเข้าไปลองบุหรี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก tokyobackpack.com