‘ทางด่วน ขั้นที่ 3’ หมดยุคสร้างผ่านกลางเมือง
ย้อนไทมไลน์ มก. ค้านสร้างทางด่วน ขั้นที่ 3 ผ่านกลางเมือง หวั่นผลกระทบคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม แนะสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ทดแทน พร้อมพัฒนา กทม.ทิศเหนือ เป็นเมืองสีเขียว
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาคม ม.เกษตรศาสตร์ นำโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี ออกมาคัดค้านโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และสนับสนุนให้ก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบา (โมโนเรล) สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เคยเสนอไว้เมื่อปี 2556
ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว
หลังจากเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 สนข. จัดให้มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อสรุปรูปแบบทางเลือกของโครงการ และการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
โดยที่ประชุมวันนั้นมีข้อสรุปเลือกรูปแบบการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล และระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนบน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน บนแนวทางเดียวกัน
โดยบริษัทที่ปรึกษา เห็นว่า เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมที่สุด เนื่องจากระบบทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรรีบดำเนินการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางสายหลัก
ขณะที่ประชาคม ม.เกษตรศาสตร์ และชุมชนใกล้เคียง กลับเห็นค้าน เพราะมองว่า การสร้างทางด่วนผ่านกลางเมืองยิ่งจะทำให้ก่อภาวะมลพิษ เป็นผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นว่า ม.เกษตรศาสตร์ สนับสนุนการพัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเมือง ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยมีสาเหตุหลักมาจากรถยนต์
ด้าน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วิธีการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ดีที่สุด คือ การลดใช้รถยนต์ ดังนั้น การก่อสร้างทางด่วนบนแนวทางสายนี้ จะเป็นการดึงให้รถยนต์จำนวนมากผ่านเข้ามากลางเมือง ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และที่ศึกษา อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
เปิดไทมไลน์ค้านทางด่วนขั้นที่ 3 ทิศเหนือ
การออกมาคัดค้านโครงการก่อสร้างระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ทิศเหนือ ไม่ใช่ครั้งแรกของประชาคม ม.เกษตรศาสตร์ และชุมชนใกล้เคียง
หากย้อนข้อมูลกลับไปจะพบว่า ม.เกษตรศาสตร์ เคยมีหนังสือ ที่ศธ. 0513.10101/9812 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 ถึงหัวหน้า คสช. ขอยืนยันให้ยกเลิกโครงการฯ และเห็นควรให้ก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาแทน ตามข้อเสนอของ สนข.
หากแต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาของ หัวหน้า คสช. เลย
อย่างไรก็ตาม ม.เกษตรศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ได้ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการฯ โดยพบว่า การดำเนินโครงการฯ จะก่อให้เกิดผลกระทบสูงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคม
ก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 21 ก.ย. 2555-31 พ.ค. 2556 ม.เกษตรศาสตร์ และชุมชนต่าง ๆ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการฯ ถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกระทรวงคมนาคม รวม 14 ฉบับ พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการดำเนินโครงการในรูปแบบอื่น ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้าง
ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งที่ 22/2556 ลงวันที่ 4 ก.พ. 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการฯ ที่มีผลกระทบกับ ม.เกษตรศาสตร์ มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และผู้แทนม.เกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการ
ผลการประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีข้อสรุป เห็นควรยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ทิศเหนือ พร้อมทั้งเห็นควรให้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาทดแทน ตามข้อเสนอของ สนข.
แต่ปรากฎว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 กลับไม่ยกเลิกโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 ทิศเหนือ ออกไป
ทั้งที่ ม.เกษตรศาสตร์ มีข้อเสนอให้พิจารณาก่อสร้างระบบทางด่วนในแนวทางอื่น นอกเขตพื้นที่ชุมชนที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น แนววงแหวนรอบนอกด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ แม้จะต้องใช้งบประมาณมาก แต่ระยะยาวถือว่าคุ้มค่า และหันมาส่งเสริมกรุงเทพฯ ฝั่งทิศเหนือ พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีความร่มรื่นและร่มเย็นต่อไปแทน
เพราะในอุดมคติของชาว ม.เกษตรศาสตร์ เชื่อว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุคสิ้นสุดระบบทางด่วนผ่านกลางเมืองแล้ว .
อ่านประกอบ:ม.เกษตรฯ ค้านปลุกผี ‘ทางด่วนขั้นที่ 3’ สายเหนือ ก่อมลภาวะ-หนุนสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ แทน
นักวิชาการ มก. ยกเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ค้านก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3