เครื่องมือยกระดับคุณภาพ ศพด. ขั้นพื้นฐาน 15 ข้อช่วยพ้นข้อจำกัด คน งบ สถานที่
โครงการหน่วยวิชาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เพื่อการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) และร่วมวางแผนการพัฒนา 5 ระบบของ ศพด.เพื่อก้าวสู่ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ณ โรงแรมพาวิลเลียน ควีนส์ เบย์ อ่าวนาง จ.กระบี่
นายมานะ ช่วยชู หัวหน้าโครงการหน่วยวิชาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย กล่าวว่า จากความร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งดำเนินโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (COACT) โดยพัฒนา ศพด.ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยกระบวนการก้าวกระโดดใน 5 ระบบ ได้แก่ 1. ระบบการบริหารจัดการ 2. ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม 3. การจัดหลักสูตรการจัดประสบการณ์เรียนรู้ 4. การดูแลสุขภาพเด็ก และ 5. การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ซึ่งได้ดำเนินงานทั่วประเทศ แต่จากสถานการณ์จริง พบว่า ยังมี ศพด.ที่มีข้อจำกัดในเรื่องต่าง ๆ เช่น บุคลากร บางแห่งมีครูผู้ดูแลเด็กเพียง 2-3 คน งบประมาณที่จำกัด และข้อจำกัดด้านอาคารสถานที่ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ศูนย์เหล่านี้ สามารถยกระดับและพัฒนาให้เป็น ศพด.ที่มีคุณภาพได้
นายมานะ กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือยกระดับคุณภาพ ศพด. ขั้นพื้นฐาน ด้านกระบวนการและผลลัพธ์ในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ 15 ข้อ ประกอบด้วย 1.ศูนย์มีกระบวนการด้านความปลอดภัยทั้งภายใน และภายนอกอาคาร 2.การจัดพื้นที่ภายในอาคารให้เพียงพอเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กและถูกสุขลักษณะ 3.รักษาความสะอาดภายในและภายนอกอาคารตามเกณฑ์มาตรฐานของศูนย์เด็กปลอดโรค 4.การจัดทำหลักสูตรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย 4 ด้าน คือร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยใช้กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรมครอบคลุม 4 สาระ สอดคล้องกับบริบทของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 5.ครู / ผู้ดูแลเด็กมีกระบวนการจัดทำระบบคัดกรองพัฒนาการ และสังเกตพฤติกรรมของเด็กได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ครอบคลุมได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐาน 6.ครู / ผู้ดูแลเด็กมีกระบวนการการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาในด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก 7.การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรเพื่อเสริมประสบการณ์ ให้เด็กมีทักษะด้านการสังเกต การจำแนกและการเปรียบเทียบจำนวน มิติสัมพันธ์ และเวลาผ่านประสาทสัมผัส
ข้อที่ 8.การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรเพื่อเสริมประสบการณ์ ให้เด็กมีความเข้าใจภาษาและมีทักษะการใช้ภาษาในการสื่อความหมาย ฟัง พูด อ่าน เขียน ได้อย่างเหมาะสมตามวัย 9.ศูนย์มีกระบวนการดูแลให้เด็กมีน้ำหนัก ส่วนสูง เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน 10.ศูนย์มีกระบวนการตรวจร่างกายเด็ก 11.ศูนย์มีกระบวนการป้องกันโรคติดต่อ 12.การส่งเสริมให้บุคลากรมีการทำงานเป็นทีม (team learning) 13.การบริหารงานธุรการ การเงิน พัสดุ อย่างเป็นระบบมีการใช้อย่างเหมาะสม เป็นระบบ โปร่งใส และตรวจสอบได้ 14.ศูนย์มีกระบวนการประกันคุณภาพภายใน และนำผลการประเมินมาใช้ในการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ และ15.ศูนย์มีกระบวนการการใช้ทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ผู้ดูแลเด็ก / ครู / ผู้ปกครองในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
“จุดเริ่มต้นการพัฒนา ศพด. ที่มีข้อจำกัดในเรื่องคน งบประมาณ อาคารสถานที่ โดยใช้เครื่องมือยกระดับคุณภาพ ศพด. ขั้นพื้นฐาน คือการวิเคราะห์ที่เลือกข้อกำหนดด้านกระบวนการและผลลัพธ์ในข้อสำคัญ จำนวน 15 ข้อ เพื่อทำให้ ศพด.สามารถดำเนินการได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่ง ศพด.ที่มีทรัพยากรไม่มาก เช่น ครู งบประมาณ และอาคารสถานที่ ก็สามารถที่จะพัฒนายกระดับตัวเองได้ โดยใช้เวลาในการพัฒนา 3-6 เดือน ก็สามารถวางระบบและเห็นทิศทางการพัฒนาต่อไปจนสามารถขยายผลพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของตนเองต่อไป” นายมานะ กล่าว