เบื้องหลังคดี'สุวิทย์'ที่ปรึกษาสมศักดิ์ยื่นบัญชีฯเท็จ ใช้นอมินีถือบ.โซลูชั่นฯ 207.9 ล.หุ้น
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม คดี ‘สุวิทย์’ นักธุรกิจใหญ่ภาคอีสาน ที่ปรึกษา‘สมศักดิ์’ซุก โซลูชั่น คอนเนอร์ฯ 207.9 ล้านหุ้น 116.4 ล้านบาท หลักฐานมัด ความแตก ตอนขาย ปี 57 รายงานต่อ คกก.กำกับตลาดฯ ระบุให้นอมินีถือแทน พ่วงความผิดแสดงข้อความเท็จหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน บ.รับเหมา 145 ล.
นายกองโท สุวิทย์ หรือสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ถูก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ให้มีความผิดกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณี ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินลงทุนบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998 ) จำกัด (มหาชน) จำนวน 207,930,700 หุ้น มูลค่า 116,441,192 บาท และแสดงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับหนี้สินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 01/2554 ลงวันที่ 1 ก.ย.2554 จำนวนเงิน 45 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 01/2555 ลงวันที่ 27 ก.พ.2555 จำนวนเงิน 100 ล้านบาท ที่ออกให้แก่ บริษัท โชคอนันต์ก่อสร้างอุดรธานี จำกัด ห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 3 ส.ค. 2555 ซึ่งเป็นวันที่พ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียง คำพิพากษามาเสนอ
ผู้คัดค้านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ส.ค.2555 ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2556 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ในการดำรงตำแหน่งทั้งสองครั้ง ผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องแล้ว แต่ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ผู้คัดค้านปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินลงทุนบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998 ) จำกัด (มหาชน) จำนวน 207,930,700 หุ้น มูลค่า 116,441,192 บาท และแสดงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับหนี้สินตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 01/2554 ลงวันที่ 1 ก.ย.2554 จำนวนเงิน 45 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 01/2555 ลงวันที่ 27 ก.พ.2555 จำนวนเงิน 100 ล้านบาท ที่ออกให้แก่ บริษัท โชคอนันต์ก่อสร้างอุดรธานี จำกัด
ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการไม่แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้คัดค้านมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ผู้ร้องเห็นว่า ไม่มีเหตุผลอันสมควร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 หรือไม่
เห็นว่า ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4 (6) ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 7 (2) และมาตรา 92 (1) มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องภายในสามสิบวันนับแต่วันเข้ารับตำแหน่ง วันพ้นจากตำแหน่ง และวันที่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 และมาตรา 33
@อ้างหุ้น บมจ.โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998 ) 207,930,700 หุ้น ไม่ใช่ของตนเอง
ผู้คัดค้าน ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง กรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภาในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 โดยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงินลงทุนบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) และแสดงข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับหนี้สินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ออกให้แก่บริษัทโชคอนันต์ก่อสร้างอุดรธานี จำกัด ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงข้อเท็จจริง และเหตุผลของการไม่ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน ผู้คัดค้านชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เหตุที่ไม่แสดงหุ้นของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998 ) จำกัด (มหาชน) เพราะไม่ใช่หุ้นของผู้คัดค้าน การที่ผู้คัดค้านยอมรับว่าเป็นหุ้นของตนต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก็เพราะต้องการ เสียค่าปรับแทนบุคคลในครอบครัวเพื่อให้เรื่องยุติ
@ หลักฐานมัด รายงานจำหน่ายหุ้นบอก ให้นอมินีถือแทน
แต่เมื่อพิจารณาแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์เอกสารท้ายคำร้องพบว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ยื่นรายงานการจำหน่ายหุ้นของบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2557 โดยระบุในรายงานว่าให้บุคคลอื่นถือแทน จึงเชื่อได้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้น ของผู้คัดค้านที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น
@ปมหนี้ 145 ล. แจ้งข้อมูลขัดแย้งกัน
ส่วนหนี้สินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับ ผู้คัดค้านในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โชคอนันต์ก่อสร้างอุดรธานี จำกัด มีหนังสือชี้แจงต่อผู้ร้องว่า บริษัทได้รับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสองฉบับครบถ้วนแล้ว แต่ผู้คัดค้านในฐานะส่วนตัวกลับมีหนังสือชี้แจงต่อผู้ร้องว่า ยังมีหนี้ค้างชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับแรก 19,000,000 บาท และฉบับที่สอง 61,000,000 บาท หนังสือชี้แจงของผู้คัดค้านขัดแย้งกันเอง
ประกอบกับผู้คัดค้านให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาไม่แสดงที่มา แห่งทรัพย์สินและหนี้สินนั้น ซึ่งการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหน้าที่สำคัญ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องปฏิบัติ อันเป็นมาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้เกิดการตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ จึงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านจงใจ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 มีผลห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง
@คดีอาญาโทษจำคุก ขาดอายุความ
ส่วนคดีอาญาที่ผู้ร้องขอให้ลงโทษผู้คัดค้านในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ครั้งที่ 1 นั้น
องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งใช้บังคับ ในวันฟ้องคดีนี้ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติเช่นเดียวกันว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ซึ่งใช้บังคับแก่คดีนี้มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (4 ) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในเวลาที่กระทำความผิดที่กำหนดว่า ในคดีอาญาถ้ามิได้ฟ้อง และได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ มาตรา 95 (4) ดังกล่าว แม้ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาซึ่งเกี่ยวพันกับบทกำหนดโทษ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้วให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมทำให้ระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาเพิ่มขึ้นหรือหนักกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งมิได้บัญญัติเช่นมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิ ในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย ดังนั้น การใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บังคับแก่คดีนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองดังกล่าว
เมื่อผู้คัดค้านยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภาในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ในวันที่ 3 ก.ย.2555 จึงถือว่าผู้คัดค้านกระทำความผิดในวันดังกล่าว แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2560 อันเป็น การยื่นคำร้องภายในกำหนดอายุความห้าปีนับแต่วันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดก็ตาม แต่เมื่อไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาศาลภายในอายุความห้าปีนับแต่วันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิด
คดีส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษผู้คัดค้าน ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ครั้งที่ 1 จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ปัญหาเรื่องอายุความในคดีอาญา เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ศาลมีอำนาจยกขึ้น วินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม
พิพากษาว่า นายกองโท สุวิทย์ หรือสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล ผู้คัดค้าน จงใจยื่นบัญชีแสดง รายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริง ที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใด ในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่ 3 ส.ค. 2555 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่ง ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ในการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อ่านประกอบ:
ศาลฎีกาฯฟัน‘สุวิทย์’ ที่ปรึกษา‘ขุนค้อน-สมศักดิ์’ซุกหุ้น 116.4 ล.-แจ้งหนี้เท็จ 145 ล.
ป.ป.ช.ชี้มูล‘เมีย’ที่ปรึกษา‘ขุนค้อน-สมศักดิ์’ เจ้าของ 8 บริษัทพันล. ซุกบัญชีฯทั้งคู่
นักธุรกิจใหญ่ซุกบัญชีฯ! ที่แท้ที่ปรึกษา‘ขุนค้อน-สมศักดิ์ - เจ้าของ 8 บริษัทพันล.
นักธุรกิจใหญ่ที่ปรึกษาปธ.รัฐสภา-คนประกันตัว‘ขวัญชัย’11 ล.ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลซุกบัญชีฯ