“ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์” หารือ สปสช. ชง 3 แนวทางพัฒนาการดูแล “ผู้ติดเชื้อ HIV”
'หมอประพันธ์' หารือ สปสช.ชง 3 แนวทาง พัฒนาสิทธิประโยชน์เอดส์ หนุนผู้ป่วยรับยาต้านไวรัสวันเดียวหลังผลตรวจยืนยัน พร้อมเพิ่มเอกซเรย์ปอด/ตรวจค่าการทำงานไตก่อนเริ่มการรักษาที่หน่วยบริการเข้ารับการตรวจได้ การให้ยาป้องกันติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเสี่ยง พร้อมปรับหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนหน่วยตรวจและให้ศูนย์บริการด้านเอดส์ภาคประชาสังคมเบิกจ่ายค่าตรวจได้
นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เข้าพบผู้บริหาร สปสช.เพื่อหารือ 3 แนวทางในการพัฒนาระบบดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามการณรงค์โครงการเอดส์สหประชาชาติ Getting to zero รวมถึงการป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นนโยบายสำคัญรัฐบาลในการยุติเอดส์ ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ (Zero new infection) ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเอดส์ (Zero death) และไม่มีการตีตราแบ่งแยกผู้ติดเชื้ออีกต่อไป (Zero stigma and discrimination)
เรื่องแรกคือการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับผู้ติดเชื้อหลังจากที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันแบบทราบผลในวันเดียว (same day result) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการเจ็บป่วย เพราะมีหลักฐานวิชาการยืนยันแล้วว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าถึงยาได้เร็วจะเสียชีวิตช้ากว่าผู้ที่ได้รับยาช้า ขณะเดียวกันยังลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อ สอดคล้องกับนโยบายชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าการให้ยาต้านไวรัสไม่จำกัดค่า CD4 ก่อนหน้านี้
ทั้งนี้การให้ยาต้านไวรัสผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้รับการตรวจยืนยัน ควรจะได้รับการเอกซเรย์ปอดและตรวจค่าการทำงานของไตก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลต่อสุขภาพ รวมถึงดูว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคหรือไม่เพื่อให้การรักษาก่อน โดยกรณีผู้ติดเชื้อเข้ารับการตรวจที่ไม่ใช่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนสิทธิโดยตรง จะไม่ได้รับการเอกซเรย์และตรวจค่าทำงานของไตในวันเดียวกัน เนื่องจากติดการเบิกจ่ายค่าบริการซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในงบกองทุนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ ทำให้ยังไม่สามารถเริ่มให้ยาต้านไวรัสในวันเดียวกันได้ แต่ในกรณีผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนสิทธิโดยตรง จะได้รับการเอกซเรย์และตรวจค่าทำงานของไตพร้อมกับเริ่มให้ยาต้านไวรัสในวันเดียวกันได้ ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยหน่วยบริการจะเบิกจ่ายจากงบเหมาจ่ายรายหัว
ดังนั้นจึงขอให้ สปสช.ปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย เพื่อทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสในวันเดียวกัน หลังรับผลตรวจยืนยันเชื้อเอชไอวี และขอให้เอกซเรย์ปอดและตรวจค่าการทำงานของไต ณ หน่วยบริการที่ให้บริการได้เลยโดยไม่ต้องกลับหน่วยบริการต้นสังกัด ซึ่งหน่วยบริการส่วนใหญ่มีความพร้อมอยู่แล้ว
“จากการนำร่องโครงการวิจัยที่คลินิกนิรนาม 6 เดือน ตรวจพบผู้ติดเชื้อ 900 คน ได้เอกซเรย์ปอด ตรวจค่าทำงานของไตและให้ยาต้านไวรัสในวันเดียวกัน ซึ่งได้ผลที่ดี ผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาทั้งหมดจึงได้เสนอ หาก สปสช.ให้ปลดล็อกเกณฑ์การเบิกจ่ายให้มีความหยืดหยุ่น นอกจากดูแลผู้ป่วยให้ได้รับยาโดยเร็วแล้ว ยังทำให้ผู้ติดเชื้อไม่หลุดหายออกไปจากระบบ” นพ.ประพันธ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้คลินิกนิรนามปัจจุบันไม่ได้เป็นหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายค่าเอกซเรย์และการตรวจค่าการทำงานของไต รวมทั้งจ่ายยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อ เบิกได้เฉพาะค่าตรวจเอชไอวีเท่านั้น
นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์การให้ยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี(PrEP: Pre-Exposure Prophylaxis) กับกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น กลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ให้บริการ เป็นต้น เป็นมาตรการเสริมจากการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยให้มีเกราะป้องกันชั้นที่ 2 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้เกือบ 100% ขณะนี้ได้มีการนำร่องแล้วภายใต้โครงการการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ก่อนการสัมผัสเชื้อ เพื่อความยั่งยืน จึงเสนอให้ สปสช.นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้หรือไม่ เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
เรื่องที่ 3 การสนับสนุนค่าตรวจเอชไอวีให้กับศูนย์บริการสุขภาพที่มีชุมชนเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนบริการสุขภาพ จากที่สภากาชาดไทยร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดอบรมแกนนำชุมชน ให้เป็นที่ปรึกษาและคำแนะนำกับกลุ่มเสี่ยง ทั้งด้านการป้องกันและการเข้าสู่ระบบรักษาหากติดเชื้อเอชไอวี พร้อมการจัดบริการตรวจเชื้อเอชไอวีในศูนย์บริการ ซึ่งจากข้อมูลบริการการตรวจเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศ พบว่า 1 ใน 3 เป็นการตรวจโดยศูนย์บริการเหล่านี้ ทั้งมีความแม่นยำเพราะจากการส่งผลการตรวจมายืนยันที่คลินิกนิรนาม มีความถูกต้อง 100% ซึ่งงบที่ใช้ในการตรวจปัจจุบันมาจากกองทุนโลก และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง จึงอยากให้เบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ได้รับข้อเสนอทั้ง 3 แนวทาง จากการหารือร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทยไปพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเอชไอวีในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการดูแลและเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น เป็นไปตามนโยบายของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดำเนินอย่างมีประสิทธิผลมาแล้วจนองค์การอนามัยโลกมอบเกียรติบัตรรับรองความสำเร็จของประเทศไทย ยุติเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกขยายผลไปสู่การดูแลผู้มีสิทธิได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเสียงสะท้อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบร่วมกัน