โพลเผย 61.52% ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษฝุ่นละอองควรแก้ไขเร่งด่วน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหามลพิษและฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 15 ก.พ. 2561 กรณีศึกษาจากประชาชนที่พักอาศัยอยู่ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความเร่งด่วนในการแก้ปัญหามลพิษและฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ร้อยละ 58.64 ระบุว่า เร่งด่วนมาก ร้อยละ 35.20 ระบุว่า เร่งด่วน ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่เร่งด่วน และ ร้อยละ 0.56 ระบุว่า ไม่เร่งด่วนเลย และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านการได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษและฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.52 ระบุว่า ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยง่ายขึ้น หายใจไม่สะดวก แสบจมูก ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ระคายเคืองตา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ค่อยดี มองไม่เห็น มองไม่ชัด ทำให้มีเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ ร้อยละ 38.24 ระบุว่า ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากว่าพักอาศัยในเขตที่ไม่มีฝุ่นละออง อยู่ห่างไกลจากเขตที่มีการก่อสร้าง ไม่ค่อยได้เดินทางออกนอกบ้าน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ใช้รถส่วนยนต์ตัวในการเดินทาง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในเขตที่มีการก่อสร้าง และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 23.52 ระบุว่า การจัดการจราจรที่ดี ไม่ให้เกิดปัญหารถติด สาเหตุของการเกิดมลพิษบนท้องถนน รองลงมา ร้อยละ 15.36 ระบุว่า ควบคุมมาตรฐานและตรวจวัด ค่าฝุ่นละอองในที่มีการก่อสร้าง ไม่ให้ค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ร้อยละ 14.96 ระบุว่า รณรงค์ลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้การเดินทางด้วยขนส่งมวลชน ร้อยละ 11.84 ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับ และลดผลกระทบจากมลพิษในอากาศ ร้อยละ 8.40 ระบุว่า อนุมัติการก่อสร้างขนาดใหญ่ ให้เริ่มสร้างทีละโครงการ ทีละจุด ไม่เริ่มก่อสร้างพร้อม ๆ กัน ร้อยละ 7.68 ระบุว่า ทำฝนหลวง เพื่อให้ฝนตกช่วยชะล้างฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ ร้อยละ 7.52 ระบุว่า เพิ่มบทลงโทษและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการควบคุมการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 4.48 ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุและอันตรายที่เกิดจากมลพิษและฝุ่นละออง ร้อยละ 2.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีมาตรการควบคุมดูแลท่อไอเสียรถทุกชนิด กำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ มีมาตรการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและหลีกเลี่ยงการสร้างโรงงานในเขตเมือง จำกัดจำนวนรถยนต์ในแต่ละบ้าน ลดปริมาณรถแท็กซี่ลง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่มีแนวทางที่จะสามารถแก้ปัญหามลพิษและฝุ่นละอองได้ และร้อยละ 4.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสถานการณ์ปัญหามลพิษและฝุ่นละออง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในอนาคต พบว่า ร้อยละ 27.76 ระบุว่า ดีขึ้น ร้อยละ 17.52 ระบุว่า เหมือนเดิม/ไม่เปลี่ยนแปลง ร้อยละ 53.68 ระบุว่า แย่ลง และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 94.64 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และตัวอย่างร้อยละ 5.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล ตัวอย่าง ร้อยละ 55.76 เป็นเพศชาย ร้อยละ 44.08 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.60 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 15.04 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 30.72 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 26.48 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุอายุ