ชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน จ.ระยอง : จากวิกฤตทางทะเล สู่การฟื้นฟูสัตว์น้ำเชิงอนุรักษ์
"4 ปี หลังจากที่เริ่มฟื้นฟูอนุรักษ์ ความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถวัดด้วยดัชนีทางวิชาการได้ แต่มันวัดได้จากรายได้ของชาวประมงในพื้นที่ จากที่เราต้องออกทะเลไปประมาณ 1-5 กม. แต่ตอนนี้เราหากินอยู่หน้าบ้านออกไปแค่ 300-400 ม. ..."
มหาสมุทรแสนกว้างใหญ่ ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมหาศาล จากทะเลลึกจนสุดชายฝั่ง สินทรัพย์ที่ธรรมชาติสร้างแสนงดงาม และแน่นอนมันเป็นที่ต้องการของมนุษย์ ปริมาณที่เหลือคณานับทำให้มนุษย์ต่างกอบโกยอย่างไม่เหลียวแล โดยมิได้ตระหนักว่ามันจะหมดไปได้อย่างไรในผืนน้ำอันไพศาลนี้
ทุกสิ่งล้วนไม่จีรังยั่งยืน ทรัพยากรที่มีอยู่ก็เช่นกัน หลังจากการตักตวงครั้งใหญ่ ชีวิตที่เคยมีอยู่ก็ลดน้อยลง ไม่เพียงแต่ปริมาณ หากแต่คุณภาพก็เสื่อมโทรมลงไปจากการทำลายอย่างไม่รู้คุณค่า เมื่อไม่มีปลาให้ชาวประมงจับ จึงมิต่างอะไรกับทะเลมรสุมจนออกเรือไม่ได้ หากแต่ครั้งนี้เป็นมรสุมชีวิตและไม่ใช่เพียงชีวิตของชาวประมง แต่รวมถึงทุกๆ ชีวิตบนโลกใบนี้ด้วย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และ อ.บ้านฉางสามัคคี จ.ระยอง เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของคนอาชีพประมงในท้องถิ่นกว่า 10 กลุ่ม ราว 400 หลังคาเรือน หลังจากที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลจนกระทบการดำรงชีพมาอย่างยาวนาน
ในอดีตชาวบ้านทำประมงโดยขาดความรู้และการตระหนักถึงผลกระทบระยะยาว มีการใช้อวนล้อมหลังหิน (อวนล้อมโขดหิน) อวนล้อมจับซึ่งทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของปลา ทำลายปะการัง มีการใช้สารเคมี การใช้ระเบิด ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายควบคุมการทำประมงพาณิชย์ ทำให้การทำประมงเป็นไปในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา สิ่งแวดล้อมทางทะเลถูกมองว่ามีความสำคัญทางด้านรายได้สำหรับกอบโกยเท่านั้น
กลุ่มประมง 'บ้านปลา' การรวมใจ-ภูมิปัญญา ผสานเทคโนโลยี
สมนึก เผือกพิพัฒ ประชาสัมพันธ์วิสาหกิจชุมชน ชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้าน อ.เมือง และ อ.บ้านฉางสามัคคี เล่าให้ฟังว่า ต่อไปนี้เราจะประกอบอาชีพเชิงอนุรักษ์แล้ว เพื่อลูกหลานและอาชีพประมง และได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งคนในชุมชน หน่วยงานราชการ และภาคอุตสาหกรรม เข้ามาคุยปรึกษากัน จากที่เราเคยโทษกันว่าเป็นเพราะใคร เราจะไม่โทษกันแล้ว และหันมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
จากบ้านปลาที่ทำจากยางรถยนต์ของชาวบ้าน ซึ่งทำไว้เมื่อปี 2541 ผ่านไป 10 ปี บ้านปลาดังกล่าวได้เสื่อมโทรม พังลง กลายเป็นขยะในทะเล และถูกพัดขึ้นมาบนชายฝั่งเป็นจำนวนมาก สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งอายุขัยการของวัสดุที่ใช้ เรือประมงพาณิชย์ กลุ่มชาวประมงจึงเริ่มแก้ปัญหาจากต้นทุนภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมให้สำเร็จ
“ชาวประมงมีแค่ความรู้ทางภูมิปัญญา ทางราชการมีความรู้ทางวิชาการ ภาคอุตสาหกรรมมีทุน มันก็เกิดรวมกัน 3 ประสานแนวคิด ชาวบ้านนำเสนอปัญหาบ้านปลา ซึ่งเมื่อก่อนใช้ยางรถยนต์ พอใช้นานเชือกมันขาดเลยกลายไปเป็นขยะในทะเล SCG จึงมีแนวคิดว่า เขามีวัสดุที่ดีกว่า เราเลยให้เขาทดลองที่กลุ่มประมงแสงเงินก่อน 2 หลัง หลังจากผ่านไป 2 ปี ไปติดตามดูผล สรุปว่าได้ผล มีสัตว์มาอาศัย และเกิดโครงการขนาดใหญ่ทั่วทั้ง จ.ระยอง”
บ้านปลาหรือปะการังเทียมของ SCG ทำจากท่อ PE100 มีลักษณะเป็นเม็ดพลาสติกชนิด High Density Polyethylene Pipe ของเอสซีจี เคมิคอลส์ มีจุดเด่นเรื่องความแข็งแรงทนทานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการทดสอบคุณสมบัติท่อจากสถาบัน VTT, Finland และสถาบันอื่นๆ ในด้าน SFS-EN ISO 8795:2001 โดยนำน้ำที่สกัดสารเคมีออกจากท่อมาทดสอบหาสารอันตรายพบว่าปลอดภัย ไม่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาสู่น้ำทะเล โดยนำท่อมาประกอบร่างขึ้นเป็นบ้านปลารูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิด โดยมีความกว้าง 1.2 ม. ยาว 1.2 ม. สูง 1.1 ม. ปัจจุบัน ทั่วทั้ง จ.ระยอง มีบ้านปลากว่า 900 หลัง และกำลังจะเพิ่มอีก 100 หลังในอนาคตอันใกล้
'ประมงเชิงอนุรักษ์' สืบทอดอาชีพ รักษาทรัพยากร
ไม่เพียงแต่ร่วมกันสร้างบ้านปลาให้สัตว์ทะเลได้เข้ามาอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ชุมชนยังจัดการให้พื้นที่บริเวณบ้านปลาทั้งหมดเป็นเขตอนุรักษ์อีกด้วย
“ชาวบ้านจะกักพื้นที่เป็นเขตอนุรักษ์ จากฝั่ง 200 ม. ห้ามทำการประมงทุกชนิด ประจวบเหมาะกับมีกฎหมายกรมประมงออกมา ห้ามประมงพาณิชย์ เข้ามาในเขต 3,000 ม. เราเลยได้เขตอนุรักษ์ อีกทั้งชาวประมงเองเริ่มเกิดจิตสำนึกในการรักษา ให้ความสำคัญกับเขตอนุรักษ์ เหมือนกับเขตอภัยทาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ อนุบาล และหลบภัย
4 ปี หลังจากที่เริ่มฟื้นฟูอนุรักษ์ ความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถวัดด้วยดัชนีทางวิชาการได้ แต่มันวัดได้จากรายได้ของชาวประมงในพื้นที่ จากที่เราต้องออกทะเลไปประมาณ 1-5 กม. แต่ตอนนี้เราหากินอยู่หน้าบ้านออกไปแค่ 300-400 ม. บ้านปลา ไม่ได้ทำให้ชาวประมงรวยขึ้นเพียงแต่ให้มีรายได้ได้คล่องขึ้น เยอะขึ้นมานิดหน่อย โดยเฉลี่ยแล้วหนึ่งคนได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 บาท/วัน จากเมื่อก่อนอาจจะได้แค่ 100-200 บาท” สมนึก กล่าว
ปัจจุบันความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลเริ่มกลับมาอีกครั้ง ห่วงโซ่อาหารครบวงจร ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นสิ่งชี้วัดที่สำคัญ ซึ่งชุมชนพยายามที่จะรักษาเอาไว้เพื่ออนาคตของชนรุ่นต่อไป
“ส่วนหนึ่งเราทำตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งเราวางระเบียบดูแลกันเอง และอนาคตที่วางไว้ คือการดึงเด็กรุ่นใหม่ๆ มาสานต่อ เยาวชนออกมาจากเกม ออกมาจากสารเสพติดได้ เสาร์ อาทิตย์ออกไปช่วยครอบครัวทำมาหากินได้ เราไม่คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ จากที่ชีวิตเมื่อก่อน ไม่รู้จะดิ้นรนอย่างไร ตอนที่ทำประมงไม่ได้ ได้หันไปเป็นแรงงานก่อสร้าง หากินลำบาก จนต้องมารวมตัวกันแบบนี้ แต่ปัจจุบันเราเห็นหนทางทำมาหากินแล้ว”
เรื่องราวของชาวประมงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชมรมประมงเรือเล็กพื้นบ้านฯ เป็นภาพสะท้อนของการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เมื่อใช้ได้ จะต้องรักษาได้ การกอบโกยโดยไม่มีการควบคุมดูแล ย่อมเป็นการทำลาย ส่งผลกระทบระยะยาวไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน หากแต่การกลับมาพลิกฟื้นสิ่งแวดล้อมแหล่งทรัพยากรที่ใช้เลี้ยงชีพตนของกลุ่มชุมชน ทำให้วิกฤตจากการผลาญกลับคืนสู่ความสมบูรณ์ ไม่เพียงความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลที่ดีขึ้น แต่หมายถึงความเป็นอยู่ของชาวประมงและครอบครัวของพวกเขาด้วย ราวกลับว่าฤดูมรสุมนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว .